(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Proposed Honda-Nissan merger could change auto industry landscape
by Scott Foster
20/12/2024
“ภาคธุรกิจญี่ปุ่น”ตีวงร่วมด้วยช่วยกัน ในการกีดกั้น “ฟ็อกคอนน์แห่งไต้หวัน” ที่ทำท่าสนอกสนใจซื้อหาครอบครอง “นิสสัน”
ฮอนด้า และ นิสสัน ได้รับการคาดหมายว่าจะเริ่มการเจรจาเพื่อควบรวมกันในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ไป เรื่องนี้ถือเป็นหลักหมายสำคัญระดับแบ่งยุคสมัยสำหรับวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นทีเดียว บริษัท 2 รายนี้ ซึ่งต่างถูก บีวายดี ของจีนแซงหน้าไปแล้วด้วยกันทั้งคู่ มียอดขายรวมกันอยู่ในระดับเกือบๆ เท่ากับสามในสี่ของยานยนต์ที่ยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นอันดับหนึ่งอย่างโตโยต้าจำหน่ายได้ พวกเจากำลังตั้งความหวังที่จะหาทางกอบกู้สถานการณ์ที่ทรุดตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ ของพวกเขามาผสมผสานรวมกัน และบรรลุผลดีจากการได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมายตามหลักการประหยัดอันเกิดจากขนาด (economies of scale)
ทว่าแผนการนี้แลดูเหมือนกับการย้อนกลับไปหาวิธีการของภาคธุรกิจญี่ปุ่นในระยะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในการลดขนาดพวกอุตสาหกรรมตะวันตกดินทั้งหลาย และก็เป็นเหมือนกับเป็นปฏิกิริยาตอบโต้แบบชาตินิยมซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันต่อรายงานข่าวเรื่องที่ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) มีความสนใจในการซื้อหาครอบครองหุ้นของนิสสัน หรือกระทั่งเข้าเทคโอเวอร์นิสสันเสียเลย ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ เป็นแบรนด์ระดับนานาชาติของบริษัทหองไห่ พรีซิชั่น อินดัสตรี (Hon Hai Precision Industry) แห่งไต้หวัน
คำตัดสินของตลาดหลักทรัพย์สำหรับกรณีนี้ออกมาอย่างว่องไวและชัดเจน ข้อเสนอควบรวมกลายเป็นข่าวพาดหัวในตอนเช้าวันพุธที่ 18 ธันวาคม และเมื่อถึงตอนที่ตลาดปิด ปรากฏว่า ราคาหุ้นฮอนด้าตกลงมา 3% ขณะที่ของนิสสันทะยานขึ้นไป 24% พูดโดยสรุปก็คือ ตลาดมองเรื่องนี้ว่าเป็นการเข้าช่วยเหลือกู้ชีพให้พ้นภาวะล้มละลาย โดยที่นิสสันคือผู้ที่ได้ลาภลอย แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับพวกผู้ถือหุ้นของฮอนด้า ในส่วนราคาหุ้นของเรโนลต์ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองหุ้นนิสสันโดยตรงอยู่ 17.0% และโดยผ่านกองทุนทรัสต์อีก 18.7% นั้น ก็ขยับขึ้นไป 5% ขณะที่หุ้นของหองไห่ หล่นลงมา 1%
ฮอนด้า และ นิสสัน ซึ่งทั้งคู่ต่างเคยเป็นบริษัทระดับนำของอุตสาหกรรมรถยนต์ในอดีตที่ผ่านมา ได้ไหลรูดถูกทิ้งห่างไกลอยู่เบื้องหลัง โตโยต้า, เทสลา, และ บีวายดี ในบรรดาตลาดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และตลาดรถไฮบริด ข้อมูลช่วงไตรมาสระหว่างเดือนก.ค. - กย.ปีนี้แสดงให้เห็น บีวายดี กำลังแซงหน้า ฮอนด้า และ ฟอร์ด จนขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่อันดับ 6 ของโลกแล้วเมื่อวัดกันที่จำนวนของยานยนต์ที่ขายออกไป บางที ยังมีข้อเท็จจริงที่ดูน่าอับอายขายหน้ากว่านี้เสียอีก นั่นคือ ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนอีกรายหนึ่ง ได้แก่ จีลี่ (ซึ่งเป็นเจ้าของวอลโวในปัจจุบัน) ก็แซงหน้า นิสสัน ขึ้นครองอันดับ 9 สำเร็จแล้ว
แน่นอนทีเดียว การควบรวมคราวนี้ได้รับการประโคมข่าวในลักษณะของการมองไปยังอนาคตข้างหน้า นิกเคอิเอเชีย (NikkeiAsia) อันเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษของหนังสือพิมพ์รายวันทางธุรกิจระดับท็อปของญี่ปุ่น รายงานข่าวเอาไว้ว่า บริษัททั้งสองจะเจรจาควบรวมกัน “เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นกับ เทสลา และพวกผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก” ด้าน ไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) ซึ่งปัจจุบันก็เป็นของนิกเคอิ รายงานข่าวว่าสองบริษัทนี้ “กำลังอยู่ระหว่างการพูดจากันแบบสำรวจลู่ทาง เกี่ยวกับการควบรวมบริษัทรถยนต์ทั้ง 2 รายเข้าด้วยกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดกิจการใหญ่ยักษ์สัญชาติญี่ปุ่นมูลค่า 52,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นมา”
ทว่าพาดหัวในหน้าแรกของนิกเกอิฉบับภาษาญี่ปุ่นเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (19 ธ.ค.) กลับบอกว่า “การเข้าซื้อของหองไห่ ทำให้รู้สึกถึงวิกฤต” ฮอนด้า ซึ่งเริ่มต้นเปิดการเจรจาหารือเพื่อเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับนิสสันตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าจะยกเลิกเรื่องนี้ไปเลย ถ้านิสสันผูกติดโยงใยอยู่กับหองไห่
หองไห่นั้นกำลังสร้างธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองขึ้นมาเช่นกัน เป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อทั้ง ฮอนด้า และ นิสสัน เมื่อปี 2020 หองไห่ ได้ก่อตั้งกลุ่มร่วมมือทางธุรกิจ (Consortium) ที่ใช้ชื่อว่า Mobility in Harmony หรือ MIH) ขึ้นมา ด้วยความหวังที่จะให้กลุ่มนี้กลายเป็น “ระบบแอนดรอยด์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า” และ “สร้างระบบนิเวศแบบเปิดกว้างที่ ‘ให้คำนิยามด้านซอฟต์แวร์’ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อีวี” หองไห่ ยังมีกิจการร่วมทุนอยู่กับ ยูลอน (Yulon) ซึ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีไซน์โดยหองไห่
กลุ่มร่วมมือทางธุรกิจ MIH Consortium ซึ่งมุ่งพัฒนาดีไซน์ต่างๆ สำหรับการอ้างอิง และมาตรฐานต่างๆ แบบเปิดกว้างนั้น เวลานี้มีสมาชิกมากกว่า 2,700 รายแล้ว โดยจำนวนนี้กว่า 100 รายอยู่ในญี่ปุ่น ซีอีโอของกลุ่มนี้คือ จุน เซกิ (Jun Seki) นักบริหารในภาคบริษัทธุรกิจชาวญี่ปุ่น ที่ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ ตงเฟิง นิสสัน (Dongfeng Nissan) อันเป็นกิจการร่วมทุนของนิสสันกับ ตงเฟิงมอเตอร์ (Dongfeng Motor) ในจีน, รวมทั้งเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (chief operating officer) ของนิสสัน, ซีอีโอของ นิเดค (Nidec) ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์สัญชาติญี่ปุ่น, และช่วงหลังสุดนี้คือ เป็นประธานเจ้าหน้าที่ยุทธศาสตร์ (chief strategy officer) ให้ฝ่ายปฏิบัติการด้านยานยนต์ไฟฟ้าของหองไห่
มีรายงานว่า เซกิ มองเห็นศักยภาพของการประสานกำลังกันกับนิสสัน ซึ่งได้เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นบุกเบิกของตัวเอง ได้แก่ นิสสัน ลีฟ (Nissan LEAF) ในปี 2010 โดยที่มีเสียงพูดกันว่าเขามีความสนใจที่จะซื้อหาครอบครองหุ้นของนิสสันซึ่งเรโนลต์ถืออยู่
เรโนลต์นั้นกำลังถอยห่างออกจากกลุ่มพันธมิตรที่ตัวเองจับมืออยู่กับนิสสัน และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ขณะเดียวกันนั้น ฮอนด้า กับ นิสสัน ก็กำลังพิจารณาที่จะนำเอา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เข้ามาอยู่ในกลุ่มพันธมิตรกลุ่มใหม่ซึ่งประกอบด้วย 3 รายนี้ที่ต่างเป็นญี่ปุ่นล้วน กลุ่มพันธมิตรดังกล่าวนี้จะมีขนาดราวๆ 80% ของโตโยต้าในปัจจุบัน ทว่าบางทีอาจจะเหลือขนาดที่ใหญ่ไม่เกิน 70% ก็ได้หลังจากการตัดลดการผลิตพวกรถยนต์ใช้น้ำมันและก๊าซลงไป แต่กระนั้น มันก็ยังน่าจะอยู่ในขนาดประมาณเดียวกันกับ ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ของเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันครองอันดับ 3 ของโลกตามหลัง โตโยต้า และ โฟล์กสวาเกน ของเยอรมนี
ควรต้องชี้เอาไว้ว่า ในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ระดับท็อปเทนของโลกเวลานี้ มีเพียง 3 รายเท่านั้นซี่งรายงานว่าทำยอดขายที่ดูจากจำนวนหน่วย เพิ่มสูงขึ้นในรอบไตรมาส ก.ค. - ก.ย. 2024 เมื่อเปรียบเทียบกัยระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ได้แก่ บีวายดี (+38%), จีลี่ (+20%), และฟอร์ด (+1%) ขณะที่รายอื่นๆ ส่วนใหญ่รายงานว่ายอดขายตกลงมาในระดับตัวเลขตัวเดียว ยกเว้นแต่ จีเอ็ม (-13%) และฮอนด้า (-12%) พิจารณาจากแนวโน้มในปัจจุบันแล้ว บีวายดีอาจจะสามารถแซงหน้าทั้ง จีเอ็ม และ สเตลแลนทิส ส่วน จีลี่ ก็คงจะไล่พุ่งเลย ฮอนด้า ขึ้นมา
ยอดขายโดยรวมที่คิดเป็นจำนวนหน่วยของรถนิสสัน ตกลงมาแค่ 3% เท่านั้นในรอบไตรมาสที่ผ่านมา ทว่าทั้งตัวเลขยอดการจัดส่งรถและระดับราคาต่างพังครืนย่ำแย่ในประเทศจีน ผลลัพธ์จึงออกมาว่า ยอดกำไรสุทธิของบริษัทหล่นลงมากกว่า 90% ในครึ่งแรกของปีงบการเงินนี้ (เม.ย.24-มี.ค.25) ด้านกำไรสุทธิของ ฮอนด้า ก็ร่วงลง 20% ในช่วงเวลาเดียวกันและด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน
ฮอนด้า ก็ต้องการทางเลือกทางอื่นเผื่อไว้สำหรับแทนที่การจับมือเป็นหุ้นส่วนกับจีเอ็มในเรื่องการพัฒนายานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองอย่างอัตโนมัติ โดยเฉพาะหลังจากจีเอ็มได้ยกเลิกโครงการรถแท็กซี่หุ่นยนต์ (robdtaxi) “ครุซ” (Cruise) ของตนไปในสัปดาห์ที่แล้ว ปล่อยทิ้ง ฮอนด้า เอาไว้ในสภาพไม่รู้จะก้าวไปทางไหน โดยที่ก่อนหน้านี้ ฮอนด้า กับ จีเอ็ม เคยวางแผนการนำเอา ครูซ มาให้บริการในกรุงโตเกียวในปี 2026
ทางเลือกอย่างที่ว่าข้างต้นนี้อาจจะกำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นกันแล้วด้วยซ้ำ ทั้งนี้ในช่วงย่างเข้าเดือนสิงหาคม ฮอนด้า กับ นิสสัน ประกาศแผนการที่จะดำเนินการวิจัยร่วม ทั้งเรื่องรถยนต์ที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นตัวกำหนดของเจเนอเรชั่นต่อไป, การขับขี่แบบอัตโนมัติ และเอไอ, รวมทั้งเรื่องแบตเตอรี, การชาร์จไฟแบตเตอรี, ตลอดจนเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของรถยนต์ไฟฟ้า (e-axles) เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่แท็กซี่ซึ่งสามารถขับเคลื่อนด้วยตนเองอย่างอัตโนมัติ
ฮอนด้า ยังวางแผนการเพิ่มยอดขายรถไอบริดของตนขึ้นมาอีกเท่าตัว ตามหลัง โตโยต้า และบีวายดี เข้าสู่เซกเมนต์นี้ซึ่งถือว่ากำลังกลายเป็นเซกเมนต์แข็งแกร่งที่สุดของตลาดรถยนต์นั่ง
มันเป็นเรื่องง่ายที่จะแสดงการเยาะหยันดูหมิ่นต่อพัฒนาการเหล่านี้ ทว่าเราจำเป็นที่จะต้องระลึกเอาไว้ด้วยว่า การที่ โตโยต้า มุ่งมั่นผูกพันอยู่กับรถไฮบริดเคยเป็นเรื่องที่ถูกเย้ยเหยียดมาเป็นเวลาแรมปีจากพวกผู้คนที่คิดเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าพลังแบตเตอรีเพียวๆ เท่านั้นจึงจะเป็นกระแสคลื่นของอนาคต มาถึงตอนนี้พวกเขาก็ได้รับการตัดสินว่าผิดพลาดเสียแล้ว และดังนั้นพวกที่กำลังข้องใจสงสัยเกี่ยวกับการควบรวมกันของ ฮอนด้า-นิสสัน ก็อาจจะผิดพลาดได้เหมือนกัน ถึงแม้ว่าการต่อสู้ตอบโต้เอาคืนกับโตโยต้า, ฮุนได, บีวายดี, จีลี่, และพวกคู่แข่งจอมบุกตะลุยทั้งหลาย ย่อมไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้อย่างง่ายดายก็ตามที