ยูเครน กลายเป็นโอกาสแห่งความมั่งคั่งของบรรดาผู้ผลิตอาวุธของตะวันตก ซึ่งโกยเงินจากการจัดหาอาวุธแก่เคียฟ ที่รังแต่ทำให้ความขัดแย้งลากยาว จากคำกล่าวอ้างของ วาสซิลีย์ เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติเมื่อช่วงปลายสัปดาห์
ระหว่างกล่าวกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ (20 ธ.ค.) เนเบนเซีย กล่าวหาพวกรัฐสมาชิกนาโตกำลังฉวยประโยชน์จากความขัดแย้งในยูเครน เสริมความร่ำรวยแก่อุตสาหกรรมทางทหารของพวกเขา
"เป็นที่รู้กันดีว่ายูเครนกลายมาเป็นแหล่งเหมืองทองของจริงสำหรับอุตสาหกรรมทหารของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร รวมถึงพันธมิตรของพวกเขา แต่บรรดาบริษัทอเมริกาทำกำไรมากที่สุดจากความขัดแย้งนี้" เขาเน้นย้ำ
เอกอัครราชทูตรัสเซีย กล่าวอ้างว่าบรรดาชาติตะวันตกให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอยู่เหนือสันติภาพ "จากข้อมูลล่าสุด ครึ่งหนึ่งของยอดขายอาวุธโดยรวมในปี 2023 ในบรรดาท็อป 100 มีบริษัทสหรัฐฯ อยู่ถึง 41 แห่ง พวกเขาได้รับเงิน 317,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 50% ของรายได้จากการขายอาวุธทั่วโลก"
เนเบนเซีย อ้างอิงรายงานฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) เน้นว่ารายได้รวมของบรรดาผู้ผลิตตอาวุธรายใหญ่ที่สุด 100 อันดับแรกของโลก ในปี 2023 แตะระดับ 632,000 ล้านดอลลาร์ "มันคงซื่อเกินไปที่จะคาดหมายให้พ่อค้าที่ไร้ยางอายเหล่านี้ ผู้ได้ลิ้มรสชาติแห่งผลกำไร จะยอมละทิ้งแหล่งเงินที่หามาได้โดยง่าย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวยูเครนผู้ทุกข์ยาก"
เนเบนเซีย บ่งชี้ต่อว่าบรรดาบริษัทด้านการทหารของตะวันตก "บ่อยครั้งทำตัวสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลเคียฟ" กล่าวอ้างโดยหยิบยกตัวอย่างบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทล็อบบี้ต่างชาติ 25 แห่ง ที่เริ่มเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของยูเครนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หลังความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น
เขาพาดพิงโดยเฉพาะเจาะจงถึงบริษัท BGR Government Affairs ซึ่งพวกผู้นำมีความเกี่ยวข้องอย่างเปิดเผยกับการเพิ่มความช่วยเหลือด้านการทหารแก่เคียฟ และเป็นตัวแทนของบริษัทเรย์เธียน ผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ
รัสเซีย เน้นย้ำมาตลอดว่าความช่วยเหลือของตะวันตก ไม่อาจขัดขวางกองกำลังของพวกเขาจากการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของปฏิบัติการด้านการทหาร หรือเปลี่ยนผลลัพธ์ท้ายสุดของความขัดแย้ง โดยมอสโกชี้ว่าการมอบแรงสนับสนุนแก่เคียฟ รังแต่จะทำให้สงครามยืดเยื้อลากยาวออกไป
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)