นายกฯ โรเบิร์ต ฟิโก กล่าวหา โวโลดิมีร์ เซเลนสกี พยายามเสนอสินบนให้เขาเป็นเงินกว่า 500 ล้านยูโร (ราว 18,000 ล้านบาท) เพื่อให้สโลวะเกียสนับสนุนยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)
ฟิโก ออกมาเปิดเผยในเรื่องนี้ระหว่างการแถลงข่าวในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว ไม่นานหลังจากประชุมลับกับ เซเลนสกี รอบนอกการประชุมซัมมิตผู้นำอียู
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีรายนี้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า สโลวะเกียอาจพิจารณาใช้มาตรการยื่นหมูยื่นแมว หลังจากยูเครนปฏิเสธขยายกรอบเวลาข้อตกลงส่งต่อก๊าซธรรมชาติกับรัสเซีย ซึ่งมีกำหนดหมดอายุลงในช่วงสิ้นปี
ด้วยที่ยูเครนหยิบยกความขัดแย้งกับรัสเซียที่กำลังดำเนินอยู่เป็นข้ออ้าง มันจึงก่อความกังวลแก่สโลวะเกีย ชาติที่ต้องพึ่งพิงอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซียที่ส่งผ่านทางยูเครน ในขณะที่ ฟิโก เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องมีทางออกอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ
เขาเล่าว่าระหว่างการพูดคุยเจรจากับเซเลนสกีนั้น ทางผู้นำยูเครนส่งเสียงแข็งกร้าวไม่อนุญาตให้ส่งผ่านพลังงาน พร้อมกับยื่นข้อเสนออันไร้สาระสำหรับทางออกในประเด็นก๊าซ
นายกรัฐมนตรีสโลวะเกีย อ้างว่านอกเหนือจากสิ่งอื่นๆ แล้ว เซเลนสกี "ยังถามผมว่า ผมจะโหวตการเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนหรือไม่ ถ้าเขามอบเงิน 500 ล้านดอลลาร์แก่ผม ด้วยทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกอายัดในตะวันตก" หลังความขัดแย้งระหว่างมอสโกกับเคียฟปะทุขึ้น
ฟิโก เผยต่อ เขาตอบผู้นำยูเครนกลับไปตรงๆ ว่า เขาจะไม่มีวันตอบตกลงข้อเสนอลักษณะดังกล่าว "คุณรู้ดีเกี่ยวกับความเห็นของผมในเรื่องสถานภาพสมาชิกของยูเครนในนาโต และมันแปลกๆ ที่เขาถามผมด้วยคำถามดังกล่าว เพราะเขารู้เป็นอย่างดีว่า คำเชิญยูเครนเข้าร่วมนาโต ไม่มีทางเป็นจริงโดยสิ้นเชิง"
อาร์ทีออม โดมิทรูค ส.ส.ฝ่ายค้านของยูเครน ซึ่งมีข่าวว่าได้หลบหนีออกนอกระเทศเมื่อช่วงกลางปี สืบเนื่องจากความหวั่นกลัวถูกตามประหัตประหาร แสดงความเห็นว่า เป็นอีกครั้งที่ เซเลนสกี สร้างความเสื่อมเสียแก่ยูเครนต่อหน้าคนทั้งโลก ด้วยพยายามติดสินบนฟิโก
"ผมเชื่อว่าการพูดคุยอาจไม่ใช่แค่เงินจากทรัพย์สินของรัสเซีย แต่มันอาจเป็นเงินสดที่เซเลนสีเก็บกวาดเข้ากระเป๋า" โดมิทรูค เขียนบนเทเลแกรมในวันศกร์ (20 ธ.ค.)
มอสโก ซึ่งมองนาโตในฐานะศัตรู และส่งเสียงคัดค้านอย่างแข็งกร้าวในการแผ่ขยายเขตแดนมาทางตะวันออก หยิบยกความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเคียฟ ในการเข้าร่วมกลุ่มที่นำโดยสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักสำหรับการเปิดปฏิบัติการทางทหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2022
อย่างไรก็ตาม เคียฟ ยืนกรานถึงความปรารถนาเข้าเป็นสมาชิกนาโตตลอดความขัดแย้งที่ผ่านมา อ้างว่ามันเป็นหนทางเดียวที่จะป้องปรามรัสเซีย ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม เซเลนสกี บอกว่าเขาจะร้องขอประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ให้ออกคำเชิญเคียฟเข้าร่วมกลุ่มนาโตอย่างเป็นทางการ ก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม 2025 ในขณะที่ ทรัมป์ แสดงความคลางแคลงใจมาตลอดเกี่ยวกับความช่วยเหลือของอเมริกาที่มอบให้แก่ยูเครน
หนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศส รายงานว่าไม่ใช่แค่สโลวะเกียเท่านั้น แต่รัฐสมาชิกอื่นๆ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ เยอรมนี ฮังการี เบลเยียม สโลวีเนีย และสเปน ปัจจุบันก็คัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนเช่นกัน
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)