สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกที่อาการรุนแรงรายแรกของประเทศเมื่อวันพุธ (18 ธ.ค.) โดยเป็นชาวรัฐลุยเซียนาที่ต้องสงสัยว่าได้รับเชื้อมาจากฝูงสัตว์ปีกหลังบ้าน และเวลานี้อาการยังอยู่ในขั้น “วิกฤต”
ขณะเดียวกัน รัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรมากที่สุดในสหรัฐฯ ได้ประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” จากการระบาดของเชื้อไวรัส H5N1 ซึ่งแพร่กระจายเป็นวงกว้างในฝูงโคนม และมีแรงงานในฟาร์มติดเชื้อกันไปแล้วหลายสิบรายในปีนี้
เจ้าหน้าที่ทั้งระดับรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสดังกล่าว ซึ่งถูกพบในโคนมเป็นครั้งแรกในปีนี้ ขณะที่เกษตรกรบางรายก็ยังคงต่อต้านไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจหาเชื้อและควบคุมการระบาด
เคสผู้ป่วยที่รัฐลุยเซียนาซึ่งมีอาการของโรคทางเดินหายใจขั้นรุนแรงสะท้อนให้เห็นว่า ไวรัสตัวนี้ซึ่งแต่เดิมเพียงทำให้เกิดอาการตาแดง (conjunctivitis) สามารถก่ออันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้มากขึ้นกว่าเก่า
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) ยังคงจัดให้ไข้หวัดนกเป็นโรคที่ “มีความเสี่ยงต่ำ” สำหรับประชาชน
CDC ยืนยันเคสผู้ป่วยไข้หวัดนกรวมทั้งสิ้น 61 รายตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานในฟาร์มโคนม นอกจากนี้ก็ยังพบแรงงานเชือดสัตว์ปีกที่มีผลตรวจเชื้อเป็น “บวก” ด้วย
กระทรวงสาธารณสุขแห่งรัฐลุยเซียนาระบุว่า ผู้ป่วยที่รัฐแห่งนี้มีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง และจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากอายุเกิน 65 ปี และมีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว
ดีมีเตอร์ ดัสคาลาคิส ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกันและโรคทางเดินหายใจแห่งชาติ (National Center for Immunization and Respiratory Diseases) ในสังกัด CDC ระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้ยังถือเป็นเคสแรกที่น่าจะได้รับเชื้อมาจากฝูงสัตว์ปีกหลังบ้านที่ไม่ได้เลี้ยงในเชิงพาณิชย์
CDC ย้ำว่า การพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ที่อาการรุนแรงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเสียทีเดียว เนื่องจากเคยมีเคสเช่นนี้มาแล้วในประเทศอื่นๆ ทั้งในช่วงปี 2024 และก่อนหน้า ซึ่งบางรายก็ถึงขั้นเสียชีวิต
จากข้อมูลจีโนมไวรัสที่พบในผู้ป่วยรายนี้แสดงให้เห็นว่า จีโนไทป์ของมันเป็นแบบ D1.1 ซึ่งเพิ่งจะตรวจพบในฝูงนกป่าในสหรัฐฯ เมื่อไม่นานนี้ และแตกต่างจากแบบ B3.13 ที่พบในฝูงโคนมรวมถึงผู้ป่วยส่วนใหญ่ในหลายรัฐทั่วอเมริกา
ไข้หวัดนกได้แพร่ระบาดไปสู่ฝูงโคนมมากกว่า 860 ฝูงใน 16 รัฐของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือน มี.ค. และทำให้สัตว์ปีกในสหรัฐฯ ล้มตายไปแล้ว 123 ล้านตัวตั้งแต่เริ่มพบการระบาดในปี 2022
ที่มา: รอยเตอร์