รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียรุดแจง หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม แต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ชี้เพื่อเป็นสะพานเสริมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคกับบรรดามหาอำนาจโลก
ดาโต๊ะ เสรี โมฮัมหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย บอกว่า ทักษิณ บุคคลทรงอิทธิพลในไทย ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯและยังคงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน "ทักษิณและคนดังอื่นๆ รู้จักกับนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม มาช้านาน พวกเขาเหล่านี้สามารถมอบมุมมองแบบเจาะลึกของพวกเขา เกี่ยวกับหนทางในการช่วยอาเซียนก้าวหน้าไปมากกว่านี้"
อันวาร์ แถลงแต่งตั้งทักษิณ ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย บุตรสาวของทักษิณ ที่เมืองปุตราจายา เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) ทั้งนี้มันเป็นข้อเสนอของฝั่งมาเลเซีย และฝ่ายไทยตอบตกลง
โมฮัมหมัด ชี้แจงต่อว่าจะมีการแถลงแต่งตั้งคนดังอื่นๆ ในบทบาทเดียวกันนี้ในภายหลัง "มันไม่ใช่กลุ่มที่ปรึกษาสำหรับอาเซียน แต่เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน" พร้อมระบุ "มันไม่ใช่องค์การอย่างเป็นทางการหรือหน่วยงานใหม่ภายในอาเซียน"
มาเลเซียจะเข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ภายใต้คำขวัญ "ไม่แบ่งแยกและยั่งยืน" สะท้อนแรงบันดาลใจในการหล่อหลอมความเป็นหนึ่งเดียวและความรุ่งเรืองของอาเซียน
การแต่งตั้งทักษิณ ก่อประเด็นถกเถียงในวงกว้าง โดยฝ่ายค้านมาเลเซียตั้งคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการแต่งตั้งบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ
เสียงวิพากษ์วิจารณ์นี้มีขึ้น เนื่องจาก ทักษิณ ซึ่งเดินทางกลับไทยในปี 2023 หลังหลบหนีไปลี้ภัยในต่างแดนนานกว่า 1 ทศวรรษ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาทางอาญา เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยประเด็นถกเถียงในไทย ดินแดนที่เขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบ
อาห์หมัด ฟัดห์ลี ชารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลข่าวสารของพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย ให้คำจำกัดความความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า "ไม่เคยมีมาก่อน" และตั้งข้อสงสัยว่าการแต่งตั้งครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับอาเซียนอย่างไร เช่นเดียวกับคำถามที่ว่ามันจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในประชาคมนานาชาติได้อย่างไร
"ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ที่ผู้นำของประเทศเลือกอดีตผู้นำของประเทศอื่นเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว?" อาห์หมัดตั้งคำถาม "ปกติแล้ว ผู้นำประเทศจะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านการทูต อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษา แต่คราวนี้ อันวาร์ เลือกอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกลงโทษจำคุกในประเทศของเขาเอง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและคอร์รัปชัน"
(ที่มา : เดอะสตาร์/mgronline)