ฝ่ายค้านมาเลเซียวิจารณ์หนัก "อันวาร์ อิบราฮิม" ตั้ง "ทักษิณ" เป็นที่ปรึกษาช่วงเป็นประธานอาเซียนปี 2025 ถามอาเซียนจะได้ประโยชน์จริงหรือ ซัดตั้งคนที่ถูกพิพากษาจำคุกฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ ทำไมไม่ตั้งนักการทูตหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ ด้าน "ดร.มหาเธร์" งง ทำไมเลือกทักษิณ ทั้งที่มีคนอื่นมากมาย
แม้บางส่วนมองว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ในการแต่งตั้งอดีตผู้นำมากประสบการณ์วัย 75 ปีของไทย และบุคคลสำคัญทางการเมืองรายอื่นอื่นๆ เป็นที่ปรึกษาในประเด็นระดับภูมิภาค โดยเฉพาะวิกฤตในพม่า อย่างไรก็ตาม มีคนอื่นๆ ที่แสดงความเคลือบแคลงสงสัยต่อการหันไปหานักการเมืองต่างชาติรายหนึ่งในตำแหน่งที่ปรึกษา และที่สำคัญคือนักการเมืองรายดังกล่าวเต็มไปด้วยประเด็นถกเถียงต่างๆ
ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่เดินทางเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ทางนายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่าการแต่งตั้งครั้งนี้เป็นข้อเสนอของทางฝ่ายมาเลเซีย และทางฝ่ายไทยตอบตกลง
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แสดงความเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ของทักษิณ จะมอบมุมมองแบบเจาะลึกอันมีค่าสำหรับมาเลเซีย
อันวาร์ บอกว่าบทบาทของทักษิณ ระหว่างที่เขาเป็นประธานประชาคมอาเซียน จะเป็นในแบบไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับบรรดาที่ปรึกษาจากหลายประเทศ ใน 10 ชาติสมาชิกของกลุ่ม
ทั้งนี้ อันวาร์ แถลงในเรื่องดังกล่าวระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ลูกสาวคนเล็กของทักษิณ และสมาชิกคนที่ 4 ของตระกูลชินวัตร ที่ได้ขึ้นครองตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของไทย
"ขอบคุณที่ตกลงตามนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษท่านนี้" อันวาร์กล่าวถึงทักษิณระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับแพทองธาร
เอเชียนิวส์เน็ตเวิร์กรายงานว่า ทักษิณ ซึ่งเดินทางกลับไทยในปี 2023 หลังหลบหนีไปลี้ภัยในต่างแดนนานกว่า 1 ทศวรรษ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อหาทางอาญา เป็นบุคคลที่เต็มไปด้วยประเด็นถกเถียงในไทย ดินแดนที่เขาถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชันและใช้อำนาจโดยมิชอบ
กระนั้นพวกเจ้าหน้าที่มาเลเซียและพวกนักวิเคราะห์มองว่า ทักษิณ ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในไทย แต่ยังรวมถึงประเทศต่างๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจช่วยอาเซียนรับมือกับความท้าทายต่างๆ อย่างเช่นความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับจีน หรือข้อพิพาทด้านเขตแดนในทะเลจีนใต้
"ทักษิณ มีอิทธิพลในไทย ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เขามีสถานะในฐานะสะพานเชื่อมสำหรับอาเซียน (เพื่อหล่อหลอมความสัมพันธ์)" สำนักข่าวเบอร์นามา รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ โมฮัมมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ระหว่างแถลงสรุปเกี่ยวกับการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.)
แต่ อาห์หมัด ฟัดห์ลี ชารี หัวหน้าฝ่ายข้อมูลข่าวสารของพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย ให้คำจำกัดความความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่า "ไม่เคยมีมาก่อน" และตั้งข้อสงสัยว่าการแต่งตั้งครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับอาเซียนอย่างไร เช่นเดียวกับคำถามที่ว่ามันจะส่งเสริมภาพลักษณ์ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในประชาคมนานาชาติได้อย่างไร
"ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน ที่ผู้นำของประเทศเลือกอดีตผู้นำของประเทศอื่นเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว?" อาห์หมัดตั้งคำถาม "ปกติแล้ว ผู้นำประเทศจะเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านการทูต อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นที่ปรึกษา แต่คราวนี้ อันวาร์ เลือกอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกลงโทษจำคุกในประเทศของเขาเอง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและคอร์รัปชัน"
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในวันอังคาร (17 ธ.ค.) อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ก็ตั้งคำถามกับตัวเลือกนี้เช่นกัน โดยอกว่า "ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงเลือกทักษิณ เรามีคนมากมายให้เลือก และทักษิณ มีประเด็นปัญหาทางกฎหมายของเขาเอง แต่มันเป็นสิทธิของอันวาร์ ที่จะแต่งตั้งใครก็ตามที่เขาต้องการ"
ทักษิณ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทยในปี 2001 แต่รัฐบาลของเขาถูกรัฐประหารในปี 2006 ระหว่างที่เขาเดินทางไปต่างประเทศ จากนั้นเขากลับเขากลับเข้ามาในประเทศไทยก่อนหลบหนีออกไปอีกครั้งในปี 2008 แม้ลี้ภัยตนเองในต่างแดน ทว่าทักษิณ ยังคงมีอิทธิพลในการเมืองไทยผ่านตระกูลและเครือข่ายของเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา
เอเชียนิวส์เน็ตเวิร์กรายงานต่อว่า ทักษิณ เดินทางกลับไทยในเดือนสิงหาคม 2023 และโดนลงโทษจำคุก 8 ปี แต่ต่อมาได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ทั้งนี้เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาล ก่อนได้รับทัณฑ์บนปล่อยตัวออกมา
สื่อมวลชนไทยรายงานในเดือนพฤษภาคม ว่า ทักษิณ เคยเสนอตัวเป็นคนกลางระหว่างฝ่ายต่อต้านกับผู้ปกครองทหารพม่า ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ ทักษิณ สถาปนาความสัมพันธ์กับ มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหารในปัจจุบัน
Kasthuri Prameswaren นักวิชาการแห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ เห็นด้วยว่า ทักษิณ จะป็นพันธมิตรที่เป็นประโยชน์กับ อันวาร์ สำหรับผลักดันสันติภาพในพม่า และบอกว่าทั้งคู่มีความกังวลร่วมกันในเรื่องเกี่ยวกับความคับข้องใจของชาวไทย-มุสลิม พวกหัวรุนแรงและอาชญากรรมข้ามชาติ
อย่างไรก็ตาม จากมุมมองทางการเมืองแล้ว Kasthuri เชื่อว่ามันเป็นความเสี่ยงสำหรับ อันวาร์ ที่หันไปแต่งตั้งเหล่าผู้นำต่างชาติในฐานะที่ปรึกษาอาเซียน แม้จะให้คำจำกัดความว่า "อย่างไม่เป็นทางการ" แทนที่จะเป็นเหล่าผู้แทนทูตหรือผู้เชี่ยวชาญของมาลเซียเอง เนื่องจากความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
(ที่มา : เอเชียนิวส์เน็ตเวิร์ก)