ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ 2 ค่ายรถยนต์รายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น จะเข้าสู่การเจรจาควบรวมกิจการ โดยมีเป้าหมายช่วยพวกเขาต่อกรกับเทสลาและบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าค่ายอื่นๆ ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิกเกอิ ในตอนเช้าวันพุธ (18 ธ.ค.)
บริษัททั้ง 2 กำลังหาทางดำเนินงานภายใต้บริษัท single holding company และจะลงนามในบันทึกความเข้าใจสำหรับนิติบุคคลใหม่เร็วๆ นี้ ตามรายงานของนิกเกอิ ที่มีสำนักงานในกรุงโตเกียว
มีรายงานว่า ฮอนด้า และนิสสัน จะพิจารณาดึงมิตซูบิชิ ซึ่งมีนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เข้ามาร่วมชายคาโฮลดิ้ง คอมพานีแห่งนี้ด้วย เพื่อจัดตั้งกลุ่มยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ทั้ง ฮอนด้า และนิสสัน ออกถ้อยแถลงแทบเหมือนกันตอบสนองต่อรายงานข่าวดังกล่าว โดยบอกว่ารายละเอียดต่างๆ ในรายงานข่าวนั้นไม่ได้เป็นคำแถลงของทั้ง 2 บริษัท และบอกว่าพวกเขา "กำลังสำรวจความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับความร่วมมือในอนาคต ใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของกันและกัน" อย่างที่เคยแถลงก่อนหน้านี้
ในเดือนมีนาคม ค่ายรถยนต์รายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 และ 3 ของญี่ปุ่น รองจากโตโยต้า ได้กระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น ครั้งที่พวกเขาเห็นพ้องสำรวจความเป็นไปได้ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านรถยนต์ไฟฟ้า
พวกนักวิเคราะห์บอกว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อไล่ตามบรรดาคู่แข่งสัญชาติจีน อย่างเช่นบีวายดี ผู้ซึ่งชิงลงมือฉวยความได้เปรียบในธุรกิจยานยนต์อีวี ในขณะที่บรรดาบริษัทญี่ปุ่นสูญเสียฐานความนิยมจากการหันไปมุ่งเน้นยานยนต์ไฮบริดมากกว่า
จีน แซงหน้า ญี่ปุ่น ในฐานะผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2023 ได้แรงหนุนจากการครองความเป็นเจ้าตลาดในรถยนต์ไฟฟ้า
ฮอนด้า แถลงแผนในเดือนพฤษภาคมว่าจะเพิ่มการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเท่าตัวสู่ระดับ 65,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 ส่วนหนึ่งในเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่กำหนดไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ในการบรรลุเป้าหมายขายรถยนต์อีวีแบบ 100% ภายในปี 2040
นิสสัน ส่งสัญญาณแห่งความทะเยอทะยานแบบเดียวกัน โดยบอกเมื่อเดือนมีนาคมว่าในบรรดารถยนต์รุ่นใหม่ทั้งหมด 30 รุ่น ที่พวกเขามีแผนเปิดตัวในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในนั้น 16 รุ่นจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
บรรดาผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกกำลังให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ กับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากอุปสงค์ที่เติบโตขึ้นสำหรับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษน้อย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวในตลาดรถอีวี สืบเนื่องจากผู้บริโภควิตกกับราคาที่ค่อนข้างสูง ความน่าเชื่อถือ ระยะทางและขาดแคลนจุดชาร์จไฟ ดังนั้นรถยนต์ไฮบริดจึงพิสูจน์แล้วว่าได้รับความนิยมแบบยั่งยืนในญี่ปุ่น โดยมันมียอดขายคิดเป็นสัดส่วน 40% ในปี 2022
(ที่มา : เอเอฟพี)