สื่อต่างประเทศตีข่าว อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันจันทร์ (16 ธ.ค.) แต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองมหาเศรษฐีและอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยเป็นที่ปรึกษาส่วนตัว ครั้งที่จะก้าวมาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้ ย้อนให้นึกถึงครั้งที่เขาเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกัมพูชา ดินแดนที่มีข้อพิพาททางทะเลกับไทยช่วงสั้นๆ ก่อนลาออกไป
ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ที่เดินทางเยือนมาเลเซีย ทางนายกรัฐมนตรีอันวาร์ เปิดเผยว่าการแต่งตั้งครั้งนี้เป็นข้อเสนอของทางฝ่ายมาเลเซีย และทางฝ่ายไทยตอบตกลง
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แสดงความเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ของทักษิณ จะมอบมุมมองแบบเจาะลึกอันมีค่าสำหรับมาเลเซีย
อันวาร์ บอกว่าบทบาทของทักษิณ ระหว่างที่เขาเป็นผู้นำกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียน จะเป็นในแบบไม่เป็นทางการ เช่นเดียวกับบรรดาที่ปรึกษาจากหลายประเทศ ใน 10 ชาติสมาชิกของกลุ่ม
ทั้งนี้ อันวาร์ แถลงในเรื่องดังกล่าวระหว่างการเดินทางเยือนมาเลเซียของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ลูกสาวคนเล็กของทักษิณ และสมาชิกคนที่ 4 ของตระกูลชินวัตร ที่ได้ขึ้นครองตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดของไทย ตามรายงานของรอยเตอร์
“ขอบคุณที่ตกลงตามนี้ เพราะเราต้องการประโยชน์จากประสบการณ์ของรัฐบุรุษท่านนี้” อันวาร์กล่าวถึงทักษิณระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับแพทองธาร
รายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ทักษิณ วัย 75 ปี เป็นบุคคลทางอิทธิพลในทางการเมืองของไทยในช่วง 2 ทศวรรษหลังสุดและถูกมองอย่างกว้างขวางว่าอิทธิพลของเขามีส่วนในการกำหนดวิถีทางของรัฐบาลปัจจุบัน เช่นเดียวกับหลายต่อหลายรัฐบาลในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา
รอยเตอร์ระบุต่อว่า ทักษิณ ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังถูกพบว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อกล่าวหาที่เขาหลบหนีไปลี้ภัยในต่างแดนกว่า 15 ปี แต่ในระหว่างนั้นเขายังคงมีบทบาทสำคัญในสถานการณ์ความยุ่งเหยิงเป็นพักๆ ในบ้านเกิดเมืองนอน
เขาได้เดินทางกลับไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2023 และถูกจำคุกเป็นเวลา 8 ปี อย่างไรก็ตาม เขาได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี กระนั้น ทักษิณ ใช้เวลาอยู่ในเรือนจำเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และถูกคุมขังอยู่ที่นั่น 6 เดือนก่อนจะได้รับการพักโทษในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทักษิณยืนยันว่าเขาเกษียณจากการเมืองแล้ว แต่คู่ปรับส่วนใหญ่ไม่เชื่อ และมองว่าเขากำลังสั่งการรัฐบาลของลูกสาวอยู่เบื้องหลัง
รายงานข่าวของรอยเตอร์ระบุว่า ทักษิณ แสดงบทบาทอย่างกระตือรือร้นในพรรคเพื่อไทยที่เขาก่อตั้ง และแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะพูดถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลบ่อยครั้ง นอกจากนี้ เขายังได้พบปะกับ ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีทรงอิทธิพลของกัมพูชา ซึ่งตอนนี้บุตรชายของเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และปราโบโว ซูเบียนโต ประธาธิบดีอินโดนีเซีย
การได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและความสัมพันธ์กับฮุนเซน ย้อนให้นึกถึงครั้งที่ ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งจากฮุนเซน ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา แต่หลังจากนั้นไม่นานนายทักษิณได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างของฝ่ายตรงข้ามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกัมพูชามีข้อพิพาททางทะเลกับไทยในเรื่องเกาะกูด
รอยเตอร์รายงานอ้างสื่อมวลชนไทย ระบุว่าที่ผ่านมา ทักษิณ หาทางมีบทบาทเป็นคนกลางในความขัดแย้งในพม่า ซึ่งปกครองโดยทหาร ซึ่งถือเป็นงานท้าทายใหญ่หลวงที่สุดของการเป็นประธานอาเซียนของอันวาร์
กระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันในเดือนพฤษภาคม ว่า ทักษิณ ดำเนินการเป็นการส่วนตัว พบปะกับบรรดาคู่ปรับของคณะรัฐประหารของพม่า ในความพยายามเป็นคนกลางในการเจรจา
(ที่มา : รอยเตอร์/mgronline/ดิอินเวสเตอร์)