xs
xsm
sm
md
lg

‘ชารา’ผู้ปกครองคนใหม่ของซีเรียประกาศจุดยืน อิหร่านคือปัญหาของตะวันออกกลาง และเขาจะไม่รบอิสราเอล แต่มุ่งแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทูต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฮุสเซน อับดุล-ฮุสเซน


อาหมัด อัล-ชารา ผู้ปกครองโดยพฤตินัยคนใหม่ของซีเรีย ขณะปราศรัยกับฝูงชนที่มัสยิดอุมัยยัด (Umayyad Mosque) ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังของกรุงดามัสกัส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Understanding Syria’s pleasantly surprising new ruler Sharaa
by Hussain Abdul-Hussain
16/12/2024

อบู โมฮัมหมัด อัล-โจลานี หรือเวลานี้ใช้ชื่อว่า อาหมัด อัล-ชารา ผู้นำของกลุ่มฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม (HTS) แกนนำกองกำลังอาวุธฝ่ายกบฏซีเรีย ที่รุกโจมตีจนยึดกรุงดามัสกัสได้สำเร็จแบบสายฟ้าแลบ และถูกเรียกขานว่าเป็น ผู้ปกครองโดยพฤตินัยคนใหม่ของซีเรีย บอกกับพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตัวปัญหาของภูมิภาคนี้ก็คือระบอบปกครองอิหร่าน ขณะที่เขาเลือกใช้หนทางการทูตในการทำความตกลงข้อพิพาทต่างๆ กับอิสราเอล

ในสัปดาห์ที่สองภายหลังจากยุคอัสซาด ซีเรียยังคงขี่กระแสคลื่นของความรู้สึกเคลิบเคลิ้มเป็นสุขและมีความหวัง โดยได้รับการหนุนเสริมด้วยความเซอร์ไพรซ์อย่างน่ายินดีจากผู้นำในทางพฤตินัยคนใหม่ของพวกเขา นั่นคือ อาหมัด อัล-ชารา (Ahmad al-Sharaa) หรือที่เดิมรู้จักกันในนามว่า อัล-โจลานี (al-Jolani)

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาบอกกับพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ว่า ในตะวันออกกลาง ระบอบปกครองแบบอิสลามิสต์ของอิหร่านคือตัวปัญหา เวลาเดียวกันนั้นเขาก็เลือกที่จะใช้การทูตมาทำความตกลงคลี่คลายข้อพิพาทต่างๆ ที่มีอยู่กับอิสราเอล และขณะที่ความยากลำบากทั้งหลายของการเป็นรัฐบาลนั้นแน่นอนทีเดียวว่าจะเต็มไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน บางครั้งก็อาจถึงขั้นชะงักงันไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ แต่ในการเดินทางของ ชารา เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายต่างๆ ที่เขาระบุเอาไว้นั้น การเริ่มต้นของเขาต้องเรียกว่าดำเนินไปอย่างดีเยี่ยม

เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวความคิดของชารา เราสามารถวิเคราะห์ถ้อยคำในคำแถลงครั้งต่างๆ ของเขา จากตั้งแต่ตอนที่เขาเอาชนะพวกกลุ่มก๊กติดอาวุธที่เป็นคู่แข่งกันเพื่อก้าวผงาดขึ้นสู่ระดับบนสุดในจังหวัดอิดลิบ (Idlib) ต่อมาก็คือจากวันเวลาที่เขาเป็นผู้ปกครองจังหวัดทางภาคเหนือของซีเรียแห่งนั้น แล้วสุดท้าย จากการที่เขาเปิดทางให้สื่อมวลชนเข้าใกล้ ตั้งแต่ที่ฝ่ายกบฏ ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นพวกอิสลามิสต์ ตีกวาดชิงพื้นที่ส่วนของซีเรียซึ่งที่ผ่านมาตกอยู่ใต้การควบคุมของราชวงศ์อัสซาดมาโดยตลอดนับจากปี 1972

ขณะที่กำลังปกครองอิดลิบอยู่นั้น คณะรัฐบาลของชารา --เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา— ได้พยายามที่จะผ่านและบังคับใช้กฎหมายเชิงวิศวกรรมทางสังคมฉบับหนึ่ง ที่มีบทมาตรารวม 128 มาตรา เนื้อหามุ่งบังคับใช้ระเบียบกฎเกณฑ์อันเข้มงวดในเรื่องการปรากฏตัวและความประพฤติในสถานที่สาธารณะ ทั้งนี้นอกจากเหนือจากการห้ามจำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์แล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้ชายหญิงแยกห่างจากกันอย่างสมบูรณ์แบบในสถานที่สาธารณะทั้งหลาย, วางกรอบเครื่องแต่งกายสำหรับเด็กหญิงในโรงเรียน, และห้ามขาดพวกนิสัยทางสังคมที่ประพฤติปฏิบัติกันตามปกติวิสัยของชาวโลก อย่างเช่น การสูบบุหรี่ (ซึ่งครอบคลุมถึงการสูบฮุคคา hookah ในร้านคอฟฟี่ช็อป อันเป็นที่นิยมกันอย่างสูง ) (การสูบฮุคคา นิยมเรียกกันในเมืองไทยว่า ชิชา shisha บ้าง บารากู baraku บ้าง -ผู้แปล) และการหาหมอดูทำนายโชคชะตา

กฎหมายนี้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นมา และนั่นอาจเป็นตัวเร่งให้พวกผู้ร่างตัดสินใจเก็บมันเข้าหิ้งไว้ก่อน ชาราพยายามที่จะกล่าวปกป้องเรื่องนี้ โดยเสนอขายในฐานะที่มันควรเป็นกฎหมายซึ่ง “มุ่งเทศนาสั่งสอนหลักอิสลามมากกว่าจะบังคับให้ต้องกระทำตามหลักอิสลาม” แต่เขาก็ไม่ได้ดูมุ่งมั่นยืนกรานให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้

ขณะที่ยังคงปกป้องหลักอิสลาม แต่ ชารา ก็แสดงให้เห็นหนึ่งในไอเดียสำคัญที่ทำให้เขาแยกห่างออกจากพวกผู้ปกครองอิสลามิสต์คนอื่นๆ “ถ้าเราทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวที่จะต้องอาศัยอยู่กับหลักอิสลามแล้ว พวกเขาก็จะเสแสร้างทำตัวเป็นชาวมุสลิมเมื่อเราปรากฎตัวให้เห็น และยุติการมีความเชื่อเมื่อเราผละจากไป” เขากล่าว

ชารา ดูเหมือนตระหนักถึงความเปล่าประโยชน์ของการใช้อำนาจบังคับให้มีความเชื่อทางศาสนา อันเป็นสิ่งที่มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Muhammad Bin Salman) ก็ได้ข้อสรุปอย่างเดียวกัน และเริ่มต้นนำความคิดเห็นเช่นนี้มาใช้ในทางปฏิบัติ ในปี 2015 ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นกระบวนการทำให้ซาอุดีอาระเบียมีเสรีในทางสังคม ด้วยอัตราความเร็วอันน่าตื่นตาตื่นใจ

ระหว่างที่เขาปกครองอิดลิบ ชารามีความภาคภูมิใจในความสามารถที่จะทำงานเป็นรัฐบาลของทีมงานของเขา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นว่าประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องการจัดเก็บภาษี, การรักษาให้บัญชีงบประมาณมีความสมดุล, การฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม, และการธำรงรักษาบริการสาธารณะต่างๆ ให้ดำเนินงานไปได้อย่างเหมาะสม –ตั้งแต่เรื่องการเก็บขยะ ไปจนถึงการจ่ายน้ำประปาและกระแสไฟฟ้า ตลอดจนการบริหารจัดการพวกโรงเรียนและสถาบันอุดมศึกษาภาคสาธารณะ ความสำเร็จเช่นนี้เองที่ ชารา กำลังสัญญาที่จะทำให้แก่ส่วนอื่นๆ ของซีเรีย นับตั้งแต่ที่เขาผงาดขึ้นมาในฐานะผู้นำในทางพฤตินัยคนใหม่ภายหลังอัสซาดหลบหนีไปมอสโกและระบอบปกครองของเขาล่มสลายลงไป

เนื่องจาก ชารา เป็นบุรุษที่เต็มไปด้วยแผนการ รวมทั้งเขายังเป็นบุคคลหนึ่งซึ่งเชื่อในความสามารถของเขาเองที่จะเปลี่ยนผ่านซีเรียให้กลายเป็นรัฐที่ประสบความสำเร็จ เขาจึงดูเหมือนกับว่าได้ยกเลิกแนวความคิดประชานิยมแบบอิสลามิสต์ ซึ่งยืนอยู่บนคำมั่นสัญญาของการทำสงครามญิฮาดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด, การปลดแอก, และการทำสงครามต่อสู้กับพวกที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอิสราเอล

ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใหญ่ฝ่ายตะวันตกครั้งแรกสุดของเขา ชารา บอกกับโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่า เขาเคยเข้าร่วมกับกลุ่มอัลกออิดะห์ เพราะในตอนนั้นเขายังอายุน้อยและยังไม่โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่ และดังนั้นความคิดเห็นของเขาจึงมีการวิวัฒนาการและมีความเปลี่ยนแปลงไปแล้วหลังจากนั้นมา เขากล่าวด้วยว่าเขามีความเชื่อในประชาธิปไตยและในพหุนิยม (pluralism การยอมรับสังคมที่ผู้คนมีความผิดแผกแตกต่างกันหลากหลาย)

ในการให้สัมภาษณ์คราวนั้น ก็เหมือนๆ กับการปรากฏตัวครั้งแรกของ มูฮัมหมัด บาชีร์ (Muhammad Bashir) นายกรัฐมนตรีที่อิดลิบ ของชารา ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลชาวซีเรียระยะเปลี่ยนผ่าน นั่นคือ ชายทั้งคู่ยืนอยู่โดยที่ด้านหลังของพวกเขาประดับไว้ด้วยธง 2 ผืน ได้แก่ธงแห่งการปฏิวัติของชาวซีเรีย และธงนักรบญิฮาดของกองกำลังอาวุธ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham หรือ HTS) ของพวกเขา และธง HTS นี่เองก่อให้เกิดกระแสเอะอะโวยวายขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น คณะผู้ปกครองใหม่ของซีเรียได้เก็บธงกลุ่มก๊กของพวกเขาไม่นำออกมาตั้งแสดงอีก เหลือเพียงธงของซีเรียผืนเดียวเท่านั้น ชาราและพวกผู้ช่วยของเขาเป็นคนที่มีแผนการ แต่พวกเขาก็เป็นผู้ที่คอยรับฟังคนอื่นด้วย

คำแถลงของชารา ครั้งที่ฟังแล้วรู้สึกส่งเสริมให้กำลังใจมากที่สุด จวบจนถึงเวลานี้ ได้แก่คราวที่เขาพูดระหว่างที่เขาประชุมพบปะกับพวกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ชาวอาหรับในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง โดยที่เขากล่าวว่า ซีเรียภายใต้เขาไม่ได้มีปัญหาใดๆ กับประชาชนชาวอิหร่าน เพียงแต่มีปัญหากับ “โครงการอันตราย” ของระบอบปกครองอิหร่านเท่านั้น เขากล่าวต่อไปว่าซีเรียจะไม่เลือกทำสงครามกับอิสราเอล ดังนั้นการที่อิสราเอลยังคงโจมตีใส่ซีเรียจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีความถูกต้องชอบธรรมอีกต่อไปแล้ว (เนื่องจากพวกกองกำลังอาวุธของอิหร่านได้ผละจากไปแล้ว) แทนที่จะทำสงครามกับอิสราเอล เขาบอกว่าเขาจะเสาะแสวงหาหนทางการทูตเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งหลายที่มีอยู่กับรัฐชาวยิวแห่งนี้

และด้วยการระบุว่าคัดค้าน “โครงการ” ของอิหร่าน ชาราก็ดูเหมือนยืนกรานแน่วแน่ในเรื่องปฏิเสธไม่ยอมรับโมเดลของอิหร่านที่มุ่งส่งเสริมจูงใจให้มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธนอกภาครัฐขึ้นมา ซึ่งเปิดทางให้ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” รายหนึ่ง สามารถเข้าควบคุมรัฐบาลที่ปกติแล้วจะต้องมีความอ่อนแอ และด้วยเหตุนี้จึงก่อให้เกิดประดารัฐล้มเหลวขึ้นมาทั้งในอิหร่าน, อิรัก, เลบานอน, และเยเมน

ชารา กล่าวว่าเขาวางแผนการจะยุบเลิกพวกกองกำลังอาวุธทั้งหลายทั้งปวง และให้รัฐบาลซีเรียเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรง และยืนหยัดเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการนำเอาความรุนแรงมาใช้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้

เขายังแสดงให้เห็นถึงความมีวุฒิภาวะในการรับมือกับมอสโก โดยกล่าวว่าพวกผู้ปกครองใหม่ของซีเรียสามารถที่จะเข้าโจมตีฐานทัพต่างๆ ของรัสเซียในซีเรียก็ได้ แต่มีความปรารถนาที่จะก้าวเดินไปข้างหน้ามากกว่า ทางด้านลอนดอนนั้นเวลานี้มีการติดต่อกับชาราแล้ว เช่นเดียวกับวอชิงตัน

อนาคตของซีเรียยังคงเต็มไปด้วยอันตราย การปกครองซีเรียทั่วทั้งหมดอาจได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องลำบากสาหัสยิ่งกว่าหนักหนากับการบริหารจัดการกับแค่เพียงหนึ่งจังหวัดของประเทศนี้ รวมทั้งอาจเป๋นสาเหตุทำให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อ ชารา และพวกผู้ปกครองใหม่ เปลี่ยนไปในทางเหม็นบูดขุ่นเคือง –ซึ่งในทางกลับกันก็อาจเร่งให้พวกเขาหันไปยึดมั่นอยู่กับลัทธิประชานิยมอิสลามมิสต์ ด้วยการจุดชนวนความรู้สึกเร่าร้อนแบบชาตินิยมขึ้นมาใหม่ และเข้าเกี่ยวพันกับประดาสงครามที่สร้างความเสียหายย่อยยับ

แต่ตราบใดที่พวกเขายังไม่ได้กระทำเช่นนี้ เราก็ควรต้องรับฟังปฏิบัติต่อ ชารา และคนของเขา ตามถ้อยคำของพวกเขา และรักษาคุณสมบัติการมองโลกในแง่ดีทว่าอย่างระแวดระวังเอาไว้ , ช่วยเหลือพวกเขาในการสร้างซีเรียใหม่ขึ้นมา, และให้คำแนะนำแก่พวกเขาเมื่อใดก็ตามที่เราคิดว่าพวกเขากำลังบ่ายหน้าไปสู่ทิศทางที่ผิดพลาดแล้ว

ฮุสเซน อับดุล-ฮุสเซน เป็นนักวิจัยอยู่ที่มูลนิธิเพื่อการปกป้องระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย (Foundation for the Defense of Democracies หรือ FDD)

สำหรับ มูลนิธิเพื่อการปกป้องระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย (Foundation for the Defense of Democracies หรือ FDD) วิกิพีเดียบอกว่าเป็นกลุ่มคลังสมองไม่แสวงหากำไรที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservative) และตั้งแต่ปี 2019 ได้จดทะเบียนเป็นองค์การล็อบบี้ที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน นอกจากนั้นแล้ว FDD ยังถูกระบุว่าเป็นกลุ่มล็อบบี้ที่โปรอิสราเอล และต่อต้านอิหร่าน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Foundation_for_Defense_of_Democracies --หมายเหตุผู้แปล
กำลังโหลดความคิดเห็น