อังกฤษเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 12 ของความตกลงแบบครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.) ซึ่งสะท้อนให้เห็นความพยายามของลอนดอนที่จะกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคแถบนี้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางการค้าของตนเองขึ้นมาหลังถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งถือเป็นกลุ่มความร่วมมือทางการค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่อังกฤษตัดสินใจเข้าร่วมภายหลังเบร็กซิต
การเข้าร่วมกลุ่มในครั้งนี้หมายความว่าอังกฤษจะสามารถใช้กฎเกณฑ์การค้าของ CPTPP และลดภาษีนำเข้ากับ 8 ใน 11 ประเทศสมาชิกดั้งเดิมตั้งแต่วันอาทิตย์ (15) เป็นต้นไป ซึ่งได้แก่ บรูไน ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม
ในส่วนของข้อตกลงกับออสเตรเลียจะเริ่มมีผลบังคับในวันที่ 24 ธ.ค. ส่วนกับอีก 2 ชาติที่เหลือ ได้แก่ แคนาดาและเม็กซิโก จะมีผลภายใน 60 วันหลังจากที่ประเทศเหล่านี้ให้สัตยาบันรับรอง
การเข้าร่วม CPTPP ยังถือเป็นครั้งแรกที่อังกฤษทำข้อตกลงการค้าเสรีกับมาเลเซียและบรูไน และแม้อังกฤษจะมีข้อตกลงการค้ากับชาติอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่ข้อกำหนดของ CPTPP ไปไกลยิ่งกว่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ได้เลือกว่าจะใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (rules of origin) อย่างไร
เนื่องจาก CPTPP ไม่ได้เป็นตลาดเดียว (single market) สำหรับสินค้าและบริการ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีการปรับมาตรฐานกฎระเบียบให้สอดคล้องกันทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากกรณีของสหภาพยุโรปที่อังกฤษเลือกถอนตัวออกมาในปี 2020
รัฐบาลอังกฤษประเมินว่า มูลค่าการค้ากับ CPTPP น่าจะอยู่ที่ปีละ 2,000 ล้านปอนด์ในระยะยาว หรือคิดเป็นไม่ถึง 0.1% ของจีดีพี แต่หากมองผลลัพธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ด้วยแล้วก็นับว่าคุ้มค่า เพราะหลังจากนี้อังกฤษจะสามารถเข้ามามีอิทธิพลในการร่วมตัดสินใจว่าจะยอมรับชาติผู้ยื่นใบสมัครอย่างจีนและไต้หวันเข้ากลุ่มหรือไม่
CPTPP มีรากฐานมาจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnetship - TPP) ที่สหรัฐฯ เคยให้การสนับสนุนเพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน โดยหลังจากที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ขอถอนตัวออกไปในปี 2017 ความตกลงนี้ก็ถูกรีแบรนด์ใหม่เป็น CPTPP
คอสตาริกาเป็นอีกประเทศที่ยื่นใบสมัครเข้า CPTPP และจะเข้าสู่กระบวนการอนุมัติเข้ากลุ่มเป็นชาติต่อไป ขณะที่อินโดนีเซียก็มีแผนที่จะเข้าร่วมเช่นกัน
ที่มา : รอยเตอร์