อาหมัด อัล-ชารา ผู้นำตัวจริงของซีเรีย ชี้อิสราเอลแค่อ้างความมั่นคงของตัวเองเพื่อโจมตีซีเรีย กระนั้น เขาไม่คิดสร้างความขัดแย้งเพิ่มแต่จะมุ่งฟื้นฟูประเทศที่บอบช้ำหนักจากระบอบอัสซาด ด้านอเมริกาเผยได้ติดต่อโดยตรงกับกลุ่มกบฏซีเรียที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายแล้ว
ชารา หรือที่รู้จักกันในชื่ออบู โมฮัมเหม็ด อัล-โกลานี ผู้นำกลุ่มฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม (เอชทีเอส) ที่เป็นแกนนำการยึดอำนาจอดีตประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของซีเรีย ทีวี สถานีที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด เมื่อวันเสาร์ (14 ธ.ค.) ว่า ข้ออ้างของอิสราเอลในการบุกโจมตีซีเรียฟังไม่ขึ้นมากขึ้นทุกที
ผู้นำกลุ่มกบฏผู้นี้สำทับว่า อิสราเอลละเมิดข้อตกลงถอนทหารในซีเรียอย่างชัดเจน ซึ่งเสี่ยงปลุกเร้าให้เกิดสถานการณ์รุนแรงอย่างไม่มีเหตุผลครั้งใหม่
อย่างไรก็ดี เขาสำทับว่า ความอ่อนล้าจากสงครามและความขัดแย้งมานานหลายปีไม่เอื้ออำนวยให้ซีเรียเข้าสู่ความขัดแย้งอีก แต่ภารกิจสำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูบูรณะประเทศและเสถียรภาพ และยังบอกว่า แนวทางทางการทูตเป็นวิธีเดียวในการรับประกันความมั่นคงและเสถียรภาพ รวมถึงสถานการณ์อันตรายทางทหารที่ไม่สามารถคำนวณได้
ทั้งนี้ กองทัพอิสราเอลบุกเข้าสู่เขตกันชนที่แบ่งแยกกองกำลังอิสราเอลกับซีเรียในบริเวณที่ราบสูงโกลันเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสหประชาชาติ ระบุว่า เป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงปี 1974
อิสราเอลซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในที่ราบสูงโกลันมาตั้งแต่ปีดังกล่าว รวมทั้งประกาศผนวกดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของตนแม้นานาชาติไม่รับรอง อ้างว่า สำหรับการยกทัพเข้าเขตกันชนเป็นการปฏิบัติการชั่วคราวและจำกัด ภายใต้เป้าหมายในการป้องกันตัวเองขณะที่สถานการณ์ในซีเรียไร้ความแน่นอน
ทั้งนี้ ภายหลังจากระบอบอัสซาดถูกโค่นล้มเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว (8) อิสราเอลก็ได้เร่งระดมโจมตีทางอากาศต่อโครงสร้างพื้นฐานทางทหารทั่วซีเรียหลายร้อยระลอก รวมทั้งส่งกำลังทหารรุกเข้าหลายพื้นที่ในซีเรีย รวมถึงภูเขาเฮอร์มอนด้านที่มองเห็นกรุงดามัสกัส
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันเสาร์ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า อเมริกาได้ติดต่อโดยตรงกับกลุ่มกบฏเอชทีเอส รวมถึงฝ่ายต่างๆ ในซีเรีย แต่ไม่ได้ระบุว่า การติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไร นอกจากนั้นยังเป็นที่น่าสังเกตว่า อเมริกาและประเทศตะวันตกหลายแห่งยังคงขึ้นบัญชีเอชทีเอสเป็นกลุ่มก่อการร้ายมาตั้งแต่ปี 2018
เมื่อวันเสาร์เช่นกัน นักการทูตจากอเมริกา ตุรกี สหภาพยุโรป (อียู) และประเทศอาหรับได้ร่วมหารือกันที่จอร์แดนเกี่ยวกับสถานการณ์ซีเรีย และออกคำแถลงย้ำให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อชาวซีเรียในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญนี้เพื่อสร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวัง มั่นคงปลอดภัย และมีสันติภาพ
คำแถลงยังเรียกร้องให้มีกระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่นำโดยชาวซีเรียเพื่อสร้างรัฐบาลที่ยอมรับคนทุกกลุ่มและทุกนิกายศาสนาผ่านกระบวนการที่โปร่งใส และย้ำว่า ซีเรียได้รับโอกาสในการยุติช่วงเวลาหลายทศวรรษของการถูกโดดเดี่ยว
บลิงเคนสำทับว่า ยินดีกับท่าทีที่เป็นบวกบางอย่างที่กลุ่มกบฏซีเรียประกาศในช่วงหลายวันที่ผ่านมา แต่สิ่งสำคัญคือการกระทำที่ยั่งยืน และหากการเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปด้วยดี อเมริกาจะทบทวนมาตรการแซงก์ชันและมาตรการอื่นๆ ที่บังคับใช้กับซีเรีย
เกียร์ ปีเดอร์เซน ผู้แทนพิเศษของยูเอ็น เรียกร้องให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่จอร์แดนหารือเพื่อจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและรับประกันว่า สถาบันรัฐของซีเรียจะไม่ล่มสลาย
ทางด้านตุรกีนั้นได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตในดามัสกัสอีกครั้ง โดยรายงานระบุว่า อังการามีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในซีเรียในอดีตที่ผ่านมา และมีการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศนี้ ตลอดจนถึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มติดอาวุธหลายแห่ง และร่วมมือกับเอชทีเอสอย่างต่อเนื่อง
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)