สถานการณ์เกาหลีใต้จะเป็นอย่างไรต่อไป ภายหลังรัฐสภาลงมติในวันเสาร์ (14 ธ.ค.) ถอดถอนประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล ออกจากตำแหน่ง จากการประกาศกฎอัยการศึกสุดช็อก 6 ชั่วโมงเมื่อต้นเดือน ที่ฉุดให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตการเมืองเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
ต่อไปนี้คือ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นต่อไปสำหรับประเทศประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกแห่งนี้
ใครคือผู้บริหารประเทศเวลานี้
ฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีสายเทคโนแครต ขึ้นเป็นผู้นำชั่วคราว ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยจะบริหารประเทศนานที่สุดไม่เกิน 8 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพิจารณาแค่ไหนในการตัดสินใจว่าจะยืนยันหรือยกเลิกมติการถอดถอนยุนของรัฐสภา
ระหว่างการปราศรัยครั้งแรกในฐานะรักษาการประธานาธิบดีเมื่อวันเสาร์ (14) ฮัน ข้าราชการอาชีพ วัย 75 ปี ให้สัญญาว่า จะอุทิศความเข้มแข็งและความพยายามทั้งหมดเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างมีเสถียรภาพ
ขั้นตอนและระยะเวลาการถอดถอน
ในการถอดถอนครั้งหลังสุดก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นกรณีของอดีตประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ที่เธอถูกตั้งข้อกล่าวหาทุจริตและไร้ประสิทธิภาพนั้น ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลา 92 วันในการพิจารณาและตัดสินเห็นชอบกับรัฐสภาให้ถอดถอนพัค
ทั้งนี้ การถอดถอนต้องได้รับการสนับสนุนจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนจากทั้งหมด 9 คน ทว่าขณะนี้ตำแหน่งตุลาการยังว่างอยู่ถึง 3 ที่ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลและฝ่ายค้านยังตกลงกันในเรื่องการแต่งตั้งไม่ได้ เท่ากับว่าตุลาการทั้ง 6 ต้องลงมติเอกฉันท์เพื่อสนับสนุนญัตติถอดถอน หรือต้องแต่งตั้งตุลาการเพิ่มจนครบในเร็วๆ นี้ ซึ่งเชื่อกันว่าทางออกน่าจะเป็นประการหลัง
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมองว่า มีแนวโน้มสูงมากที่ตุลาการจะวินิจฉัยถอดถอนยุน เนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคม ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
คิม ฮยอน-จุง นักวิจัยของสถาบันกฎหมาย มหาวิทยาลัยเกาหลี ระบุว่า เห็นได้ชัดว่า ยุนต้องการทำให้การทำงานของรัฐบาลเป็นอัมพาต แม้แต่นักวิชาการสายอนุรักษนิยมสุดขั้วยังยอมรับว่า การกระทำของยุนก่อให้เกิดวิกฤตในระบอบรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ถอดถอนยุน รัฐบาลจะต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ภายใน 60 วัน
จากนั้นผู้ชนะการเลือกตั้งจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งทันที ไม่มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอำนาจ 60 วันเหมือนการเลือกตั้งปกติ
คนเกาหลีจะประท้วงต่อหรือไม่
การประท้วงขนาดใหญ่ทั้งเพื่อสนับสนุนและขับไล่ยุนที่สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในกรุงโซลในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มดำเนินต่อไปเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ
แบ กังฮุน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มคลังสมอง วาลิด เชื่อว่า กลุ่มที่ต้องการปลดยุนจะชุมนุมกันต่อไปในจัตุรัสกวางฮวามุนใกล้ศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งผู้ประท้วงทั้งฝั่งสนับสนุนและต่อต้านมุนต่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า จะลงถนนต่อจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ตัวเก็งประธานาธิบดีคนใหม่
พวกนักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า ลี แจ-มยุง ผู้นำของพรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ เป็นเต็งหนึ่งในตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป
ยู จุงฮุน ทนายความและคอลัมนิสต์การเมือง บอกว่า ลีแสดงความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งระหว่างที่ประเทศสับสนอลหม่านนับจากการประกาศกฎอัยการศึก และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันญัตติถอดถอนจนผ่านความเห็นชอบของสภา
ลีที่มาจากครอบครัวยากจนและต้องเลิกเรียนตั้งแต่วัยรุ่นเพื่อไปทำงานในโรงงานหาเลี้ยงครอบครัวนั้น ใช้เรื่องราวความสำเร็จในการสร้างตัวจากศูนย์จนร่ำรวยช่วยกรุยทางสู่การเป็นนักการเมืองที่มีคนนับหน้าถือตา
ในการเลือกตั้งปี 2022 เขาแพ้ยุนแค่ 0.7% ซึ่งถือเป็นคะแนนเสียงเฉียดฉิวที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของลีถูกบดบังด้วยเรื่องอื้อฉาวมากมายที่รวมถึงคำตัดสินของศาลเมื่อเดือนพฤศจิกายนว่า เขาละเมิดกฎหมายเลือกตั้งและให้รอลงอาญาไว้ก่อน ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ยังยืนยันคำวินิจฉัยนี้จะเท่ากับว่า ลีถูกตัดสิทธิ์ในการลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
สำหรับภายในพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) ของยุนนั้น ฮัน ด็องฮุน หัวหน้าพรรค และโอ เซฮุน นายกเทศมนตรีโซล เป็นตัวเก็งสำคัญ
กระนั้น ยูบอกว่า ถึงแม้มีคดีอยู่ในศาล แต่ลียังมีภาษีที่สุดในการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้น และสำทับว่า ต้องรอดูกันต่อไปว่า ศาลอุทธรณ์จะประกาศคำตัดสินก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งจะตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้น และลีเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง เขาจะได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ต้องถูกดำเนินคดีในฐานะประธานาธิบดีโดยอัตโนมัติ
อนึ่ง ผลสำรวจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 52% ต้องการให้ลีเป็นประธานาธิบดี ขณะที่ตัวเก็งคนอื่นๆ มีคะแนนในอัตราตัวเลขหลักเดียว
(ที่มา: เอเอฟพี)