(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Fears of ‘catastrophic success’ in post-Assad Syria
by Sefa Secen
09/12/2024
อัสซาดหลบหนีไป โดยทิ้งประเทศชาติที่อยู่ในสภาพแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เอาไว้เบื้องหลัง และการสร้างเสถียรภาพให้แก่ซีเรียจะเป็นความท้าทายสำคัญประการหนึ่งสำหรับพวกฝ่ายต่อต้านซึ่งมีความร้าวฉานกันอย่างแรง ตลอดจนประดาผู้สนับสนุนพวกเขาจากภายนอก
ระบอบปกครองอันทารุณโหดร้ายอายุ 54 ปีของตระกูลอัสซาดในซีเรีย ทำท่าว่าปิดฉากจบสิ้นลงแล้ว [1]
ในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน กองกำลังฝ่ายต่อต้านได้เข้ายึดเมืองสำคัญอย่างอะเลปโป (Aleppo) [2] จากนั้นก็เดินหน้าบุกต่อไปทางใต้มุ่งไปยังพวกพื้นที่ในการควบคุมของฝ่ายรัฐบาลแห่งอื่นๆ ทั้ง ฮามา (Hama), ฮอมส์ (Homs), และสุดท้ายในวันที่ 7 ธันวาคม 2024 ก็เข้าควบคุมเมืองหลวงดามัสกัสเอาไว้ได้ [3]
ความสำเร็จในการรุกใหญ่ครั้งนี้ยิ่งดูน่าตื่นตะลึงมากขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สงครามกลางเมืองในซีเรียที่ยืดเยื้อยาวนานมา 13 ปีแล้ว ส่วนใหญ่ทีเดียวตกอยู่ในภาวะชะงักงันมาตั้งแต่ที่มีการทำความตกลงหยุดยิงในปี 2020 [4] โดยที่มีรัสเซียกับตุรกีเป็นตัวกลาง
รายงานต่างๆ ระบุว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดได้ลาออกและเดินทางไปจากประเทศแล้ว [5] ทว่าอะไรบ้างที่เขาทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง และอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปจากนี้?
ในฐานะที่ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งในเรื่องความมั่นคงของภูมิภาคตะวันออกกลาง [6] ผมเชื่อว่าความสามารถของพวกกองกำลังฝ่ายต่อต้านในการธำรงรักษาความสามัคคีเป็นเอกภาพกันเอาไว้ จะเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ซีเรียแห่งยุคหลังอัสซาด ตั้งแต่ที่สงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้นมาเมื่อปี 2011 [7] พวกกลุ่มก๊กฝ่ายค้านต่างๆ จำนวนมากในซีเรียได้เกิดการแตกแยกร้าวฉานกัน ทั้งโดยอุดมการณ์ความเชื่อที่แตกต่างกัน และโดยผลประโยชน์ของพวกประเทศภายนอกที่หนุนหลังพวกเขาอยู่ – และสภาพเช่นนี้ยังคงเป็นความจริงถึงแม้ชัยชนะของพวกเขาในขณะนี้
เวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของชะตากรรมแห่งสงครามกลางเมืองซีเรีย ก็ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ อันหนักแน่นจริงจังสำหรับพวกประเทศที่ได้เข้าไปหนุนหลังฝ่ายนั้นก๊กนี้อยู่ในการสู้รบขัดแย้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอิหร่านกับรัสเซียด้วยแล้ว การพังครืนของอัสซาดที่เป็นพันธมิตรของพวกเขา จะสร้างความเสียหายให้แก่ความมุ่งมาดทะเยอทะยานในภูมิภาคแถบนี้อย่างสาหัสทีเดียว
สำหรับพวกที่หนุนหลังกลุ่มก๊กต่างๆ ทางฝ่ายต่อต้าน –ซึ่งรายที่โดดเด่นคือตุรกีและสหรัฐฯ โดยทั้งคู่ต่างก็มีการปรากฏตัวทางทหารอยู่ในซีเรียด้วย – พวกเขาก็จะเผชิญกับความท้าทายเช่นเดียวกัน
“ความสำเร็จที่นำไปสู่ความหายนะ”
อิหร่าน, สหรัฐฯ, รัสเซีย, และตุรกี ต่างเป็นเพลเยอร์รายสำคัญยิ่งยวดในตลอดทั้งสงครามกลางเมืองของซีเรีย
การรุกใหญ่ของฝ่ายค้านในช่วงไม่กี่วันก่อนบังเกิดขึ้นขณะที่ 3 พันธมิตรหลักของอัสซาด –ได้แก่ รัสเซีย, อิหร่าน, และกองกำลังฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน— ต่างเผชิญศึกหนักทางด้านอื่นจนอยู่ในอาการสุดเหยียดแทบไม่มีแรงเหลือหลอ การที่รัสเซียต้องมุ่งโฟกัสที่ยูเครน ส่วนอิหร่านก็ประสบความเพลี่ยงพล้ำหลายครั้งจากการโจมตีของอิสราเอล ได้จำกัดความสามารถของ 2 ชาตินี้ในการให้ความสนับสนุนอันแน่นหนาจริงจังแก่อัสซาด เวลาเดียวกันกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็ดูเหมือนลังเลใจ [8] ที่จะส่งนักรบมาให้เพิ่มเติม เหมือนอย่างที่พวกเขาได้เคยกระทำมาก่อนหน้านี้
ครั้นแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม ขณะที่กองกำลังของพวกฝ่ายค้านกำลังเคลื่อนพลบุก รัสเซียก็ได้เริ่มถอน [9] พวกทรัพย์สินทางนาวีออกจากฐานทัพทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ที่ทาร์ตัส (Tartus), ซีเรีย การที่แรงหนุนหลังจากภายนอกเกิดการผุกร่อนลงไปเช่นนี้ กลายเป็นการสร้างความเสียหายอย่างสำคัญให้แก่ความสามารถของอัสซาดในการรวบรวมกำลังสู้รบขึ้นมาใหม่ และเปิดการรุกตอบโต้ที่มีประสิทธิภาพ
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สหรัฐฯย่อมมีความยินดีกับการที่อิทธิพลของรัสเซียกับอิหร่านในซีเรียเสื่อมทรุดหดหายลงเช่นนี้ ทว่าในวอชิงตันตอนนี้กลับปรากฏความกังวลออกมาแล้วเกี่ยวกับฉากทัศน์ของ “ความสำเร็จที่นำไปสู่ความหายนะ” [10] จากการที่อัสซาดถูกแทนที่ด้วยกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ฝักใฝ่ศาสนาแรงกล้า ที่ฝ่ายต่างๆ จำนวนมากในโลกตะวันตกมองว่าเป็นพวกผู้ก่อการร้าย
ทั้งนี้ พวกสมาชิกของกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ “ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม (Hayat Tahrir al-Sham) [11] นี่เอง คือกำลังหัวหอกที่สร้างดอกผลชัยชนะจำนวนมากให้แก่ฝ่ายต่อต้านในซีเรีย โดยทำการสู้รบเคียงข้างกลุ่มต่อต้านสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “กองทัพแห่งชาติชาวซีเรีย” (Syrian National Army) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากตุรกี
และขณะที่ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม ไม่ได้เล็งเป้าหมายมุ่งเล่นงานโดยตรงเอากับกองทหารสหรัฐฯซึ่งประจำอยู่ตรงแถบตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย –ดินแดนที่อยู่ใต้การควบคุมของกลุ่มต่อต้านอีกกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย” (Syrian Democratic Forces) ซึ่งนำโดยชาวเคิร์ด (Kurd) – ภาวะไร้เสถียรภาพและความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มก๊กฝ่ายต่อต้านกับพวกกลุ่มที่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ก็ยังคงเพิ่มพูนความเสี่ยงภัยของบุคลากรอเมริกันจำนวนราว 900 คนที่ตั้งฐานในซีเรีย [12] อยู่นั่นเอง
ภาพของซีเรียที่กำลังแตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ
ข้อเท็จจริงที่ว่า กลุ่มต่อต้านต่างๆ ได้เข้าควบคุมพื้นที่หลายหลากซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกอยู่ในการยึดครองของฝ่ายรัฐบาลเช่นนี้ ชี้ให้เห็นถึงความจริงอันสำคัญยิ่งยวดประการหนึ่ง ซึ่งก็คือ ซีเรียกำลังถูกแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วในทางพฤตินัย บริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือนั้นถูกควบคุมโดยกลุ่มฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม ที่เป็นพวกอิสลามิสต์ กับกลุ่มกองทัพแห่งชาติชาวซีเรีย ซึ่งตุรกีหนุนหลังอยู่ ส่วนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ใต้กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรียที่นำโดยชาวเคิร์ด และสหรัฐฯให้การสนับสนุน
ถึงแม้ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม กับ กองทัพแห่งชาติชาวซีเรีย มีเป้าหมายร่วมกันในการโค่นล้มขับไล่อัสซาด และได้ร่วมมือกันเปิดการรุกตีเมืองอะเลปโป ทว่าความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 กลุ่มนี้ก็เกิดขึ้นมาบ่อยครั้ง ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม นำโดย อบู โมฮัมหมัด อัล-กอลานี (Abu Mohammad al-Golani) มีจุดมุ่งหมายที่จะอ้างสิทธิ์ [13] ควบคุมเหนือพื้นที่ต่างๆ ซึ่งฝ่ายต่อต้านอื่นๆ ยึดครองอยู่ รวมทั้งพวกดินแดนที่ปัจจุบันบริหารจัดการโดยกองทัพแห่งชาติชาวซีเรีย
และทั้ง กองทัพแห่งชาติชาวซีเรีย และ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม ยังมีความสัมพันธ์อันยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวเกิดเป็นความขัดแย้งกันขึ้นกับ กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย ทั้งสืบเนื่องจากความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ความเชื่อ, ผลประโยชน์ทางดินแดน, และความผิดแผกกันในทางยุทธศาสตร์
กองทัพแห่งชาติชาวซีเรียที่หนุนหลังโดยตุรกี มีการปะทะสู้รบโดยตรง [14] บ่อยครั้งกับทางกองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย ซึ่งตุรกีมีความเห็นว่าเป็นองค์การผู้ก่อการร้าย และเป็นลูกหลานแตกหน่อมาจากพรรคคนงานเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Workers Party) ที่รัฐบาลตุรกีได้ดำเนินการสู้รบปราบปรามในบริเวณภาคใต้ของตุรกีมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว
ปัญหาการปรับตัวของฝ่ายต่างๆ
การพังครืนของอัสซาดกลายเป็นสิ่งที่สร้างแรงกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อประเทศต่างๆ ซึ่งมีเดิมพันผลประโยชน์อยู่ในภูมิภาคแถบนี้
ยุทธศาสตร์ใหญ่ของอิหร่านที่มุ่งสงวนรักษา “ดินแดนรูปเสี้ยววงเดือนของชาวชิอะห์” (Shia Crescent) [15] –ที่เชื่อมต่อกรุงเตหะรานของอิหร่านไปจรดกรุงเบรุตของเลบานอน โดยพาดผ่านกรุงแบกแดดของอิรัก และกรุงดามัสกันของซีเรีย และในกระบวนการผนึกกำลังกันเช่นนี้ ก็จะเป็นการตอบโต้ต้านทานพวกกลุ่มก๊กอิสลามิสต์ที่เป็นฝ่ายนิกายสุหนี่ไปด้วยในตัว— เป็นอันว่าได้ประสบความล้มเหลวลงแล้ว
อย่างไรก็ดี สำหรับวอชิงตัน การหล่นลงจากอำนาจของอัสซาดไม่จำเป็นว่า คือผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความมุ่งหวังปรารถนาของพวกเขาแต่อย่างใด
สหรัฐฯนั้นให้ความสำคัญลำดับต้นๆ แก่การสร้างความสมดุล, การจำกัดปิดล้อมอิทธิพลของรัสเซียและอิหร่านในซีเรีย และหากมีโอกาสกระทำได้ ก็บ่อนเซาะทำลายอิทธิพลดังกล่าว [16] ทว่าจวบจนกระทั่งถึงช่วงระยะหลังๆ มานี้ เรื่องนี้ไม่ได้หมายความถึงการโค่นล้มอัสซาดลงไป คณะบริหารไบเดนยังถึงกับบ่งบอกเป็นนัยๆ [17] ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมว่า พวกเขาพร้อมที่จะยกเลิกการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรซีเรียด้วยซ้ำ ถ้าหากอัสซาดสะบั้นสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
ยังมีการพูดจากันด้วยในเรื่องที่ว่า ให้รัฐบาลอัสซาดจับมือเป็นพันธมิตรกับกองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรียที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ [18] แต่แล้วเมื่อเมืองใหญ่แห่งแล้วแห่งเล่าถูกตีแตกและตกอยู่ในกำมือของ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม กับ กองทัพแห่งชาติชาวซีเรียที่หนุนหลังโดยตุรกี มันก็เป็นไปไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่กลุ่มชาวเคิร์ดนี้จะไปจับมือเป็นพันธมิตรกับกองกำลังอัสซาดซึ่งอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว –โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อกองกำลังชาวเคิร์ดเองก็ได้ฉวยโอกาสนี้เข้าช่วงชิงดอกผลทางดินแดนเพิ่มขึ้นมาอย่างสำคัญเช่นกัน [19]
กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย จำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ที่อัสซาดถูกโค่นล้มลงแล้ว ความจำเป็นนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในเมื่อหลายๆ ฝ่ายคาดการณ์เอาไว้แล้ว และว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กล่าวออกมาอย่างอ้อมๆ [20] เช่นกันว่า สหรัฐฯจะถอนตัวออกไปจากซีเรีย โดยที่ในปัจจุบัน มีทหารสหรัฐฯจำนวน 900 คน [21] อยู่ที่ภาคตะวันออกของซีเรีย เคียงข้างฐานทัพแห่งหนึ่งในเขตอัล-ตันฟ์ (Al-Tanf) ของจังหวัดฮอมส์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชายแดนติดต่อกับอิรักและกับจอร์แดน
หากกองทหารอเมริกันถอนตัวออกไปจริงๆ กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย และพื้นที่ปกครองตนเองที่พวกเขาบริหารอยู่ –รู้จักกันในชื่อว่า เขตบริหารปกครองตนเองแห่งซีเรียเหนือและตะวันออก (Autonomous Administration of North and East Syria) –ก็จำเป็นที่จะต้องเจรจาเรื่องฐานะการปกครองตนเองของพวกเขา [22] ทั้งกับกลุ่มก๊กฝ่ายค้านต่างๆ และทั้งกับชาติเพื่อนบ้านของซีเรียอย่างตุรกี
เคิร์ดกับอิสลามิสต์จับมือเป็นพันธมิตรกัน?
การที่ กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย แสดงบทบาทซึ่งออกจะมีอันตรายอยู่มาก ในช่วงซึ่งซีเรียกำลังมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคหลังอัสซาดเช่นนี้ สามารถที่จะสร้าง [23] ความปวดเศียรเวียนเกล้าทางด้านนโยบายการต่างประเทศอย่างสำคัญขึ้นมาให้สหรัฐฯได้ทีเดียว
พิจารณาจากประวัติที่ผ่านมาของตุรกีซึ่งมีการส่งกำลังทหารเข้าล่วงล้ำแดนและเปิดการรณรงค์เล่นงาน [24] กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย ในเมืองใหญทางตอนเหนือซีเรียอย่าง อัฟริน (Afrin) และ โคบานี (Kobani) มาแล้ว กลุ่มชาวเคิร์ดเหล่านี้อาจจำเป็นจะต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับบางกลุ่มก๊กของฝ่ายต่อต้าน อย่างเช่น ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม หากว่าในที่สุดแล้วสหรัฐฯถอนตัวออกไป
ระยะหลังๆ มานี้ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม ส่วนใหญ่แล้วหลีกเลี่ยงไม่เป็นปรปักษ์กับ กองกำลังประชาธิปไตยชาวซีเรีย ที่จริงแล้วความพยายามของ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม ที่จะรีแบรนด์ตัวเองและทำให้ตนเองแลดูเป็นกลุ่มแนวคิดสายกลางมากขึ้น [25] นั้นเป็นเรื่องมองเห็นได้เด่นชัดทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงจุดกำเนิดของพวกเขาที่เป็นกลุ่มซาลาฟิสต์ (Salafist) กลุ่มหนึ่ง ที่มีสายใยผูกพันกับอัลกออิดะห์
(ซาลาฟิสต์ Salafist เป็นขบวนการฟื้นฟูหลักศาสนาอิสลามภายในนิกายสุหนี่ ที่ก่อตั้งขึ้นในตอนปลายศตวรรษที่ 19 และยังคงมีอิทธิพลในโลกอิสลามจนถึงทุกวันนี้ หลักการสำคัญของซาลาฟิสต์ คือ การเรียกร้องให้หวนกลับไปยึดถือความเชื่อและการปฏิบัติในช่วงต้นๆ ของอิสลาม โดยเฉพาะของชาวมุสลิมใน 3 เจเนอเรชั่นแรก ซึ่งซาลาฟิสต์เชื่อว่าเป็นอิสลามแท้จริงที่สุด ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Salafi_movement#:~:text=The%20Salafi%20movement%20or%20Salafism,the%20pure%20form%20of%20Islam. -ผู้แปล)
ด้วยการยอมรับนำเอานโยบายคำนึงถึงความหลายหลากจำนวนหนึ่งมาใช้ อย่างเช่น การออกนิรโทษกรรม [26] ให้แก่บุคลากรในกองทัพซีเรีย, การอำนวยความสะดวกให้สามารถดำเนินการตามพวกข้อตกลงต่างๆ ในเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน, และการใช้ภาษาถ้อยคำของการมุ่งสร้างโครงสร้างบริหารปกครองแบบยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติและทางศาสนา กลุ่มอิสลามิสต์กลุ่มนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการลดทอนภาพลักษณ์สายแข็งของตนให้มีความนุ่มนวลมากขึ้นและเรียกคะแนนความชื่นชม –หรืออย่างน้อยที่สุดก็ความเป็นธรรม—จากพวกมีสิทธิมีส่วนในระดับระหว่างประเทศ อย่างเช่นสหรัฐฯ
กระนั้น ความระแวงสงสัยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์สูงสุดของ ฮายัต ตอห์รีร์ อัล-ชาม ยังมีดำรงอยู่
ข้อคาดคำนวณทางยุทธศาสตร์ของตุรกี
จุดยืนของตุรกีว่าด้วยซีเรียเวลานี้ก็มีความยุ่งยากซับซ้อนพอๆ กัน ปัจจุบัน ตุรกีคือที่พำนักอาศัยของผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย 3.6 ล้านคน –กลายเป็นประเทศที่เป็นเจ้าบ้านรับผู้ลี้ภัยรายใหญ่ที่สุดของโลก ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาอย่างยืดเยื้อยาวนาน และอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านผู้ลี้ภัย [27] ที่แรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ได้กดดันให้ประธานาธิบดีเรเจป ตอยยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ส่งสัญญาณแสดงความปรารถนาที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับอัสซาด ในช่วงก่อนหน้าการรุกใหญ่ของฝ่ายต่อต้าน
สิ่งที่ตุรกีวาดหวังเอาไว้ก็คือ หากสามารถปรับความสัมพันธ์กับซีเรียให้เป็นปกติได้ ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่การส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้าน รวมทั้งแก้ไขความวิตกกังวล [28] เกี่ยวกับเรื่องความเป็นไปได้ที่ชาวเคิร์ดจะก่อตั้งรัฐของตัวเองขึ้นในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย
ทว่า อัสซาด กลับมองเมินไม่สนใจการทาบทามดังกล่าวนี้ แถมเขายังเพิ่มการโจมตีทางอากาศอย่างดุเดือดยิ่งขึ้นในจังหวัดอิบลิด (Idlib) –จุดชนวนให้เกิดระลอกผู้พลัดถิ่นที่อยู่ระลอกใหม่ขึ้นมาในพื้นที่ใกล้ๆ ชายแดนตุรกี
นโยบายว่าด้วยซีเรียของตุรกี ยังมีการโยงใยอย่างใกล้ชิดกับกระบวนการสร้างสันติภาพครั้งใหม่ระหว่างพวกเขากับพรรคคนงานเคอร์ดิสถาน มีรายงานว่าการเปิดพูดจากันขึ้นมาใหม่คราวนี้ได้มีการอภิปรายกัน [29] เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะปล่อยตัว อับดุลเลาะห์ โอชาลัน (Abdullah Öcalan) ผู้นำพรรคคนงานเคอร์ดิสถาน ที่เวลานี้ถูกจองจำอยู่ เป็นที่ทราบกันดีว่า โอชาลัน นั้นมีอิทธิพลหยั่งลึกทีเดียว [30] ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนำโดยชาวเคิร์ดในภาคเหนือซีเรีย
ลู่ทางโอกาสสำหรับการลืมตาอ้าปากของซีเรียใหม่
การปกครองของครอบครัวอัสซาดที่ทำท่าจบสิ้นลงแล้วภายหลังครองอำนาจด้วยการกดขี่อย่างโหดร้ายทารุณมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงห้วงขณะที่สำคัญยิ่งสำหรับซีเรีย --โดยที่เป็นการเสนอโอกาสสำหรับการสร้างประเทศชาติแห่งนี้ขึ้นมาใหม่บนรากฐานของการนำเอาทุกๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม, พหุนิยม (pluralism) ซึ่งก็คือการยอมรับเรื่องความแตกต่างหลากหลาย, และเสถียรภาพ
การที่จะทำได้สำเร็จตามวิสัยทัศน์นี้ ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของกลุ่มก๊กฝ่ายค้านต่างๆ ในการก้าวฝ่าข้ามความท้าทายต่างๆ ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมด ของระยะการเปลี่ยนผ่าน นี่ย่อมรวมไปถึงการบ่มเพาะสร้างความสามัคคีเป็นเอกภาพขึ้นมาในระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างหลายหลาก, แก้ไขคลี่คลายความคับข้องใจที่สะสมอยู่ในระยะเวลาหลายๆ ปีของการสู้รบขัดแย้ง, และสถาปนาโครงสร้างการบริหารปกครองซึ่งสะท้อนความหลายหลากทางเชื้อเชาติ, ศาสนา, และความเชื่อความเห็นทางการเมืองของซีเรีย แน่นอนทีเดียวว่า มันจะไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดายเลย
เซฟา เซเซน เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการระหว่างประเทศและโลกศึกษา (international and global studies) ที่มหาวิทยาลัยนาซาเรธ (Nazareth University) เมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://asiatimes.com/2024/12/fears-of-catastrophic-success-in-post-assad-syria/
เชิงอรรถ
[1] https://www.aljazeera.com/news/2024/12/8/world-reacts-to-bashar-al-assads-fall-capture-of-damascus
[2] https://www.reuters.com/world/middle-east/aleppo-airport-closed-sources-say-syrian-rebels-reach-heart-city-2024-11-29/
[3] https://www.cbsnews.com/news/syrian-insurgents-enter-damascus-bashar-assad-flees-country/
[4]https://www.theguardian.com/world/2020/mar/05/russia-and-turkey-agree-ceasefire-in-syrias-idlib-province
[5] https://www.aljazeera.com/news/2024/12/8/syrias-bashar-al-assad-the-president-who-lost-his-homeland
[6]https://scholar.google.no/citations?user=Ga77uYgAAAAJ&hl=en
[7] https://www.cfr.org/article/syrias-civil-war
[8]https://www.washingtonpost.com/world/2024/12/01/syria-rebels-assad-aleppo-hama/
[9] https://defence-blog.com/russian-warships-leave-syrias-key-naval-base/
[10] https://www.washingtonpost.com/national-security/2024/12/07/syria-rebels-biden-intelligence-islamists/
[11] https://theconversation.com/what-is-hayat-tahrir-al-sham-and-how-did-the-islamist-group-evolve-into-a-key-player-in-syrias-civil-war-245017
[12] https://theconversation.com/us-military-presence-in-syria-carries-substantial-risks-but-so-does-complete-withdrawal-235569
[13] https://syriadirect.org/hts-backed-civil-authority-moves-against-rivals-in-latest-power-grab-in-northwest-syria/
[14] https://levant24.com/news/2023/09/ceasefire-agreement-stops-days-of-infighting-in-sna-controlled-northern-syria/
[15] https://www.washingtoninstitute.org/policy-analysis/middle-east-faqs-volume-1-what-shia-crescent
[16] https://www.atlanticcouncil.org/blogs/menasource/the-biden-administrations-syria-policy-sets-a-path-towards-disengagement-heres-why-its-problematic/
[17] https://www.reuters.com/world/us-uae-discussed-lifting-assad-sanctions-exchange-break-with-iran-sources-say-2024-12-02/
[18] https://www.al-monitor.com/originals/2024/01/pentagon-floats-plan-its-syrian-kurd-allies-partner-assad-against-isis
[19] https://manage.rudaw.net/english/middleeast/syria/071220243
[20] https://www.aljazeera.com/news/2024/12/7/not-our-fight-president-elect-trump-distances-us-from-syrias-conflict
[21] https://www.cato.org/commentary/why-are-american-troops-still-iraq-syria
[22] https://theconversation.com/us-military-presence-in-syria-carries-substantial-risks-but-so-does-complete-withdrawal-235569
[23] https://foreignpolicy.com/2024/12/02/syria-russia-turkey-assad-putin-trump-iran-hezbollah/
[24] https://www.cfr.org/global-conflict-tracker/conflict/conflict-between-turkey-and-armed-kurdish-groups
[25] https://dawnmena.org/syrians-still-want-to-be-rid-of-assad-and-his-foreign-backers/
[26] https://syria.liveuamap.com/en/2024/3-december-09-syrian-opposition-announces-a-total-amnesty
[27] https://www.aljazeera.com/news/2024/7/2/protests-and-arrests-as-anti-syrian-riots-rock-turkey
[28] https://www.aljazeera.com/news/2024/7/24/syria-and-turkey-a-path-to-reconciliation-or-a-defeat-of-the-opposition
[29] https://www.turkishminute.com/2024/10/11/amid-ongoing-crackdown-on-kurd-turkey-mulls-renewed-peace-talks-with-pkk/
[30] https://www.reuters.com/article/world/ypg-fighters-credit-ocalan-with-syria-victory-idUSKBN1CS1J2/