โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ประกาศวานนี้ (13 ธ.ค.) ว่าพรรครีพับลิกันของเขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อยกเลิกระบบเวลาออมแสง หรือ daylight saving time ซึ่งเขาบอกว่าเป็นอะไรที่ “ไม่สะดวก และเป็นภาระต่อประเทศชาติ”
“พรรครีพับลิกันจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยกเลิกเวลาออมแสง ซึ่งมีผู้สนับสนุนนิดหน่อยแต่แข็งขันมาก ทั้งที่ไม่ควรจะมี!” ทรัมป์ ประกาศผ่านโซเชียลมีเดีย
“เวลาออมแสงเป็นระบบที่ไม่สะดวก และเป็นภาระต่อประเทศชาติเรามาก”
เวลาออมแสง หรือ daylight saving time นั้นหมายถึงการปรับนาฬิกาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงในช่วงหน้าร้อนสำหรับภูมิภาคยุโรปและอเมริกา เพื่อให้ผู้คนได้ใช้ประโยชน์จากเวลาที่มีแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด โดยระบบนี้ถูกใช้ในเกือบทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่เริ่มเป็นที่ถกเถียงมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สมาชิกสภาคองเกรสบางคนเรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้เวลามาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งปี ขณะที่บางคนเห็นว่าควรใช้เวลาออมแสงทั้งปีไปเลย และมีบางกลุ่มที่เห็นว่าแบบที่เป็นอยู่ (status quo) ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ไม่เคยออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องนี้
เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2022 วุฒิสภาสหรัฐฯ เคยลงมติเอกฉันท์ให้สหรัฐฯ ใช้เวลาออมแสงแบบถาวร ทว่าก็ไปติดด่านสภาผู้แทนราษฎรที่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันในประเด็นนี้
เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา มีกลุ่ม ส.ว.สหรัฐฯ จากทั้ง 2 พรรคการเมืองพยายามผลักดันอีกครั้งให้สหรัฐฯ ใช้เวลาออมแสงแบบถาวร
ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้เวลาออมแสงให้เหตุผลว่า มันจะทำให้เวลาในช่วงบ่ายและเย็นมีแสงสว่างมากขึ้น และสามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ฝ่ายวิจารณ์มองว่ามันเป็นการบังคับให้เด็กๆ ต้องเดินออกไปโรงเรียนทั้งที่ฟ้ายังไม่สว่างดี
ทางฝ่ายที่เห็นว่าควรยกเลิกเวลาออมแสงไปเลยชี้ว่า การปรับเวลาปีละ 2 รอบเช่นนี้เป็นปัญหาต่อการนอนหลับ และกระทบสุขภาพของประชาชน
สภาคองเกรสไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว และวุฒิสภาจำเป็นที่จะต้องเสนอเรื่องนี้เข้าสู่สภาอีกครั้งหากจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ระบบเวลาออมแสงตลอดปีเคยถูกใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกนำมาใช้อีกครั้งในปี 1973 เพื่อประหยัดพลังงานในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน (oil embargo) ทว่าไม่เป็นที่นิยมจนต้องยกเลิกไปในปีถัดมา
ตั้งแต่ปี 2015 มีราวๆ 30 รัฐในอเมริกาที่เสนอหรือผ่านร่างกฎหมายยุติระบบการปรับเวลา 2 ครั้งต่อปี และมีบางรัฐที่บอกว่าจะทำก็ต่อเมื่อรัฐข้างเคียงเอาด้วย
ที่มา : รอยเตอร์