xs
xsm
sm
md
lg

‘อังกฤษ-อิตาลี-ญี่ปุ่น’ เตรียมเปิดบริษัทร่วมพัฒนา ‘เครื่องบินรบล่องหน GCAP’ ตั้งเป้าประจำการลำแรกปี 2035

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อังกฤษ อิตาลี และญี่ปุ่น เตรียมเปิดตัวบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนา ออกแบบ และผลิต “เครื่องบินรบล่องหน” ที่ล้ำสมัย นับเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าของโครงการพัฒนาอาวุธครั้งสำคัญในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญความปั่นป่วนทางการเมืองและสงครามระดับภูมิภาค

บรรดาชาติยุโรปเริ่มต้องแสวงหาวิธียกระดับศักยภาพทางทหารของตนเองตามหลังการบุกยูเครนของรัสเซีย รวมถึงเสียงเรียกร้องจากว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้ยุโรปจ่ายงบทางทหารเพิ่มขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นก็ต้องการเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีน

คำประกาศเมื่อวานนี้ (13 ธ.ค.) ถือเป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าของข้อตกลงร่วมปี 2022 ที่ทั้ง 3 ชาติตกลงจะร่วมมือกันในโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ที่มีชื่อว่า Global Combat Air Programme (GCAP) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินขับไล่ยูโรไฟเตอร์ (Eurofighter) ที่มีแผนปลดประจำการภายในปี 2020 รวมถึงทดแทนฝูงบิน F-2 ของญี่ปุ่นด้วย

บริษัทร่วมทุนแห่งใหม่นี้จะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่อังกฤษ และมีบริษัท BAE Systems ของอังกฤษ บริษัท Leonardo ของอิตาลี และบริษัท Aircraft Industrial Enhancement ( JAIEC) ถือหุ้นในสัดส่วน 33.3% เท่ากัน ส่วนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) คนแรกจะเป็นชาวอิตาลี

“สันติภาพจะต้องได้รับการปกป้อง และการปกป้องสันติภาพนั้นมีค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้การที่รัฐบาลและบริษัททั้งหลายต้องร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถทำได้เอง และ (GCAP) ถือเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม” โรแบร์โต ซินโกลานี ซีอีโอของ Leonardo ระบุในพิธีลงนามข้อตกลง

ทั้ง 3 ชาติได้เคยประกาศในเดือน พ.ย. ว่ากำลังหารือความเป็นไปได้ที่จะเปิดให้ชาติอื่นๆ เข้าร่วมโครงการด้วย ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอิตาลีออกมาแย้มว่าหนึ่งในประเทศที่อาจจะเข้าร่วมคือ ซาอุดีอาระเบีย

เฮอร์มาน เคลเซน ผู้อำนวยการบริหารของ BAE Systems ชี้ว่าบริษัทใหม่น่าจะก่อตั้งอย่างเป็นทางการภายในกลางปี 2025 และมีการเปิดรับหุ้นส่วนใหม่ๆ ด้วย

โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่นี้เคยเป็นที่รู้จักในชื่อ Tempest โดยทั้ง 3 ชาติมีแผนที่จะร่วมแชร์ค่าใช้จ่ายหลายหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาและสั่งซื้อเครื่องบินรุ่นใหม่ รวมถึงมองหาตลาดนานาชาติเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมของซาอุดีอาระเบียอาจจะทำให้ประเทศต่างๆ แสวงหาจุดยืนร่วมในการกำหนดโนบายส่งออกได้ยากขึ้น

เคลเซน ยอมรับว่ายังเร็วเกินไปที่จะระบุมูลค่าของโครงการนี้ แต่เชื่อว่ามันจะสามารถสร้างรายได้ “หลายแสนล้านดอลลาร์” จากการพัฒนา การผลิต และงานอื่นๆ ตลอดช่วงหลายปีข้างหน้า

ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน ก็กำลังร่วมทำโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นอนาคตอยู่เช่นกัน จนทำให้บางคนในอุตสาหกรรมตั้งคำถามว่า ยุโรปจะสนับสนุนโครงการซึ่งต้องใช้ระยะเวลานับสิบปีถึง 2 โครงการพร้อมกันได้หรือไม่

สำหรับ GCAP นั้นมุ่งหมายที่จะพัฒนาเครื่องบินขับไล่ที่ปฏิบัติการควบคู่ไปกับโดรน โดยคาดว่าเครื่องบินลำแรกจะสามารถประจำการได้ภายในปี 2035 ซึ่งเป็นกรอบเวลาที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมบางคนมองว่าออกจะ “ทะเยอทะยาน” เกินไปหน่อย

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น