จีนในวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) แสดงความประหลาดใจและไม่พอใจอย่างยิ่งต่อความเห็นแก้ต่างการประกาศอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ ซึ่งในเนื้อหานั้นมีช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนกล่าวหาพลเมืองชาวจีนกระทำการจารกรรม
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) ยุน ได้ออกถ้อยแถลงปกป้องการตัดสินใจอันสุดช็อกของเขาในการประกาศกฎอัยการศึกและส่งทหารไปยังอาคารรัฐสภาเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฉุดประเทศประชาธิปไตยแห่งนี้เข้าสู่ความไม่แน่นอนทางการเมือง
ผู้นำรายนี้ยังด่าทอจีนระหว่างแถลงแก้ต่าง กล่าวหาพลเมืองจีนถ่ายภาพและถ่ายคลิปที่ตั้งทางทหารในเกาหลีเหนือ ในสิ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นความพยายามจารกรรม
กระทรวงการต่างประเทศจีน ในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) ออกมาตอบโต้กลับ บอกว่า ยุน พูดเกินจริงอย่างไร้เหตุผล ในสิ่งที่อ้างว่าเป็นการจารกรรมของจีน
"จีน รู้สึกประหลาดใจและไม่พอใจอย่างยิ่งต่อความเห็นเหล่านี้จากฝ่ายเกาหลีใต้" เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวระหว่างแถลงสรุป โดยไม่ได้เอ่ยชื่อประธานาธิบดียุนตรงๆ "มันไม่ช่วยอะไรต่อสถานภาพและพัฒนาการแห่งเสถียรภาพในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเกาหลีใต้"
ระหว่างการแถลง ยุน กล่าวหาพรรคฝ่ายค้านหลัก ขัดขวางความพยายามของเขาในการแก้ไขกฎหมายต่อต้านการจารกรรมของเกาหลีใต้ เขาบอกว่ากฎหมายปัจจุบัน "ไม่มีทางที่จะลงโทษพลเมืองต่างชาติสำหรับการจารกรรม" และหยิบยกกรณีที่ว่ากันว่าถูกสอดแนมต่างๆ โดยพลเมืองจีนมาเป็นข้อกล่าวอ้าง
คำกล่าวหาของยุน รวมไปถึงเหตุการณ์ที่มีบุคคล 3 ราย ถูกจับกุมโทษฐานบินโดรนและถ่ายภาพเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งของสหรัฐฯ ในปูซาน เมืองท่าทางใต้ของประเทศ ซึ่งจากการตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวยังพบว่าได้บันทึกภาพแหล่งที่ตั้งทางทหารต่างๆ เอาไว้ด้วย
ส่วนกรณีอื่นที่ยุนกล่าวอ้าง คือเหตุการณ์ที่ชายวัย 40 ปีเศษๆ รายหนึ่ง เดินทางจากจีนมายังกรุงโซล และมุ่งหน้าใช้โดรนถ่ายภาพสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้
ยุน ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมในทั้ง 2 กรณี และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแถลง อ้างว่าฝ่ายค้านเป็นคนก่อวิกฤตระดับชาติ และประกาศว่าจะเดินหน้าต่อสู้เคียงข้างประชาชนไปจนถึงนาทีสุดท้าย
ผู้นำวัย 63 ปีรายนี้ กล่าวขอโทษอีกครั้ง ที่ทำให้ประชาชน "ประหลาดใจและหวาดวิตก" กับคำประกาศกฎอัยการศึกของเขา ทั้งนี้ปัจจุบันเขาถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เผชิญการโหวตถอดถอน เช่นเดียวกับการประท้วงใหญ่เรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง
เหมา ระบุในวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) ว่าปักกิ่ง "คัดค้านอย่างหนักแน่นต่อความพยายามของฝ่ายเกาหลีใต้ที่กำลังเชื่อมโยงประเด็นภายในประเทศกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีน"
ทั้ง 2 ประเทศเป็นคู่ค้าหลักระหว่างกัน แต่มีความสัมพันธ์มึนตึงทางการเมืองมาช้านาน โดยพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองจีน คือผู้สนับสนุนหลักทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของเกาหลีเหนือ ชาติคู่อริของเกาหลีใต้ ในขณะที่ในทางเทคนิคแล้วยังถือว่าเปียงยางและโซลยังอยู่ในภาวะสงครามระหว่างกัน
อีกด้านหนึ่ง เกาหลีใต้ คือพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ และมีกำลังพลอเมริกาประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน ตึงเครียดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
(ที่มา : เอเอฟพี)