ทำเนียบเครมลินประกาศสำทับในวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) จะล้างแค้น “อย่างแน่นอน” จากการที่ยูเครนยิงขีปนาวุธยุทธวิธีทำการไกล “อะแทคคัมส์” (ATACMS) ที่สหรัฐฯ จัดหาให้โจมตีสนามบินทหารในแคว้นรอสตอฟ ทางตอนใต้ของแดนหมีขาว ขณะที่อเมริกาคาดเร็วๆ นี้มอสโกอาจตอบโต้ด้วยขีปนาวุธนำวิถีไฮเปอร์โซนิก “โอเรชนิก”ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงว่า การที่อเมริกานำเงินกู้ 20,000 ล้านดอลลาร์จากการใช้สินทรัพย์รัสเซียที่ถูกอายัดไว้เป็นหลักประกันไปมอบให้ยูเครนนั้น คือ การปล้นกันเห็นๆ
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เคยขู่จะยิง “โอเรชนิก” ถล่มศูนย์กลางของกรุงเคียฟ ถ้ายูเครนยังไม่ยุติการโจมตีดินแดนรัสเซียโดยใช้อะแทคคัมส์ ที่ยิงได้ไกลประมาณ 300 กิโลเมตร
กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงเมื่อวันพุธ (11) ว่า ยูเครนได้ใช้อะแทคคัมส์ ที่ได้รับจากอเมริกาจำนวน 6 ลูก โจมตีสนามบินทหารในเมืองท่า ตากานร็อก ในแคว้นรอสตอฟ โดยขีปนาวุธ 2 ลูกถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศ แพนต์เซอร์ สอยร่วง ขณะที่ลูกอื่นๆ ถูกระบบอาวุธอิเล็กทรอนิกส์ตรวจพบ
คำแถลงเสริมว่า ไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บ แต่เศษกระสุนที่ร่วงลงมาทำให้ยานยนต์ทางทหารและอาคารใกล้เคียงเสียหายเล็กน้อย ก่อนสำทับว่า รัสเซียจะตอบโต้การโจมตีซึ่งใช้อาวุธทำการไกลๆ จากตะวันตกเช่นนี้อย่างสาสม
ในวันพฤหัสฯ ดมิตริ เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า การตอบโต้ของรัสเซียนั้นจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในช่วงเวลาและด้วยวิธีการที่ได้รับการพิจารณาว่าเหมาะสม
วอชิงตันเพิ่งอนุมัติให้เคียฟยิงอะแทคคัมส์ใส่ดินแดนรัสเซียเมื่อเร็วๆ นี้เอง ภายหลังยูเครนร้องขอมาเป็นแรมเดือน
ในวันพุธ ซาบรินา ซิงห์ รองโฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงเตือนว่า รัสเซียส่งสัญญาณว่า ตั้งใจจะยิงขีปนาวุธโอเรชนิก ในการตอบโต้ยูเครน โดยที่คำเตือนนี้อิงอยู่กับการประเมินข้อมูลข่าวกรองที่พบว่า เป็นไปได้ที่รัสเซียจะโจมตีด้วยขีปนาวุธโอเรชนิกอีกในเร็ววันนี้
โอเรชนิก เป็นขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลาง (นั่นคือยิงได้ไกลระหว่าง 3,000 ถึง 5,500 กิโลเมตร) รุ่นที่กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบของรัสเซีย ซึ่งสามารถทำความเร็วขณะโจมตีใส่เป้าหมายในระดับไฮเปอร์โซนิก นั่นคือเร็วกว่าเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป แล้วยังติดหัวรบ 6 หัวรบที่แยกย้ายพุ่งใส่เป้าหมายได้อย่างเป็นอิสระ ขณะที่แต่ละหัวรบบรรจุไว้ด้วยหัวรบย่อยๆ ลักษณะเดียวกับระเบิดลูกปราย
ทั้งนี้ รัสเซียยิงขีปนาวุธโอเรชนิกถล่มยูเครนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ซึ่งปูตินระบุว่า เป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธยุทธวิธีทำการไกลของอเมริกาและอังกฤษโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ของยูเครน อวดว่า ฝ่ายตนสามารถสร้างความเสียหายอย่างชัดเจนต่อเป้าหมายในรัสเซียเมื่อคืนวันอังคาร (10 ธ.ค.) โดยการโจมตีโรงงานทางทหารและด้านพลังงานที่สนับสนุนกองทัพรัสเซีย
ขณะที่ทางฝั่งปูตินกล่าวระหว่างหารือทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน ของฮังการีว่า การโจมตีล่าสุดของเคียฟทำให้ข้อตกลงสันติภาพเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นในเวลาต่อมาออร์บันยังโพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า ฮังการีเสนอเป็นตัวกลางการเจรจาหยุดยิงและแลกเปลี่ยนนักโทษจำนวนมากระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงคริสต์มาส แต่เซเลนสกีปฏิเสธ
ดมิโตร ลิตวิน ผู้ช่วยประธานาธิบดียูเครน ออกมาปฏิเสธทันควันว่า ยูเครนไม่ได้หารือใดๆ กับฮังการี และเซเลนสกีโจมตีออร์บันว่า การพูดคุยกับผู้นำเครมลินอาจบ่อนทำลายความเป็นเอกภาพของยุโรปที่มีจุดยืนต่อต้านรัสเซีย
ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียแถลงในวันพุธว่า การที่อเมริกานำเงินกู้ 20,000 ล้านดอลลาร์ที่ได้จากการนำเอาสินทรัพย์รัสเซียซึ่งถูกอายัดไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไปมอบให้ยูเครน คือการปล้นกันเห็นๆ พร้อมส่งสัญญาณว่า มอสโกจะยึดทรัพย์สินตะวันตกในดินแดนรัสเซียไปใช้ส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมและโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเช่นเดียวกัน
คำแถลงยังระบุว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังพยายามอย่างบ้าคลั่งในการผลักดันออกมาตรการแซงก์ชันรัสเซียให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ก่อนถ่ายโอนอำนาจให้ทรัมป์ในวันที่ 20 ม.ค.
การแถลงของมอสโก มีขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เผยว่า ได้โอนเงิน 20,000 ล้านดอลลาร์ในส่วนของสหรัฐ จากเงินกู้จำนวนทั้งหมด 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกลุ่มจี7 สัญญามอบให้ยูเครน ไปยังกองทุนของธนาคารโลกสำหรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการเงินแก่เคียฟแล้วตามที่ประกาศไว้ในเดือนตุลาคม
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปให้คำมั่นนำเงินกู้ 20,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้จากการนำสินทรัพย์ของรัสเซียที่ถูกอายัดไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน มอบให้เคียฟเพื่อใช้ในการสู้รบกับรัสเซีย ส่วนที่เหลือจะมาจากเงินกู้ของอังกฤษ แคนาดา และญี่ปุ่น
(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)