ประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ เปลี่ยนท่าทีในวันพฤหัสบดี (12 ธ.ค.) ออกมาประกาศอย่างแข็งกร้าว “สู้จนถึงที่สุด” ทั้งญัตติถอดถอนในสภาและการสอบสวนคดีอาญาคดี “กบฏ” ของฝ่ายอัยการ สืบเนื่องจากการประกาศใช้กฎอัยการศึก 6 ชั่วโมงของเขาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ด้าน ฮัน ดองฮุน หัวหน้าพรรคพีพีพีของเขาเอง ยื่นคำขาดให้ผู้นำประเทศ “เป็ดง่อย” ผู้นี้ เลือกระหว่างการลาออกหรือถูกถอดถอน พร้อมแนะนำให้สมาชิกสภาของพรรค หนุนญัตติถอดถอนของฝ่ายค้านที่คาดว่าจะมีการลงคะแนนในวันเสาร์ (14) นี้
ประธานาธิบดียุน ออกมากล่าวปราศรัยยาวเหยียดที่มีการถ่ายทอดทางทีวีเมื่อวันพฤหัสฯ (12) โดยที่ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า แฮกระบบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เกิดข้อกังขาในความพ่ายแพ้ราบคาบของพรรคพลังประชาชน (พีพีพี) ของเขา ในการเลือกตั้งเดือนเมษายน
อย่างไรก็ดี ความหวังที่ว่าพันธมิตรทางการเมืองของเขาจะให้การสนับสนุน กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน โดยหลังจากการปราศรัยของยุนครั้งนี้ หัวหน้าพรรคพีพีพีประกาศในที่ประชุมพรรคว่า ถึงเวลาแล้วที่ยุนจะต้องเลือกระหว่างการลาออก หรือถูกสภาถอดถอน
ก่อนหน้านั้น เมื่อคืนวันพุธ (11) 6 พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปไตย (ดีพี) ได้ยื่นญัตติถอดถอนยุนต่อสภาอีกรอบ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมติในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ หรือหนึ่งสัปดาห์หลังจากความพยายามถอดถอนรอบแรกล้มเหลว เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของพีพีพีคัดค้าน
ญัตติถอดถอนประธานาธิบดี ต้องได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ของสภา ซึ่งก็คือ 200 เสียง โดยที่พวกฝ่ายค้านมีอยู่ 192 เสียง จะต้องได้สมาชิกสภาของพรรครัฐบาล 8 เสียงมาช่วย จึงจะผ่านญัตตินี้ได้สำเร็จ และเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการ ซึ่งได้แก่การให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาว่าเห็นชอบกับการถอดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งหรือไม่
พวกผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดคาดกันว่ามีสมาชิกสภาพรรครัฐบาลอย่างน้อย 7 คนแล้ว จะยกมือโหวตเห็นชอบญัตติถอดถอนครั้งใหม่ อย่างไรก็ดี ภายในพรรคพีพีพียังมีความเห็นแตกแยกกันอยู่มาก โดยสมาชิกบางคนไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน
ระหว่างการปราศรัยในวันพฤหัสฯ ยุนกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านกำลังพยายามลากตัวเขาลงจากอำนาจ ทั้งๆ ที่เขาเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเขาจะสู้จนถึงที่สุดทั้งเรื่องการถอดถอนและการสอบสวนข้อหา “กบฏ” ที่ทางอัยการกำลังดำเนินการกันอยู่
การปราศรัยครั้งนี้ มีขึ้น 9 วันหลังจากที่ยุนพยายามประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อให้กองทัพรวบอำนาจเอาไว้ในมือ ต้องประสบล้มเหลว รวมทั้งเป็นการแสดงท่าทีซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากการปราศรัยของเขาเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ยุนเอ่ยขอโทษประชาชน และบอกว่า จะให้พรรคพีพีพีตัดสินชะตากรรมของตนเอง ขณะที่พวกผู้นำพรรคพีพีพีกล่าวว่า ยุนให้สัญญาจะขอลาออกเองในช่วงต้นปีหน้าแลกกับการไม่ถูกถอดถอน
การดื้อดึงครั้งนี้เพิ่มความเป็นไปได้ว่า ยุน ซึ่งเป็นอัยการและผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมาก่อน อาจตัดสินใจเดิมพันด้วยการต่อสู้ในศาลเพื่อให้ได้กลับสู่อำนาจอีกครั้ง
ชิน ยุล ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยมยองจี ชี้ว่า ดูเหมือนยุนไม่อยากลาออกและพยายามรั้งเก้าอี้ไว้โดยคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำไปถูกต้อง
ในการปราศรัยวันพฤหัสฯ ยุนย้ำว่า ต้องหยุดยั้งไม่ให้แก๊งอาชญากรที่ทำให้การดำเนินงานของประเทศเป็นอัมพาตและขัดขวางหลักนิติธรรม เข้ามายึดรัฐบาล ไม่ว่าจะต้องสูญเสียสิ่งใดก็ตาม
ประธานาธิบดีผู้นี้วิจารณ์พรรคดีพีที่ขัดขวางข้อเสนอบางอย่างของตน รวมทั้งยังกล่าวหาว่าภรรยาของตนกระทำผิดและเรียกร้องให้เปิดการสอบสวน กระนั้น ยุนไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับกิจกรรมผิดกฎหมายของดีพี อย่างที่ตัวเขาพยายามกล่าวหา
ยุนยังร่ายยาวว่า เกาหลีเหนือเจาะระบบข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (เอ็นอีซี) เมื่อปีที่แล้วโดยไม่มีการแสดงหลักฐานเช่นเดียวกัน
เขาบอกว่า หน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติตรวจพบการโจมตีดังกล่าว แต่เอ็นอีซีซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระ ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในการสอบสวนอย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่ได้เปิดการสอบสวนภายใน
ยุนอ้างว่า การโจมตีของโสมแดงทำให้เกิดข้อสงสัยในความถูกต้องสมบูรณ์ของการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่พรรคพีพีพีแพ้หลุดลุ่ย ด้วยเหตุนี้เขาจึงประกาศกฎอัยการศึก
ทางด้านเอ็นอีซีกล่าวว่า การตั้งข้อสงสัยในความผิดปกติของการเลือกตั้งเท่ากับว่า ยุนกำลังตั้งข้อสงสัยกับระบบกำกับดูแลการเลือกตั้งที่เลือกเขาเป็นประธานาธิบดี และเผยว่า เมื่อปีที่แล้วเอ็นอีซีได้หารือกับหน่วยข่าวกรองเกี่ยวกับ “ช่องโหว่ด้านความปลอดภัย” แต่ไม่พบสัญญาณว่า เกาหลีเหนือแฮกระบบ
นอกจากนั้น ยุนยังปฏิเสธว่า ไม่ได้สั่งให้หน่วยงานความมั่นคงปิดล้อมสภาหรือพยายามขัดขวางไม่ให้สมาชิกสภาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งตรงข้ามกับคำให้การของนายทหารที่รับผิดชอบสำคัญผู้หนึ่งที่บอกว่า ยุนสั่งให้บุกเข้าไปในสภาและขับไล่สมาชิกสภาที่กำลังรวบรวมเสียงเพื่อโหวตล้มล้างการประกาศกฎอัยการศึก
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ในวันพฤหัสฯ ตำรวจพยายามเข้าค้นสำนักงานประธานาธิบดีอีกครั้ง หลังจากถูกเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยประธานาธิบดีขัดขวางเมื่อวันพุธ โดยการบุกค้นล่าสุดโฟกัสที่ศูนย์บัญชาการของคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพที่รายงานระบุว่า ตกลงให้ความร่วมมือในการสอบสวน
ตำรวจยังเข้าค้นศูนย์บัญชาการกองทหารประจำกรุงโซลของกองทัพที่ถูกเรียกตัวให้ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)