xs
xsm
sm
md
lg

แหลกเละเพราะใคร! สหรัฐฯ ยุลากตัว 'อัสซาด' มาลงโทษ แบะท่าช่วยซีเรียฟื้นฟูประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุในวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.) ว่าประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ผู้ถูกขับไล่ ควรถูกลงโทษ แต่เรียกการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศแห่งนี้ว่าเป็น "โอกาสประวัติศาสตร์" สำหรับชาวซีเรีย ในการสร้างประเทศของตนเองขึ้นมาใหม่

ในการแสดงปฏิกิริยาอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกต่อกรณีที่ อัสซาด ถูกโค่นอำนาจโดยพันธมิตรกลุ่มก๊กกบฏที่นำโดยพวกอิสลามิสต์กลุ่มหนึ่ง ไบเดนเตือนว่า วอชิงตัน "จะยังคงระแวดระวัง" ต่อการโผล่ขึ้นมาของกลุ่มก่อการร้ายใดๆ พร้อมแจ้งว่ากองกำลังสหรัฐฯ เพิ่งปฏิบัติการโจมตีระลอกใหม่เล่นงานพวกกลุ่มติดอาวุธจากองค์กรรัฐอิสลาม (ไอเอส)

"การล่มสลายของรัฐบาล คือหลักการพื้นฐานแห่งความยุติธรรม" ไบเดนกล่าวจากทำเนียบขาว "มันคือช่วงเวลาแห่งโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ สำหรับประชาชนชาวซีเรียที่ทุกข์ทรมานมาช้านาน"

เมื่อถูกพวกผู้สื่อข่าวถามว่าควรดำเนินการอย่างไรกับประธานาธิบดีผู้ถูกขับไล่ ซึ่งมีข่าวว่าหลบหนีไปยังมอสโก ไบเดน ตอบว่า "อัสซัด ควรถูกลงโทษ"

ไบเดน ซึ่งจะพ้นตำแหน่งในเดือนมกราคม เปิดทางให้ โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน ก้าวเข้าสู่อำนาจ กล่าวต่อว่าวอชิงตันจะให้ความช่วยเหลือชาวซีเรียในการฟื้นฟูประเทศ "เราจะประสานงานกับชาวซีเรียทุกกลุ่ม ในนั้นรวมถึงกระบวนการที่นำโดยสหประชาชาติ เพื่อสถาปนาการเปลี่ยนผ่านออกจากรัฐบาลอัสซาด และมุ่งหน้าสู่ความเป็นเอกราชและอธิปไตยของซีเรีย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่"

อย่างไรก็ตาม ไบเดน เตือนว่าพวกกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงที่อยู่ภายใต้สังกัดของพันธมิตรกบฏผู้ได้รับชัยชนะ จะถูกพินิจพิเคราะห์อย่างเข้มข้น "พวกกบฏบางกลุ่มที่โค่นล้มอัสซาด มีประวัติมัวหมองในด้านก่อการร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชน" ผู้นำสหรัฐฯ กล่าาว "อเมริกาจดจำถ้อยแถลงเมื่อเร็วๆ นี้ของพวกกบฏ ที่บอกว่าเวลานี้พวกเขาเป็นพวกสายกลางแล้ว แต่เราจะประเมินไม่ใช่แค่คำพูด แต่เป็นการกระทำของพวกเขา"

ไบเดน กล่าวต่อว่า วอชิงตันมีมุมมองอย่างชัดเจนว่า พวกกลุ่มหัวรุนแรงรัฐอิสลาม (ไอเอส) อาจพยายามฉวยโอกาสแห่งสุญญากาศใดๆ ในการคืนชีพตนเองในซีเรีย "เราจะไม่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น" ผู้นำอเมริกากล่าว พร้อมระบุกองกำลังสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีเล่นงานไอเอสภายในซีเรีย

ข่าวคราวการหลบหนีของอัสซาด มีขึ้นไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากกลุ่มอิสลามิสต์ ฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (Islamist Hayat Tahrir al-Sham) ท้าทายระบบการปกครองตระกูลอัสซาดที่ยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ ด้วยการจู่โจมสายฟ้าแลบ ฝ่าแนวหน้าต่างๆ ที่ตรึงอยู่กับที่มานาน ในสงครามกลางเมืองซีเรีย

ถ้อยแถลงของกลุ่มในวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.) ระบุว่าพวกเขายึดกรุงดามัสกัสได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอัสซาดหลบหนี กระตุ้นให้เกิดการเฉลิมฉลองทั่วประเทศ และการปล้นสะดมคฤหาสน์หรูของผู้นำรายนี้ แหล่งข่าววังเครมลินเผยกับสื่อมวลชนรัสเซีย ว่าอัสซาดและครอบครัวเวลานี้อยู่ในกรุงมอสโก

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มองในมุมบวกเช่นเดียวกับ ไบเดน บอกว่าหลังความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมา 14 ปี ท้ายที่สุดแล้วประชาชนชาวซีเรียก็มีเหตุผลแห่งความหวัง อย่างไรก็ตาม เขาเน้นย้ำว่ามีความจำเป็นสำหรับความยุติธรรมและการระแวดระวัง

"เราจะสนับสนุนความพยายามระดับนานาชาติ ในการลงโทษระบอบอัสซาด และบรรดาผู้สนับสนุน ในฐานกระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนและล่วงละเมิดต่างๆ ต่อประชาชนชาวซีเรีย ในนั้นรวมถึงการใช้อาวุธเคมี" บลิงเคนระบุ

หนึ่งในความกังวลคือชะตากรรมของคลังแสงอาวุธดังกล่าวของรัฐบาลซีเรีย ท่ามกลางข้อวิตกว่ามันอาจตกไปอยู่ในมือของพวกกบฏ "เราจะใช้มาตรการรอบคอบอย่างยิ่งในเรื่องนี้" เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ รายหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวในวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.)

"กองทัพสหรัฐฯ มีความแม่นยำอย่างยิ่งในตำแหน่งที่ตั้งของอาวุธเคมีเหล่านี้" เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุ "เรากำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อรับประกันด้วยความรอบคอบว่าวัตถุเหล่านี้จะไม่ตกเป็นอยู่ในมือใคร หรืออยู่ภายใต้การดูแลของใคร"

ดามัสกัส ถูกกล่าวหามาหลายครั้งว่าใช้อาวุธเคมี ข้อกล่าวหาที่พวกเขาปฏิเสธ

กองทัพสหรัฐฯ มีทหารราว 900 นายในซีเรียและราว 2,500 นายในอิรัก ส่วนหนึ่งในพันธมิตรนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี 2014 เพื่อช่วยต่อสู้กับพวกไอเอส บ่อยครั้งที่พวกเขาเล็งเป้าโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในซีเรีย ในนั้นรวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับพวกติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ในขณะที่เตหะรานเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญของรัฐบาลอัสซาด

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น