โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ที่ออกอากาศในวันอาทิตย์ (8 ธ.ค.) ว่าจะดำเนินการตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่ง ในการอภัยโทษแก่พวกผู้ก่อจลาจลที่เกี่ยวกับเหตุจู่โจมอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 โหมกระพือความคาดการณ์มากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับการอนุมัติอภัยโทษอย่างกว้างขวางในสมัยของเขา
"ผมจะดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด ตั้งแต่วันแรกเลย" ทรัมป์กล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ ในรายงาน "มีตเดอะเพรส กับคริสเทน เวลเกอร์" เมื่อถูกถามว่าเขามีแผนอภัยโทษหรือไม่ ให้แก่บรรดาผู้สนับสนุนที่ถูกดำเนินคดีในเหตุโจมตีที่มีเป้าหมายล้มผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2020 ที่เขาตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ทรัมป์ บอกกับเวลเกอร์ ว่าการนิโทษกรรมของเขา "อาจมีข้อยกเว้นบางอย่าง หากบุคคลนั้นๆ กระทำรุนแรงหรือทำเรื่องบ้าๆ ระหว่างการจู่โจม" ซึ่งทำให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บมากกว่า 140 นาย และมีหลายคนเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ ให้คำจำกัดความการดำเนินคดีกับบรรดาผู้สนับสนุนของเขา ว่าเป็นการคอร์รัปชันโดยเนื้อแท้ และไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ในการอภัยโทษจำเลยมากกว่า 900 คน ที่ยอมรับสารภาพผิดแล้ว ในนั้นรวมถึงบรรดาผู้ถูกล่าวหากระทำการรุนแรงในการโจมตี "ผมจะตรวจสอบทุกๆ อย่าง เราจะพิจารณาเป็นรายบุคคล"
ความเห็นครั้งนี้ของทรัมป์ ถือเป็นการให้รายละเอียดมากที่สุดในประเด็นการอภัยโทษ นับตั้งแต่ที่เขาเอาชนะรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และดูเหมือนเพิ่มการคาดการณ์ที่สูงลิ่วอยู่ก่อนแล้ว ว่าเขาจะดำเนินการอภัยโทษอย่างครอบคลุม ครั้งที่สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม
ความหวังในบรรดาจำเลยเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคมและเหล่าผู้สนับสนุน สำหรับการได้รับอภัยโทษอย่างครอบคลุม เริ่มสูงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว หลังตัวประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอง อภัยโทษให้ ฮันเตอร์ ไบเดน ผู้เป็นลูกชาย กลับลำคำประกาศกร้าวก่อนหน้านี้ ว่าจะไม่แทรกแซงคดีอาญาของบุตรชาย
ไบเดน อ้างว่า ฮันเตอร์ ควรได้รับการอภัยโทษ เพราะว่าเขาเป็นเหยื่อของการตามประหัตประหารทางการเมือง ข้อโต้แย้งที่ดูเหมือน ทรัมป์ จะใช้อ้างความชอบธรรมในการอภัยโทษหมู่เช่นกัน กระตุ้นให้บางส่วนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ไบเดน โดยบอกว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีรายนี้ กลับกลายเป็นการช่วย ทรัมป์ ให้ได้รับความเสียหายทางการเมืองน้อยลงกว่าเดิม
คิมเบอร์ลี เวช์ล ศาสตราจารย์จากสถาบันกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยบัลติมอร์ กล่าวว่าเธอกังวลว่าการนิรโทษกรรมอย่างกว้างขวางให้แก่เหล่าจำเลยในคดี 6 มกราคม จะถูกใช้เป็นแรงจูงใจในทางที่ผิด กระพือความไม่สงบหรือแม้แต่ก่อความรุนแรงในนามของประธานาธิบดี
"มันเป็นแนวคิดที่เหมือนกับว่าเขากำลังตบรางวัลแก่พวกที่ละเมิดกฎหมายในนามของเขา ในความเกี่ยวข้องกับความพยายามล้มผลการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มันเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน" เวช์ลกล่าว
ในสิ่งที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นการสืบสวนทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา มีจำเลยอย่างน้อย 1,572 คน ถูกตั้งข้อหาในเหตุจู่โจมอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 โดยคำฟ้องทางอาญาเหล่านั้น ไล่ตั้งแต่เข้าไปในพื้นที่หวงห้ามโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปจนถึงสมคบคิดยุยงปลุกปั่นความไม่สงบ และประทุษร้ายรุนแรง
จากจำเลยทั้งหมด มีอยู่ 1,251 ราย ที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดหรือยอมรับสารภาพผิด และมีอยู่ 645 ราย ที่ถูกลงโทษจำคุก ไล่ตั้งแต่ไม่กี่วันไปจนถึงสูงสุด 22 ปี
จอห์น เพียร์ซ ทนายความที่เป็นตัวแทนของจำเลยเหตุการณ์ 6 มกราคม เรียกร้องให้ ทรัมป์ ออกคำสั่งอภัยโทษครอบคลุมทุกคนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเข้าร่วมในเหตุจลาจล "ผมคิดว่าคุณ จะเห็นผู้คนในหมู่ประชาคม 6 มกราคม ไม่พอใจมากมาย ถ้าการอนุมัติอภัยโทษดำเนินการบนพื้นฐานเป็นรายกรณี"
(ที่มา : รอยเตอร์)