กบฏซีเรียออกมาแถลงทางสถานีโทรทัศน์ของประเทศในวันนี้ (8 ธ.ค.) ว่า พวกเขาสามารถยุติการปกครองเผด็จการ 24 ปีของ บาชาร์ อัล-อัสซาด ได้แล้ว ในการประกาศครั้งแรกของพวกเขาทางสื่อมวลชนระดับชาติของรัฐ ภายหลังการบุกอย่างรวดเร็วสายฟ้าแลบที่ทำให้โลกตะลึงรวมทั้งสร้างความหวาดผวาว่าจะเกิดกระแสคลื่นแห่งความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพระลอกใหม่ขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งเวลานี้ก็มีสงครามปะทุขึ้นในหลายจุดอยู่แล้ว
ขณะที่กองบัญชาการกองทัพของซีเรีย ได้แจ้งให้พวกนายทหารทราบในวันอาทิตย์ (8) เช่นกันว่า ระบอบปกครองอัสซาดจบสิ้นลงแล้ว นายทหารซีเรียผู้หนึ่งซึ่งทราบข้อมูลความเคลื่อนไหวเรื่องนี้บอกเล่าให้สำนักข่าวรอยเตอร์ฟัง
ทว่าในเวลาต่อมา กองทัพซีเรียออกมาแถลงว่ายังคงกำลังปฏิบัติการต่อสู้กับ “พวกกลุ่มผู้ก่อการร้าย” ตามเมืองเล็กเมืองน้อยต่างๆ ของจังหวัดฮามา และฮอมส์ ตลอดจนพื้นที่ชนบทของจังหวัดดะระอา
ทางด้านนายทหารอาวุโสของกองทัพซีเรีย 2 รายบอกกับรอยเตอร์ว่า อัสซาด ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยสามารถปราบปรามบดขยี้การก่อกบฏตลอดจนการคัดค้านเขาในทุกรูปแบบเรื่อยมา เวลานี้ได้หลบหนีออกจากเมืองหลวงดามัสกัส ไปยังสถานที่ซึ่งไม่มีการเปิดเผย ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ของวันอาทิตย์แล้ว ขณะที่พวกกบฏแจ้งว่า พวกเขเฝาสามารถบุกเข้าเมืองหลวงได้โดยไม่มีสัญญาณว่ามีกองทหารใดๆ ประจำการอยู่ในดามัสกัสเลย
“พวกเราขอเฉลิมฉลองกับประชาชนซีเรีย สำหรับข่าวเรื่องการปลดปล่อยเหล่านักโทษของเราและการปลดโซ่ตรวนของพวกเขา และขอประกาศการสิ้นสุดของยุคแห่งความอยุติธรรมในเรือนจำเซดนายา” ฝ่ายกบฏแถลง โดยอ้างอิงถึงเรือนจำทหารขนาดใหญ่ในชานกรุงดามัสกัส ซึ่งรัฐบาลซีเรียใช้กักขังผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเอาไว้เป็นพันๆ คน
ผู้นำของกลุ่มชาวซีเรียฝ่ายค้านที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศกลุ่มใหญ่ที่สุด ฮาดี อัล-บาหรา ซีเรียน ประกาศว่า เวลานี้ ดามัสกัส “ไม่มี บาชาร์ อัล-อัสซาด แล้ว”
ในกรุงดามัสกัส ผู้คนเรือนพันเรือนหมื่นทั้งที่อยู่ในรถและเดินถนน มารวมตัวกันที่จตุรัสใหญ่แห่งหนึ่ง พวกเขาโบกธงและตะโกนว่า “เสรีภาพ” ที่ได้เป็นอิสระจากการปกครองของครอบครัวอัสซาด ซึ่งเมื่อรวมเวลาในการครองอำนาจของบิดาของบาชาร์ ด้วย ก็เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ ผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายบอก
การพังครืนอย่างน่าตื่นตาตื่นใจคราวนี้ เป็นหลักหมายแสดงถึงช่วงเวลาสั่นสะเทือนรุนแรงแบบแผ่นดินไหวสำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยยุติการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเผด็จอำนาจของครอบครัวอัสซาดเหนือซีเรีย อีกทั้งเป็นการตีกระหน่ำอย่างหนักหน่วงเข้าใส่รัสเซียและอิหร่าน ซึ่งเวลานี้ได้สูญเสียพันธมิตรรายหนึ่ง ณ บริเวณหัวใจของภูมิภาคแถบนี้ไปแล้ว นอกจากนั้นยังสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้นให้แก่ความดุดันโหดเหี้ยมของสงครามในกาซา
ฝีก้าวอันรวดเร็วยิ่งของเหตุการณ์ สร้างความตะลึงงันให้แก่เมืองหลวงต่างๆ ของรัฐอาหรับ และก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดกระแสคลื่นของความไร้เสถียรภาพระลอกใหม่ขึ้นมาในภูมิภาคนี้
สำหรับซีเรียแล้ว สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่ง ภายหลังตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดจากสงครามกลางเมืองมาอย่างยาวนานมากกว่า 13 ปี ซึ่งได้เปลี่ยนให้เมืองใหญ่ๆ กลายเป็นกองปรักหักพัง, ผู้คนถูกคร่าชีวิตไปเป็นแสนๆ , และคนอีกหลายล้านถูกบังคับให้หนีไปต่างแดนในฐานะผู้ลี้ภัย
เห็นกันว่าการสร้างเสถียรภาพขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันตกของซีเรียที่ฝ่ายกบฎยึดได้ขณะบุกตะลุยคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว จะกลายเป็นกุญแจสำคัญ พวกรัฐบาลชาติตะวันตก ซึ่งได้มองเมินไม่ยอมรับรัฐที่นำโดยอัสซาดมาเป็นแรมปี มาถึงตอนนี้ต้องตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรกับคณะบริหารชุดใหม่ ซึ่งกลุ่ม ฮายัต
ตอห์รีร์ อัล-ชาม (เอชทีเอส) ที่ถูกทั่วโลกประทับตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ทำท่าว่าจะมีอิทธิพลสูงลิ่ว
เอชทีเอส ซึ่งเป็นกองกำลังหัวหอกของการรุกคืบของฝ่ายกบฏไปตลอดทั่วทั้งภาคตะวันตกซีเรีย
ในระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา คืออดีตเครือข่ายของอัลกออิดะห์ สาขาซีเรีย โดยเป็นที่รู้จักกันในนามว่า อัล นุสรา ฟรอนต์ จวบจนกระทั่งผู้นำของกลุ่มนี้ คือ อบู โมฮัมเหม็ด อัล-กอลานี ประกาศสะบั้นความสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ในปี 2016
“คำถามที่ต้องถามกันอย่างจริงจังก็คือว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะเป็นไปอย่างมีระเบียบมากน้อยแค่ไหน และมันดูเหมือนค่อนข้างชัดเจนทีเดียว่า กอลานี กระตือรือร้นอย่างยิ่งที่จะให้มันอยู่ในสภาพที่เป็นระเบียบเรียบร้อย” เป็นความเห็นของ โจชัว แลนดิส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องซีเรีย และผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อตะวันออกกลางศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา ในสหรัฐฯ
กอลานี จะไม่ต้องการให้เกิดความอลหม่านวุ่นวายซ้ำรอยกับที่เคยเกิดขึ้นทั่วอิรักภายหลังกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯเข้าโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน ในปี 2003 “พวกเขาจะต้องฟื้นฟูบูรณะ ... พวกเขาจำเป็นจะต้องให้ยุโรปและสหรัฐฯยอมยกเลิกการแซงก์ชั่น” แลนดิส ให้ความเห็น
เอชทีเอส นั้น คือกลุ่มกบฏที่แข็งแกร่งที่สุดในซีเรีย และชาวซีเรียบางคนยังคงหวาดกลัวว่า กลุ่มนี้จะบังคับใช้ระเบียบกฎหมายแบบอิสลามิสต์ที่เข้มงวดเหี้ยมโหด หรือดำเนินการแก้แค้นเอาคืนอย่างชวนสยองเอากับกลุ่มที่เคยเป็นปรปักษ์กับพวกเขามาก่อน
หลายประเทศในตะวันออกกลาง อย่างเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอียิปต์ ซึ่งต่างเป็นพันธมิตรสนิทของสหรัฐฯ มองพวกกลุ่มนักรบอิสลามิสต์ทั้งหลายว่าเป็นภัยคุกคามความอยู่รอด ดังนั้น เอชทีเอส จึงอาจเผชิญแรงต่อต้านจากเหล่ามหาอำนาจระดับภูมิภาคก็เป็นได้
ในการประชุมครั้งหนึ่งที่กรุงมานามา เมืองหลวงของบาห์เรน อันวาร์ การ์กาช ที่ปรึกษาทางการทูตของประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กล่าวว่า ความวิตกกังวลข้อหลักประการหนึ่งสำหรับประเทศของเขาคือ “ลัทธิสุดโต่งและลัทธิก่อการร้าย”
ณ เวลาที่ชาวซีเรียกำลังแสดงความปิติยินดี นายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด กาซี อัล-จาลีลี ออกมาแถลงในวันอาทิตย์ว่า ตัวเขาพร้อมแล้วที่จะสนับสนุนการบริหารปกครองให้สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และจะร่วมมือกับคณะผู้นำใดๆ ก็ตามทีที่ได้รับเลือกจากประชาชนชาวซีเรีย ทั้งนี้เขาแสดงความปรารถนาว่าซีเรียควรต้องมีการเลือกตั้งแบบเสรี เพื่อที่ชาวซีเรียจะได้สามารถเลือกผู้คนที่พวกเขาต้องการ
อย่างไรก็ดี สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างราบรื่นขึ้นมาก่อน ในประเทศที่เต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างสลับซับซ้อนระหว่างกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่พวกอิสลามิสต์ที่มุ่งหวังการปกครองแบบอิงศาสนา ไปจนถึงบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์โยงใยอยู่กับสหรัฐฯ บางกลุ่มก็สนิทกับรัสเซีย และบางกลุ่มก็ได้แรงหนุนจากตุรกี
จาลาลี กล่าวด้วยว่า เขาได้มีการติดต่อกับ อบู โมฮัมเหม็ด อัล-กอลานี ผู้บัญชาการของฝ่ายกบฏ ซึ่งก็เป็นผู้นำของกลุ่มเอชทีเอสด้วย เพื่อหารือถึงวิธีดำเนินการในระยะเปลี่ยนผ่านเช่นขณะนี้ เรื่องนี้ถือเป็นพัฒนาการที่น่าจับตามองในความพยายามที่จะกำหนดรูปร่างแห่งอนาคตทางการเมืองของซีเรีย
ข่าวไม่ยืนยันระบุเครื่องบินอัสซาดถูกสอยร่วงขณะพยายามหนี
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ไฟลต์เรดาร์ (Flightradar) ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเที่ยวบินต่างๆ ทั่วโลก มีเครื่องบินกองทัพอากาศซีเรียลำหนึ่งทะยานขึ้นจากสนามบินดามัสกัส ในเวลาราวๆ ช่วงซึ่งมีรายงานว่าเมืองหลวงซีเรียถูกยึดโดยพวกกบฏ
เครื่องบินลำดังกล่าวตอนแรกๆ บินไปทางดินแดนแถบชายฝั่งของซีเรีย ซึ่งเป็นที่มั่นแข็งแรงแห่งหนึ่งของชาวอะลาวิต ที่เป็นชาวมุสลิมนิกายกลุ่มน้อยที่ครอบครัวอัสซาดศรัทธานับถืออยู่ ทว่าจากนั้นเครื่องบินกลับหันหัวเลี้ยวอย่างกะทันหัน และบินไปในทิศทางตรงกันข้ามอีกราวสองสามนาที ก่อนที่จะหายวับไปจากแผนที่
รอยเตอร์รายงานเรื่องนี้ พร้อมระบุว่าในเฉพาะหน้านี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครบ้างที่อยู่บนเครื่องบินลำดังกล่าว
แต่มีแหล่งข่าวชาวซีเรีย 2 รายบอกว่า มีความน่าจะเป็นสูงมากที่อัสซาดอาจถูกสังหารแล้วในเหตุเครื่องบินตก ขณะนี้ยังคงเป็นปริศนาลึกลับว่า ทำไมเครื่องบินลำดังกล่าวจึงหันหัวเลี้ยวอย่างฉับพลัน และหายลับไปจากแผนที่ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ไฟลต์เรดาร์
“มันหายลับจากเรดาร์ เป็นไปได้ว่าช่องรับส่งผ่านสัญญาณ (transponder) ถูกปิด แต่ผมเชื่อว่าความน่าจะเป็นที่มากกว่านั้นก็คือว่าเครื่องบินดังกล่าวถูกสอยร่วง ...” แหล่งข่าวชาวซีเรียบอกโดยไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
สงครามกลางเมืองซีเรียมาถึงจุดจบ
สงครามกลางเมืองในซีเรียซึ่งปะทุขึ้นในปี 2011 ในฐานะการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของอัสซาด ได้ดึงเอาพวกมหาอำนาจหลายรายเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งก่อให้เกิดที่ทางซึ่งพวกนักรบญิฮาดสุดโต่งใช้ในการวางแผนเปิดการโจมตีทั่วโลก ตลอดจนส่งผู้ลี้ภัยจำนวนเป็นล้านๆ คนเข้าไปยังบรรดารัฐเพื่อนบ้าน
ก่อนหน้านี้ แนวรบด้านต่างๆ ของสงครามกลางเมืองอันสลับซับซ้อนในซีเรีย อยู่ในอาการสงบนิ่งมาเป็นแรมปีทีเดียว จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายกบฎที่นำโดยพวกอิสลามิสต์ เอชทีเอส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในเครือข่ายอัลกออิดะห์ ก็เปิดปฏิบัติการขึ้นมาอย่างฉับพลัน กลายเป็นการท้าทายอย่างใหญ่โตที่สุดต่ออัสซาด ผู้ที่สามารถอยู่รอดมาได้เป็นแรมปีท่ามลางสงครามซึ่งสู้รบกันอย่างทรหด และการถูกโดดเดี่ยวจากพวกชาติตะวันตก ทั้งนี้เขาได้รับความช่วยเหลืออย่างสำคัญจากรัสเซีย,
อิหร่าน และกลุ่มพันธมิตรของอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน
ทว่าพวกพันธมิตรของอัสซาดเวลานี้กลับต้องโฟกัสไปที่วิกฤตการณ์อื่นๆ รวมทั้งอยู่ในฐานะที่อ่อนแอลงจากวิกฤตเหล่านี้ด้วย ปล่อยให้อัสซาดต้องต่อสู้กับเหล่าศัตรูของเขาด้วยกองทัพซึ่งไม่มีความพรักพร้อมที่จะปกป้องเขาเลย
อิสราเอล ซึ่งเป็นผู้สร้างความอ่อนแออย่างสาหัสให้แก่กลุ่มต่างๆ ที่อิหร่านหนุนหลัง อย่าง ฮิซบอเลาะห์ในเลบานอน และฮามาสในกาซา น่าที่จะเฉลิมฉลองการถูกโค่นล้มของอัสซาด พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอีกรายหนึ่งของอิหร่าน กระนั้นโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีกลุ่มอิสลามิสต์ขึ้นเป็นผู้ปกครองซีเรียก็น่าจะก่อให้เกิดความกังวลใจ
หลังจากฝ่ายกบฏใช้เวลาไม่กี่วัน ก็สามารถลุกฮือขึ้นมายึดอะเลปโป เมืองทางภาคเหนือซีเรียที่ช่วงก่อนสงครามกลางเมืองเคยเป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศ จากนั้นก็บุกลงใต้ในสัปดาห์ที่แล้ว เข้ายึดเมืองฮามา เมืองใหญ่ที่อยู่ถัดมา และต่อด้วยเมืองฮอมส์ เมืองใหญ่อันดับสามของซีเรีย
การตีเมืองฮอมส์แตก ทำให้ฝ่ายกบฎสามารถควบคุมเหนือดินแดนหัวใจทางยุทธศาสตร์ของซีเรีย และพื้นที่ซึ่งเป็นทางแยกของทางหลวงสายสำคัญๆ เป็นการตัดขาดกรุงดามัสกัสออกจากภูมิภาคชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันเป็นที่มั่นของมุสลิมนิกายอะลาวิตของอัสซาด รวมทั้งเป็นจุดที่พันธมิตรรัสเซียของเขาสร้างฐานทัพเรือและฐานทัพอากาศแห่งหนึ่งเอาไว้
เมืองฮอมส์ เชื่อมอยู่กับกรุงดามัสกัส ตามทางหลวงระยะทางราว 160 กิโลเมตร ฝ่ายกบฎนำโดยเอชทีเอส สามารถเข้าเมืองหลวงซีเรียได้ ขณะที่สถานการณ์ที่เมืองฮอมส์ยังไม่ทันเรียบร้อยด้วยซ้ำ
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซีส์)