xs
xsm
sm
md
lg

จีนสามารถที่จะตอบโต้เอาคืนอย่างไรได้บ้างกับการขึ้นภาษีศุลกากรมหาโหดของ โดนัลด์ ทรัมป์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี โกลด์แมน


จีนมีหนทางและเครื่องมือหลายอย่างหลายประการในการตอบโต้เอาคืน เมื่อสงครามการค้ากับสหรัฐฯบานปลายขยายตัว สำหรับภาพนี้คือสภาพของท่าเรือชิงเต่า ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน ถ่ายเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2024
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

How China could strike back at Trump’s tariffs
by David P Goldman
25/11/2024

ระยะ 20 ปีที่ผ่านมา บรรดาอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งก็รวมทั้งพวกอุตสาหกรรมกลาโหมที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดด้วย ได้ใช้วิธี “เอาต์ซอร์ส” พึ่งพาอาศัยชิ้นส่วนจำนวนหลายหมื่นชิ้นที่ผลิตในจีน จึงกลายเป็นจุดอ่อนเปราะสำคัญจุดหนึ่งของอเมริกา ถ้าหากสงครามการค้าระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งเกิดบานปลายขยายตัว

พวกอุตสาหกรรมของอเมริกา รวมทั้งอุตสาหกรรมกลาโหมด้วย ได้ใช้วิธีการพึ่งพาอาศัยภายนอก (เอาซอร์ส outsource) เป็นอย่างมาก ในระหว่างระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยการนำเอาชิ้นส่วนสำคัญๆ จำนวนเป็นหมื่นๆ ชิ้นที่ผลิตจากจีน มาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ของพวกเขา โรงงานอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯนั้นไม่ได้มีการผลิตพวกอุปกรณ์ตัวเก็บประจุ (capacitor), หม้อสะสมไฟฟ้า (accumulator), เครื่องปั๊ม (pump), คอมเพรสเซอร์ (compressor), อุปกรณ์สลับสาย (switching equipment), และอุปกรณ์สำคัญจำเป็นอย่างอื่นๆ สำหรับกิจการสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าของสหรัฐฯ

สิ่งของเหล่านี้ไม่มีตัวไหนเลยที่ยากลำบากแก่การผลิตในโรงงาน หรือมีราคาแพงลิบลิ่วเมื่อมีการผลิตกันในปริมาณมาก ทว่าการสร้างความสามารถการผลิตทางอุตสาหกรรมขึ้นมาใหม่เพื่อให้ได้อินพุตสำคัญยิ่งยวดหลากหลายนานา จะเป็นเรื่องที่มีราคาแพงระยับสุดๆ สภาพที่ต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์หลักๆ เหล่านี้ที่นำเข้าจากจีน ทำให้อเมริกามีจุดอ่อนเปราะต่อการตอบโต้แก้เผ็ดของฝ่ายจีนในกรณีที่เกิดสงครามการค้าขึ้นมา

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เสนอขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 60% รวด เวลาเดียวกันนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยจีนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็ต้องการให้ถอดจีนออกจากสถานะเป็นคู่ค้าที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation trading status) ของอเมริกา ซึ่งสามารถนำไปสู่การจัดเก็บภาษีศุลกากรสูงถึง 100% ทีเดียว

การส่งออกของจีนมายังสหรัฐฯ ขึ้นไปถึงจุดสูงสุด ณ ระดับสูงกว่า 10% ของจีดีพีจีน (คำนวณมูลค่าเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อปี 2005 แต่ได้หล่นฮวบลงมาจนเหลือเพียงแค่ กว่า 2% ของจีดีพีในทุกวันนี้ ถ้าหากความสัมพันธ์ทางการค้าที่จีนมีอยู่สหรัฐฯแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ฝ่ายไหนจะได้รับความลำบากมากกว่ากัน? มันเป็นเรื่องยากที่จะคำนวณเมื่อคำนึงถึงพวกตัวแปรทั้งหลายทั้งปวง กระนั้นาควรจะพูดได้ว่า สหรัฐฯอาจจะเป็นฝ่ายที่ต้องเจอกับความเลวร้ายยิ่งกว่า

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์
เอเชียไทมส์ได้เป็นผู้เผยแพร่รายงานการศึกษาชิ้นแรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนได้ปรับเปลี่ยนเส้นทางสำหรับสินค้าส่งออกของพวกเขามายังสหรัฐฯเป็นจำนวนมหึมาทีเดียวเสียใหม่แล้ว โดยหันไปส่งผ่านพวกประเทศที่สาม (ดูเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง The Great re-shoring charade เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2023 https://asiatimes.com/2023/04/the-great-re-shoring-charade/)

ตั้งแต่นั้นมา ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ), ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์), ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (บีไอเอส), รวมทั้งสำนักงานของวุฒิสมาลิกมาร์โก รูบิโอ (Marco Rubio ผู้ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของเขา -ผู้แปล) ต่างได้จัดทำและเผยแพร่หลักฐานที่เป็นการสนับสนุนเรื่องนี้ เวียดนามและเม็กซิโกเวลานี้ส่งออกสินค้าเป็นปริมาณสูงเท่ากับ 25% ของจีดีพีของพวกเขาทีเดียวมายังสหรัฐฯ อย่างที่ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ข้างต้นนี้ สินค้าออกของจีนมายังสหรัฐฯเอง กลับอยู่ในระดับแค่เกิน 2% นิดหน่อย

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์
การที่อเมริกาล้มเหลวไม่สามารถเร่งทวีการผลิตเครื่องกระสุนที่จะจัดส่งไปให้ยูเครนได้ สมควรที่จะเป็นสัญญาณเตือนภัยประการหนึ่งสำหรับพวกผู้วางนโยบายทั้งหลาย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 สหรัฐฯผลิตลูกกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 ม.ม. ได้เพียง 30,000 ลูกต่อเดือน ซึ่งเพียงพอแก่การใช้สอยของยูเครนแค่ 3 วันเท่านั้น เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) บอกว่าคาดหวังจะยกระดับจำนวนนี้ให้ขึ้นเป็น 70,000 ลูก หรือเพียงพอสำหรับการใช้ใน 1 สัปดาห์ ภายในต้นปี 2025

สหรัฐฯเวลานี้ไม่สามารถเข้าเกียร์สูงเพื่อเร่งผลิตลูกกระสุนปืนใหญ่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่าตั้งแต่ 100 ปีที่แล้วได้ ลองเอาปัญหาคอขวดเรื่องลูกกระสุนปืนใหญ่นี้มาคูณด้วย 10 หรือสัก 100 ก็จะมองเห็นภาพของผลกระทบ หากฝ่ายจีนคัดเลือกการส่งออกมายังสหรัฐฯบางอย่างบางรายการ มาขึ้นบัญชีออกประกาศห้าม

มีนักวิเคราะห์บางรายแสดงความกังวลในเรื่องที่อเมริกาต้องนำเข้ายาเวชภัณฑ์จากจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกยาปฏิชีวนะ อย่างไรก็ดี สงครามการค้าในเรื่องยาไม่น่าที่จะเกิดขึ้นมาหรอก เพราะจีนก็เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของยาเวชภัณฑ์อเมริกันเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น พวกยาบำบัดรักษามะเร็ง

เวลานี้ความสนใจรวมศูนย์โฟกัสอยู่ที่ความเป็นไปได้ที่จีนจะคว่ำบาตรไม่ให้ส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ (rare earth) มายังสหรัฐฯ รวมทั้งระเบียบใหม่ของจีนเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนการส่งออกพวก แกลเลียม (gallium), เจอร์มาเนียม (germanium), และกราไฟต์ (graphite) ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ต้องใช้ในเซมิคอนดักเตอร์ สิ่งที่น่าวิตกยิ่งกว่านั้นเสียอีก จะเป็นการคัดสรรเลือกห้ามส่งออกส่วนประกอบทางอุตสาหกรรมสำคัญๆ โดยพุ่งเป้าหมายเล่นงานพวกอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาพอ่อนเปราะอยู่แล้ว

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์
“ความอ่อนแอของห่วงโซ่อุปทานสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดนั้น เป็นปัญหาสาหัสร้ายแรงและก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง สหรัฐฯและเหล่าพันธมิตรทั้งหลายได้ยินยอมปล่อยให้พวกเขาเองกลายเป็นนักโทษของประดากลุ่มผูกขาดจีน ที่เป็นผู้ควบคุมการผลิตพวกส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์, แม่เหล็กแรงสูง, แผงวงจรพิมพ์, เครื่องคอมพิวเตอร์, โดรน, โลหะแรร์เอิร์ธ, กังหันลม, แผงโซลาเซลล์, โทรศัพท์มือถือ, และแบตเตอรีลิเธียม ... ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนประกอบของโครงข่ายอัจฉริยะทางดิจิตอลที่อิงอยู่กับเทคโนโลยีแทบทุกอย่างทีเดียว ต้องพึ่งพาอาศัยชิ้นส่วนซึ่งจีนเป็นผู้ผลิต” ไบรเอน เชียฮาน (Brien Sheahan) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปคนหนึ่งทางด้านกำกับดูแลกฎระเบียบของสหรัฐฯ เขียนเอาไว้เช่นนี้ในเดือนเมษายน 2023

อุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐฯ ก็มีการเอาซอร์สการผลิตไปยังจีนเช่นเดียวกัน ในการให้สัมภาษณ์สื่อไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2023 เกร็ก เฮย์ส (Greg Hayes) ซีอีโอของบริษัทเรย์ธีออน (Raytheon) บอกว่า บริษัทของเขามี “ซัปพลายเออร์หลายพันรายในประเทศจีน และการแยกขาดออกจากกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราสามารถที่จะลดความเสี่ยง แต่ไม่สามารถที่จะให้แยกขาดจากกัน” นอกจากนั้นเขาบอกด้วยว่า เรื่องเช่นนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้น “สำหรับทุกๆ คน” ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ

เฮย์ส กล่าวอีกว่า “ลองคิดให้ดีนะครับ การค้ามูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียวที่มาจากจีนเข้าสู่สหรัฐฯอยู่ทุกๆ ปี มากกว่า 95% ของวัสดุแร่แรร์เอิร์ธ หรือโลหะแร่แรร์เอิร์ธ มาจากจีน หรือไม่ก็ถูกแปรรูปในจีน มันไม่มีทางอื่นให้เลือกเลย ถ้าเราต้องถอนตัวออกมาจากจีนแล้ว เราจะต้องใช้เวลาหลายปีมากๆ ในการก่อตั้งสมรรถนะเช่นนี้ขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งขึ้นภายในประเทศ หรือในประเทศเพื่อนมิตรแห่งอื่นๆ ก็ตามที”

เรย์ธีออนคือผู้ผลิตขีปนาวุธร่อน โทมาฮอว์ก (Tomahawk cruise missile), ขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่ภาคพื้นดิน มาเวอริก (Maverick air-to-surface missile), ขีปนาวุธต่อสู้รถถัง แจฟลิน (Javelin anti-tank missile), และอาวุธสำคัญๆ อย่างอื่นๆ ในคลังแสงอเมริกัน

คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมการผลิต ไม่ได้มีการเติบโตขยายตัวเลยในรอบ 20 ปีที่ผ่าน (คำนวณจากดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับการลงทุนภาคเอกชนในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ Producer Price Index for private capital equipment โดยมีการปรับปัจจัยด้านอัตราเงิน เฟ้อเพื่อให้เปรียบเทียบได้ชัดเจนยิ่งขึ้น) การฟื้นตัวขึ้นมาระยะสั้นๆ ภายหลังภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008 ได้ดำเนินไปสู่ภาวะชะงักงันในระหว่างช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์
สหรัฐฯยังอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตที่มีทักษะความชำนาญอย่างร้ายแรงยิ่งยวด เมื่อตอนที่กิจกรรมอุตสาหกรรมการผลิต (ใช้ตัวเลขดัชนีของธนาคารกลางสหรัฐฯ) ขึ้นไปถึงขีดสูงสุดในปี 2007 มีตำแหน่งงานในโรงงานเพียงแค่ 85,000 ตำแหน่งเท่านั้นที่หาคนมาบรรจุไม่ได้ ทุกวันนี้มีตำแหน่งงานในโรงงานที่หาคนมาบรรจุไม่ได้ 500,000 ตำแหน่ง พวกโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตตลอดจนพวกสมาคมการค้าของพวกเขาต่างพูดว่า ข้อจำกัดข้อใหญ่ที่สุดในกิจกรรมของพวกเขา ก็คือการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์
ในการก่อตั้งแถวเพื่อการผลิตในโรงงานขึ้นมาสักแถวหนึ่ง คุณจำเป็นต้องมีช่างเครื่องดูแลเครื่องจักรหลายๆ คน สหรัฐฯเวลานี้มีช่างเครื่องดูแลเครื่องจักรอยู่เพียงแค่ 270,000 คน เปรียบเทียบกับในปี 2000 ซึ่งมี 470,000 คน

กราฟฟิก: เอเชียไทมส์
การผลิตทางอุตสาหกรรมแบบ เฟล็กซ์ (Flex manufacturing) ซึ่งหมายถึงการผลิตที่เป็นแบบอัตโนมัติสูง โดยมีการใช้หุ่นยนต์และการควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ สามารถที่จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนช่างเครื่องได้ ทว่าสหรัฐฯอยู่ในฐานะล้าหลังในเรื่องนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อเมริกานั้นมีหุ่นยนต์ทางอุตสาหกรรมที่ติดตั้งแล้วเพียง 285 ตัวต่อคนงาน 10,000 คน เปรียบเทียบกับ 392 ตัวในจีน และ 1,012 ตัวในเกาหลีใต้

สหรัฐฯสามารถที่จะสร้างโปรแกรมฝึกอบรมหลักสูตรเร่งรัดขึ้นมา สำหรับฝึกพวกคนงานทางอุตสาหกรรม, ใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหมมาเป็นเงินทุนสำหรับการผลิตที่ทรงความสำคัญยิ่งยวด และระดมทรัพยากรต่างๆ ของอุตสาหกรรมอเมริกาอย่างเต็มที่เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทว่าระยะเวลา 1 เสี้ยวศตวรรษของการเอาต์ซอร์สทางอุตสาหกรรม, การหั่นลดกำลังแรงงาน, และการลงทุนต่ำเกินไปในทุนเครื่องจักรอุปกรณ์ ไม่สามารถที่จะแก้ไขคลี่คลายได้ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์หรือกระทั่งไม่กี่เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น