xs
xsm
sm
md
lg

‘ยุโรป’ว้าวุ่น‘นาโต้’จะรับมือขีปนาวุธใหม่‘โอเรสนิก’ของรัสเซียยังไง ขณะ‘ทรัมป์’ก็ใกล้ขึ้นครองบัลลังก์ด้วยท่าทีพร้อมทอดทิ้งยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร


นักข่าวถ่ายภาพเศษชิ้นส่วนของขีปนาวุธลูกหนึ่ง ณ ศูนย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ของยูเครน ซึ่งไม่มีการเปิดเผยว่าตั้งอยู่ที่ไหน  เศษชิ้นส่วนเหล่านี้ซึ่งรวบรวมจากจุดที่ถูกโจมตีในเมืองดนิโปร เข้าใจกันว่าคือขีปนาวุธ “โอเรสนิก” ที่รัสเซียระบุว่ายิงใส่ดนิโปร ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2024
Atlanticists mobilise to salvage NATO as Russia toughens its stance
by M. K. BHADRAKUMAR
28/11/2024

ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกของรัสเซีย ที่ “ทดลอง” ยิงใส่เมืองดนิโปร ในยูเครน ได้สร้างความทุกข์ร้อนขึ้นในจิตใจของพวกชาติพันธมิตรนาโต้ในยุโรป เพราะมันบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทัศน์ขึ้นในสงครามยูเครน ในเมื่อฝ่ายรัสเซียมีอาวุธร้ายแรงแต่ยังไม่ใช่นิวเคลียร์ สำหรับใช้ตอบโต้เอาคืนการที่ฝ่ายตะวันตกและยูเครนใช้ขีปนาวุธทางยุทธวิธีพิสัยไกลอย่างเช่น อะแทคซิมส์ ยิงใส่แดนหมีขาว

จอร์จ ลูคัส (George Lucas) นักสร้างภาพยนตร์และเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกัน ที่เป็นผู้สร้างแฟรนไชส์ชุด สตาร์ วอร์ส (Star Wars) และ อินเดียนา โจนส์ (Indiana Jones) ครั้งหนึ่งเคยพูดว่า “ความกลัวเป็นเส้นทางไปสู่ด้านมืด (Dark Side) ความกลัวนำไปสู่ความโกรธ ความโกรธนำไปสู่ความเกลียด ความเกลียดนำไปสู่ความทุกข์” ภายในเวลา 1 สัปดาห์ที่รัสเซีย “ทดสอบ” ยิงขีปนาวุธรุ่น โอเรสนิก (Oreshnik) ความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic เร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) เข้าไปที่เมืองดนิโปรเปตรอฟสก์ (Dnipropetrovsk ชื่อเรียกในภาษารัสเซีย สำหรับยูเครนเวลานี้จะเรียกว่า ดนิโปร Dnipro) บริเวณตอนกลางของยูเครน ซึ่งเป็นอาวุธที่องค์การนาโต้ไม่มีอะไรจะเอามาป้องกันได้เลย กลุ่มพันธมิตรทางทหารของฝ่ายตะวันตกกลุ่มนี้ก็กำลังปรวนแปรหันเหฝ่าเข้าสู่ด้านมืด จากความกลัวไปจนถึงความเกลียดและกำลังพุ่งตัวไปสู่ความทุกข์ชนิดพูดไม่ออกบอกไม่ถูก

กระทรวงกลาโหมรัสเซียเพิ่งออกมาแถลงเปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่มี โอเรซนิก ปรากฎตัวขึ้นในพื้นที่สู้รบ ยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธอะแทคซิมส์ (ATACMS ขีปนาวุธทางยุทธวิธีที่สหรัฐฯจัดส่งให้ ซึ่งมีสมรรถนะยิงได้ระยะทางราว 300 กิโลเมตร ไกลเกินกว่าขีปนาวุธทางยุทธวิธีโดยทั่วไป) โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียเพิ่มขึ้นอีก 2 ระลอก โดยในการโจมตีระลอกแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ขีปนาวุธอะแทคซิมส์จำนวน 5 ลูก ถูกยิงเข้ามาเล่นงานหน่วยขีปนาวุธต่อสู้อากาศยานรุ่น เอส-400 (S-400) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหมู่บ้านโลตาเรฟกา (Lotarevka) ของแคว้นคูร์สก์ (Kursk) ระบบป้องกันขีปนาวุธ แพนต์ซีร์ (Pantsir) ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองหน่วยนี้อยู่ ได้ทำลายขีปนาวุธที่ยิงเข้ามาได้ 3 ลูก แต่มี 2 ลูกซึ่งสามารถพุ่งใส่เป้าหมายและสร้างความเสียหายให้แก่ส่วนเรดาร์ของระบบ นอกจากนั้นยังมีบุคลากรที่ได้รับบาดเจ็บล้มตายด้วย

สำหรับในการโจมตีครั้งที่ 2 ซึ่งมีการใช้ขีปนาวุธอะแทคซิมส์ 8 ลูกยิงใส่สนามบินคูร์สก์-วอสตอชนี (Kursk-Vostochny airfield) เมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.) มี 7 ลูกถูกยิงตก ขณะที่ขีปนาวุธลูกหนึ่งไปถึงเป้าหมาย เศษซากที่ตกลงมาสร้างความเสียหายเล็กน้อยให้แก่พวกสิ่งปลูกสร้างของโครงสร้างพื้นฐานแห่งนี้ รวมทั้งทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บเล็กน้อย 2 คน ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมรัสเซียย้ำว่า “กำลังตระเตรียมการปฏิบัติการเพื่อแก้เผ็ดเอาคืนอยู่”

พวกผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายทหารรัสเซียประมาณการว่า การโจมตีเหล่านี้มีการวางแผนเอาไว้ระยะหนึ่งแล้ว และฝ่ายอเมริกันคือผู้ดูแลเรื่องเป้าหมายที่เข้าโจมตี ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ทำเนียบขาวยังได้ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกเรื่องที่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายหันมาอนุญาตให้ใช้ อะแทคซิมส์ โจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซียได้ ทั้งนี้ นายพลเรือ จอห์น เคอร์บี (John Kirby) ผู้ประสานงานเพื่อการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (coordinator for strategic communications) ณ สภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว ในระหว่างการพูดจาจิปาถะหลายต่อหลายเรื่องกับสื่อมวลชนเมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.) ได้เปิดเผยเรื่องนี้ให้ทราบกัน โดยกล่าวว่า “ครับ ชัดเจนว่าเราได้เปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติ และได้ให้แนวทางปฏิบัติแก่พวกเขา (เคียฟ) ว่า พวกเขาสามารถใช้มัน (อะแทคซิมส์) สำหรับโจมตีใส่พวกเป้าหมายประเภทที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ได้”

หลังจากการโจมตี (โดยใช้อะแทคซิมส์) ในวันจันทร์ (25 พ.ย.) ยูเครนได้ขอให้เปิดการประชุมฉุกเฉินของสภานาโต้-ยูเครน (NATO–Ukraine Council) [1] ที่กรุงบรัสเซลส์ (ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนาโต้) ในระดับคณะผู้แทนถาวร หัวข้อหลักคือเรื่องโอเรสนิก และความจำเป็นที่จะต้องเสริมเติมระบบป้องกันภัยทางอากาศให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เลขาธิการนาโต้ มาร์ก รึตเตอ (Mark Rutte) กล่าวในเวลาต่อมาว่า “ความสนับสนุนของเราที่ให้แก่ยูเครน ช่วยเหลือให้พวกเขาสู้รบได้ แต่เราจำเป็นที่จะต้องทำให้มากกว่านี้อีกเพื่อเปลี่ยนแปลงวงโคจรของการสู้รบขัดแย้งนี้”

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นาโต้มีความวิตกกังวลมากเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลานี้ แต่ยังคงไม่ยอมรับถึงชัยชนะของรัสเซีย พวกหัวร้อนในประเทศตะวันตกจึงกำลังพูดกันอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการจัดส่งกำลังทหารโดยพวกประเทศสมาชิกนาโต้ไปยังยูเครนเพื่อการปฏิบัติการสู้รบ ซึ่งตอนเริ่มแรกทีเดียวถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายถกเถียงโดยประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่พูดสรุปได้อย่างง่ายๆ ว่า ถ้าหากสหรัฐฯไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะนำทหารภาคพื้นดินเข้ามาร่วมด้วยแล้ว ชาตินาโต้อื่นๆ ที่เหลือก็ได้แต่วิ่งพล่านไปทั่วเท่านั้นเอง สหราชอาณาจักรนั้นมีกองทัพที่มีกำลังพลเพียงแค่ 80,000 คนซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยทหารสู้รบไม่กี่หน่วย หรือเยอรมนีที่กองทัพมีกำลังพลมากหน่อย 175,000 คน แต่ก็ได้หลงลืมวิธีการทำการสู้รบไปเสียแล้ว ส่วนฝรั่งเศสก็กำลังจ่อมจมลึกลงไปในวิกฤตการณ์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ [2] สำหรับสหรัฐฯนั้น มติมหาชนเวลานี้คัดค้านสงคราม และว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่สามารถเพิกเฉยละเลยกับเรื่องนี้ได้

อย่างไรก็ดี ด้วยความหวาดกลัวว่า ทรัมป์ อาจจะหันหลังไม่ยอมเอาด้วยกับสงครามครั้งนี้แน่ๆ แล้ว จึงมีสำนักคิดหนึ่งในยุโรปเผยแพร่ไอเดียว่าพวกเขาจะเสนอบางสิ่งบางอย่างที่น่าสนใจซึ่งจะเป็นแรงจูงใจกระตุ้น ทรัมป์ ได้ เพิ่มเติมขึ้นมาจากเรื่องผลประโยชน์แร่ธาตุสำคัญยิ่งที่ยูเครนมีสำรองอยู่อย่างกว้างขวางมากมาย ขณะที่อเมริกันเองขาดแคลน ตัวอย่างของการอัดฉีดเสริมสร้างแรงจูงใจที่กล่าวมานี้ มีดังเช่น การเพิ่มแรงจูงใจทางการค้าให้แก่อเมริกา, การใช้จ่ายอุดหนุนนาโต้ให้มากขึ้น, การเพิ่มแรงกดดันบีบคั้นอิหร่าน, การก่อตั้ง “กองกำลังรักษาสันติภาพภาคพื้นดิน” ขึ้นมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ภายในยูเครน, การช่วยเหลือเรื่องที่ทรัมป์กำลังจะเปิดศึกปะทะต่อกรทางเศรษฐกิจกับจีน, และอื่นๆ เวลาเดียวกันนั้น ยังมีการระดมสมองเสนอความคิดกันอย่างมากมายอยู่ในสหรัฐฯ [3] เวลานี้ด้วยเช่นกัน เกี่ยวกับวิธีการที่จะรักษานาโต้ให้รอดพ้นจากมีดผ่าตัดของทรัมป์

คอลัมนิสต์รายหนึ่งในหนังสือพิมพ์การ์เดียน (Guardian) เขียน [4] เอาไว้ว่า “ถ้าหากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรเข้ายึดทรัพย์สินแห่งรัฐของรัสเซียจำนวน 300,000 ล้านดอลลาร์ ที่เวลานี้ถูกอายัดนอนกองอยู่ใน ยูโรเคลียร์ (Euroclear) โดยที่เป็นเงินซึ่ง ปูติน ตัดเป็นหนี้สูญไปนานแล้ว เราก็สามารถได้เงินกองใหญ่โตทีเดียวเข้ามาพิจารณากันบนโต๊ะประชุมหารือกันได้ ทรัมป์ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องใช้จ่ายเงินทองอะไรอื่นเพิ่มเติมอีกในเรื่องยูเครน –และเราก็สามารถซื้อหาอาวุธเพื่อจัดส่งให้ยูเครน อเมริกายังกระทั่งสามารถทำกำไรได้ด้วยซ้ำในเวลาเดียวกับที่รักษาสันติภาพให้มั่นคงในยุโรป โดยที่ทรัมป์ก็จะสามารถอวดโอ่ได้ถึงวิธีการที่เขาทำให้พวกยุโรปกาฝากเหล่านี้ต้องยอมควักกระเป๋า และพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกกล่าวร้ายวิพากษ์วิจารณ์เขานั้นผิดพลาดแล้ว ด้วยการเพิ่มพลังความคึกคักให้แก่กลุ่มพันธมิตรทางทหารที่เก่าแก่ผูกพันกันมายาวนานที่สุดของอเมริกา –โดยในเวลาเดียวกันนี้ก็ยังคงสามารถเดินหน้าการทำให้ “อเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง” ได้”
(ยูโรเคลียร์ Euroclear เป็นกิจการให้บริการเคลียร์บัญชีและชำระหนี้ธุรกรรมต่างๆ ทางด้านหลักทรัพย์ ตลอดจนเก็บรักษาให้บริการด้านสินทรัพย์แก่หลักทรัพย์เหล่านี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Euroclear)

ทั้งหมดเหล่านี้เป็นพยานยืนยันถึงความทุกข์ร้อนในจิตใจของพวกยุโรป เมื่อขีปนาวุธโอเรสนิกบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ขึ้นในสงครามยูเครน การวางเดิมพันด้วยท่าทีเย่อหยิ่งเชื่อมั่นในชัยชนะ จนกระทั่งตีความไปว่าการที่รัสเซียนำเรื่องการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา เป็นเพียงการบลั๊ฟกันเท่านั้น ถึงตอนนี้ก็ได้หลีกทางให้แก่ความรู้สึกหวาดกลัวเสียแล้ว ในเมื่อเวลานี้รัสเซียอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เลยในการตอบโต้เอาคืนการโจมตีใส่แดนหมีขาวของฝ่ายตะวันตกด้วยขีปนาวุธอย่างอะแทคซิมส์ เนื่องจาก โอเรสนิก นั้นไม่ได้เป็นอาวุธนิวเคลียร์ จึงหมายความว่ามันไม่ถูกจัดให้เป็นอาวุธแห่งการทำลายล้างมวลชน ทว่ามันก็เป็นอาวุธความแม่นยำสูงซึ่งเต็มแน่นไปด้วยพลังทำลายที่สามารถถอดรากถอนโคนเป้าหมายของมันได้ –โดยที่ฝายยุโรปไม่มีหนทางใดๆ เลยในการป้องกันต้านทาน

กล่าวโดยสรุป ถ้าหากแผนการของไบเดนคือต้องการทำให้สงครามยูเครนมีคุณสมบัติ “สามารถป้องกันการก่อกวนของทรัมป์” ด้วยการนำเอายุโรปและยูเครนบรรจุเอาไว้ในหีบห่อแน่นหนาอย่างที่สุด โดยวาดหวังว่าจะทำให้มันกลายเป็นกระสอบทรายที่สามารถทนทานต่อการโจมตีของรัสเซียไปได้เรื่อยๆ แล้ว ก็อย่าได้สำคัญผิดไปหน่อยเลย เนื่องจากในไม่ช้าไม่นาน โอเรสนิก จะทำให้แน่ใจกันได้เลยว่า มันจะไม่เหลือหลอกระทั่งระบอบปกครองตัวแทนในเคียฟสำหรับให้ฝ่ายตะวันตก “สนับสนุน” เสียด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า ที่จะต้องได้เห็นสภาพของเจ้าตัวแทนถูกหยามหมิ่นครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งทำให้ระลึกถึงความบกพร่องล้มเหลวของคนบงการ

การตอบโต้เพื่อมุ่งลงโทษของรัสเซียสำหรับการโจมตีด้วยอะแทคซิมส์ 2 ระลอกล่าสุดดังกล่าวข้างต้นกำลังใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว การที่สายสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหราชอาณาจักรกำลังเสื่อมทรามลงอย่างเลวร้าย บ่งชี้ถึงความน่าจะเป็นที่ว่าสหราชอาณาจักรอาจกำลังถูกมอสโกเล็งเป็นเป้า [5] ทั้งนี้หัวหน้าของหน่วยข่าวกรองสหราชอาณาจักรซึ่งประจำอยู่ในสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้ถูกสั่งขับไล่ออกไปจากรัสเซียแล้ว เวลาใกล้เคียงกันนั้นก็มีรายงานข่าวทางตะวันตกระบุว่า สหราชอาณาจักรได้มีการจัดส่งขีปนาวุธสตอร์ม แชโดว์ (Storm Shadow) จำนวนสำคัญทีเดียว (มีการระบุตัวเลขว่า 150 ลูก) ไปให้ยูเครนในระยะไม่นานมานี้ ภายหลังจากการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร ที่ เคียร์ สตาร์เมอร์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

อเล็กเซย์ เลออนคอฟ (Alexei Leonkov) ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารระดับท็อปชาวรัสเซีย บอกกับหนังสือพิม์อิซเวสเตีย (Izvestia) ดังนี้ “ตรงนี้คือข้อเท็จจริงของการที่สหรัฐฯเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย ตรงนี้คือเศษชิ้นส่วนของขีปนาวุธอะแทกซิมส์ ซึ่งมันสามารถที่จะระบุอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจนทีเดียว ดังนั้นเราจึงมีสิทธิที่จะโจมตีตอบโต้เอาคืน โจมตีที่ไหนและโจมตีอย่างไรจะตัดสินโดยกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เขา (ปูติน) พูดแล้วว่าพวกเขาจะถูกเตือนในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมา พวกศัตรูของเราจะต้องเตรียมตัวสำหรับการให้คำตอบ”

คำถามข้อใหญ่มีอยู่ว่า ถึงจุดไหนที่รัสเซียอาจจะโจมตีใส่พวกฮับทางทหารของนาโต้ในโรมาเนียและโปแลนด์ ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) อดีตประธานาธิบดีรัสเซียและปัจจุบันเป็นรองประธานสภาความมั่นคง ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนว่า ผลจะออกมายังไงนั้นมันเป็นไปได้ทุกอย่าง “ถ้าการสู้รบขัดแย้งนี้มีการพัฒนาไปโดยฉากทัศน์แห่งการยกระดับขยายตัวแล้ว มันก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิเสธอะไรทั้งนั้น เพราะพวกรัฐสมาชิกนาโต้นั้นในทางเป็นจริงแล้วได้เข้าเกี่ยวข้องกับการสู้รบขัดแย้งนี้อย่างเต็มที่แล้ว” เขาพูดเช่นนี้ในการให้สัมภาษณ์สื่อ อัล อราบิยา (Al Arabiya)

เมดเวเดฟ ยังกล่าวเสริมด้วยถ้อยคำที่ชวนให้หนาวสะท้าน [6] ว่า “พวกรัฐตะวันตกเหล่านี้ต้องตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า พวกเขาเข้าสู้รบแล้วโดยอยู่ทางฝ่ายยูเครน ... ขณะเดียวกัน พวกเขาเข้าสู้รบไม่เพียงด้วยการจัดส่งอาวุธและจัดหาเงินทองให้เท่านั้น พวกเขาเข้าสู้รบโดยตรงทีเดียว เนื่องจากพวกเขาจัดหาเป้าหมายต่างๆ ที่อยู่บนดินแดนรัสเซีย และเป็นผู้ควบคุมขีปนาวุธอเมริกันและขีปนาวุธยุโรป พวกเขาสู้รบกับสหพันธรัฐรัสเซีย และถ้าหากเรื่องเป็นเช่นนี้แล้วละก้อ ไม่มีอะไรที่สามารถบอกปัดว่าจะไม่เกิดขึ้นหรอก ... กระทั่งฉากทัศน์ที่เกิดยากที่สุดและน่าเศร้าที่สุดก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

“เราย่อมจะไม่ต้องการฉากทัศน์เช่นนั้น เราได้กล่าวเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดออกมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เราต้องการสันติภาพ แต่สันติภาพที่ว่านี้ต้องนำเอาผลประโยชน์ของรัสเซียเข้ามาพินิจพิจารณากันอย่างเต็มที่ด้วย”

จริงๆ แล้ว คำอธิบายอย่างสมเหตุสมผลเพียงประการเดียวสำหรับการที่ไบเดนยังคงดึงดันท้าทายกันให้ถึงสุดขอบ ด้วยการสมคบคิดกับพวกแอตแลนติซิสต์ (Atlanticists) ในยุโรป ทั้งๆ ที่สมัยแห่งการเป็นประธานาธิบดีของเขาเข้าสู่ระยะแห่งภาวะเป็ดง่อยที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ผลักดันอะไรไม่ค่อยออกเสียแล้ว ก็คือว่า ขีปนาวุธโอเรสนิกของรัสเซียได้ช่วงชิงเอาความเด่นไปจากแผนการต่างๆ ที่เขาสู้อุตส่าห์พยายามจัดวางเอาไว้อย่างดีที่สุด
(พวกแอตแลนติซิสต์ (Atlanticists) คือพวกที่เห็นชอบสนับสนุนให้อเมริกากับยุโรป ซึ่งต่างตั้งอยู่คนละฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ จับมือเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกัน ทั้งในด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, และการทหาร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Atlanticism#:~:text=Atlanticism%20is%20a%20belief%20in,it%20comes%20to%20security%20issues.)

เวลานี้ผู้คนในยุโรปที่เป็นพวกซึ่งมีสติสตังค์มากกว่า จึงกำลังส่งเสียงออกมาทัดทาน โรเบิร์ต ฟิโก นายกรัฐมนตรีของสโลวัก ได้กระทำสิ่งที่ถือเป็นความท้าทายเชิงสัญลักษณ์ครั้งใหญ่โตครั้งหนึ่งทีเดียว เมื่อเปิดเผย [7] ในวันที่ 27 พฤศจิกายนว่า เขาได้ตอบรับคำเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการจากปูตินให้เข้าร่วมงานที่จัดขึ้นในกรุงมอสโกในเดือนพฤษภาคม เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 80 ปีของชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้สโลวักเป็นประเทศสมาชิกทั้งของอียูและของนาโต้

ทางด้านนายกรัฐมนตรี คาร์ล เนฮัมเมอร์ ของออสเตรีย ระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์ [8] กับทรัมป์ ได้กล่าวยืนยันอีกครั้งถึงความพร้อมของออสเตรียที่จะทำหน้าที่เป็นเวทีหนึ่งสำหรับการพูดจาหารือเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศในเรื่องยูเครน มีรายงานว่า ระหว่างการสนทนาคราวนี้ ทรัมป์ยังได้แสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มีความสนอกสนใจในสิ่งที่เนฮัมเมอร์ได้พูดจาแลกเปลี่ยนกับปูตินก่อนหน้านี้ในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/atlanticists-mobilise-to-salvage-nato-as-russia-toughens-its-stance/

เชิงอรรถ
[1] https://www.nato.int/cps/en/natohq/news_230832.htm
[2] https://www.reuters.com/markets/europe/frances-economic-downturn-accelerates-new-orders-crumble-pmi-shows-2024-11-22/
[3] https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/how-europe-can-save-nato/
[4] https://www.theguardian.com/us-news/2024/nov/24/trump-depends-on-the-eu-and-uk-to-act-as-peacemakers-more-than-he-thinks
[5] https://tass.com/politics/1877395
[6] https://english.alarabiya.net/webtv/programs/special-interview/2024/11/25/medvedev-on-nato-direct-war-with-russia-and-escalation-risks-amid-ukraine-conflict
[7] https://tass.com/society/1878403
[8] https://tass.com/world/1877963
กำลังโหลดความคิดเห็น