อังเกลา แมร์เคิล ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีมายาวนาน 16 ปี และเพิ่งเกษียณตัวเองอำลาจากวงการเมืองไปเมื่อปี 2021 เปิดใจเอาไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของเธอ ที่ใช้ชื่อว่า “Freedom” ซึ่งออกวางแผงในเวอร์ชันภาษาต่างๆ พร้อมกัน 30 ภาษา เมื่อวันอังคารที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่เคยนึกเสียใจกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของเธอ ซึ่งเวลานี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก ทั้งเรื่องวิกฤตผู้ลี้ภัย ความสัมพันธ์กับรัสเซีย การแก้ไขปัญหาพลังงานของประเทศ รวมถึงการคัดค้านยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การนาโต
แม้ได้รับการยกย่องอย่างสูงกระทั่งในช่วงปีท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง ทว่าไม่กี่เดือนหลังจากพ้นตำแหน่งไปในเดือนธันวาคม 2021 รัสเซียก็ยกทัพบุกยูเครน และนโยบายต่างๆ ที่ แมร์เคิล สร้างเอาไว้จำนวนมาก ได้ถูกตั้งคำถามฉกาจฉกรรจ์ เธอถูกกล่าวหาว่า อ่อนให้รัสเซียมากเกินไป ทำให้เยอรมนีต้องพึ่งพาก๊าซราคาถูกจากรัสเซียอย่างน่าหวาดหวั่น ขณะที่นโยบายเปิดรับผู้อพยพเป็นเรือนล้านของเธอได้จุดชนวนความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคม และเปิดทางให้แก่การผงาดขึ้นมาของพรรคการเมืองขวาจัด
อัตชีวประวัติของแมร์เคิลเล่มนี้ปรากฏออกมา ขณะที่ยูเครนและตะวันออกกลางกำลังอยู่ท่ามกลางไฟสงคราม โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะกลับเข้าทำเนียบขาว และเยอรมนีต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด หลังจากรัฐบาลผสมของเยอรมนีก็ล่มลงอย่างไม่เป็นท่าในเดือนพฤศจิกายน 2024
ในหนังสือเรื่อง “ฟรีดอม” ความยาว 736 หน้าที่เธอเขียนร่วมกับ บีอาตเทอ บาวมานน์ ที่ปรึกษาซึ่งทำงานอยู่กับเธอมาอย่างยาวนานนี้ แมร์เคิล วัย 70 ปี ซึ่งเป็นที่จดจำระลึกถึงจากสไตล์การเป็นผู้นำที่เยือกเย็นและหนักแน่น ได้ปฏิเสธการถูกกล่าวโทษว่า เธอเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์วุ่นวายในปัจจุบัน
หลังจากไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมานานหลายปี ระยะหลังมานี้แมร์เคิลได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก เล่าถึงวัยเด็กที่เธอเกิดและเติบโตในเยอรมันตะวันออกยุคที่อยู่ใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ การเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย และกับ ทรัมป์ ที่เธอบอกว่า หลงใหลฝักใฝ่นักการเมืองที่มีแนวโน้มเผด็จการ
ในหนังสือบันทึกความทรงจำฉบับเต็มของเธอ แมร์เคิลเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความคิดและการกระทำที่ผ่านมา รวมถึงในช่วงการหลั่งไหลของคลื่นผู้อพยพปี 2015 ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการถูกกล่าวขวัญถึง เกี่ยวกับความเป็นผู้นำของเธอในระยะปีหลังๆ
วิกฤตผู้อพยพ
หลายคนกล่าวหาว่า การที่แมร์เคิลไม่ยอมผลักดันพวกผู้ขอลี้ภัยซึ่งจำนวนมากมีต้นทางมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ให้ถอยกลับไปจากชายแดนเยอรมนีด้านติดกับออสเตรีย แต่กลับเปิดทางให้ผู้อพยพเหล่านี้กว่าล้านคนเดินทางเข้ามาพำนักในแดนดอยช์ คือต้นเหตุสำคัญที่เสริมส่งให้พรรคขวาจัดต่อต้านผู้อพยพ อย่างพรรคอัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี (เอเอฟดี) ได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
แมร์เคิล ซึ่งในเวลานั้นได้โพสต์ถ่ายภาพกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียผู้หนึ่ง บอกว่า เธอ “ยังคงไม่เข้าใจเลย ... ทำไมใครๆ จึงสามารถทึกทักเอาว่าใบหน้าที่เป็นมิตรในภาพถ่ายภาพหนึ่ง เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้คนทั้งหมดทั้งกลุ่มเลยหลบหนีออกมาจากบ้านเกิดของพวกเขา”
แมร์เคิลยืนยันว่า ยุโรปจำเป็นต้องปกป้องชายแดน แต่ก็ย้ำว่า ความมั่งคั่งและหลักนิติธรรมจะทำให้เยอรมนีและยุโรปเป็นสถานที่ที่ใครๆ ก็อยากไปเสมอ และสำทับว่า การที่เยอรมนี “ขาดกำลังคนทำให้ผู้อพยพอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ”
เกี่ยวกับพรรคเอเอฟดีนั้น แมร์เคิลเตือนพวกพรรคการเมืองกระแสหลักของเยอรมนีไม่ให้ยอมรับนำเอาสำนวนโวหารเชิงต่อต้านผู้อพยพของพรรคนี้มาใช้ โดยปราศจากการเสนอแนวทางแก้ปัญหาปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจะทำให้พรรคกระแสหลักเหล่านั้นล่มสลาย
ความสัมพันธ์กับรัสเซีย
แมร์เคิล ซึ่งเป็นผู้ที่พูดภาษารัสเซียได้ ยังคงปกป้องนโยบายการมีปฏิสัมพันธ์กับปูติน ซึ่งก็เป็นผู้ที่พูดภาษาเยอรมันได้เช่นกัน ถึงแม้ทั้งคู่เคยขุ่นข้องหมองใจกันมาก ตอนที่อดีตสายลับเคจีบีผู้นี้ปล่อยให้สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ของเขาเดินเข้าไปในห้องที่ผู้นำทั้งคู่สนทนากันอยู่ ทั้งที่รู้ว่า เธอเป็นคนกลัวสุนัข
อดีตผู้นำหญิงเหล็กเมืองเบียร์บรรยายว่า ปูตินเป็นคนที่ระวังตัวอยู่เสมอ กลัวว่าจะได้รับการปฏิบัติไม่ดี และพร้อมโจมตีตลอดเวลา เช่น การโชว์อำนาจด้วยสุนัข และปล่อยให้คนอื่นคอย
อย่างไรก็ดี แมร์เคิลเสริมว่า ท่ามกลางปัญหาเหล่านั้น เธอคิดถูกที่ไม่ตัดการติดต่อกับปูตินและยังรักษาความสัมพันธ์ผ่านความสัมพันธ์ทางการค้า เพราะรัสเซียเป็นหนึ่งในสองมหาอำนาจนิวเคลียร์หลักของโลก นอกเหนือจากอเมริกา
เธอยังปกป้องการตัดสินใจคัดค้านยูเครนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ระหว่างการประชุมสุดยอดขององค์การนี้ที่กรุงบูคาเรสต์ปี 2008 เธออธิบายว่า การคิดเห็นไปว่า สถานะผู้สมัครเข้านาโต จะช่วยปกป้องยูเครนจากการรุกรานของปูตินได้นั้น เป็นเพียงความคิดซึ่งเป็นภาพลวงตา เธอเล่าด้วยว่า ขณะที่บินกลับประเทศหลังซัมมิตครั้งนี้ เธอรับรู้ว่านาโตยังคงไม่มียุทธศาสตร์ร่วมในการรับมือกับรัสเซีย
นโยบายพลังงาน
การที่รัสเซียเข้าโจมตียูเครนเต็มอัตราศึกในเดือน ก.พ.2022 ของรัสเซีย และเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม 1 และ 2 ส่งผลให้เยอรมนีถูกตัดขาดจากก๊าซราคาถูกของรัสเซีย ได้กลายเป็นตัวการสำคัญที่ผลักดันเศรษฐกิจเมืองเบียร์อ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง
กระนั้น แมร์เคิลปฏิเสธเสียงวิจารณ์ที่ว่า เธออนุญาตให้สร้างสายท่อส่งก๊าซใต้ทะเลบอลติกนี้ตั้งแต่ทีแรก โดยบอกว่า ผู้อนุมัติ นอร์ดสตรีมสาย 1 คือ แกร์ฮาร์ด ชเรอเดอร์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนก่อนหน้าเธอ ซึ่งสังกัดพรรคโซเชียลเดโมแครต และเป็นมิตรสหายกับปูติมานมนาน
ส่วนนอร์ดสตรีม 2 ที่เธออนุมัติหลังจากรัสเซียเข้าผนวกไครเมียในปี 2014 แมร์เคิลอธิบายว่า ตอนนั้นเป็นไปได้ยากที่จะทำให้บริษัทและผู้ใช้ก๊าซในเยอรมนี รวมถึงสมาชิกอื่นๆ ของสหภาพยุโรป ยอมรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งอื่นที่ราคาแพงกว่า
แมร์เคิลเสริมว่า ก๊าซมีความจำเป็นสำหรับเยอรมนีในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พวกพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังค่อยๆ ยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังวิกฤตโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011
เกี่ยวกับไฟฟ้านิวเคลียร์นั้น เธอโต้แย้งว่าเยอรมนีไม่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ทางภูมิอากาศที่กำหนดเอาไว้แต่อย่างใดและยืนยันว่าการที่เยอรมนีมุ่งมั่นเดินหน้าค่อยๆ เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ สามารถที่จะให้แรงบันดาลใจแก่ประเทศอื่นๆ เพื่อเจริญรอยตาม
(ที่มา : เอเอฟพี, เอเจนซีส์)