ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ในวันพุธ (4 ธ.ค.) เผยว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกที่เขาเพิ่งประกาศบังคับใช้อย่างน่าประหลาดใจไม่กี่ชั่งโมงก่อนหน้า ยอมอ่อนข้อในการเผชิญหน้ากับรัฐสภาและการออกมาประท้วงบนท้องถนนของประชาชน ที่ต่อต้านสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นความพยายามแบนกิจกรรมทางการเมืองและปิดกั้นสื่อมวลชนของผู้นำรายนี้
ในวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ในรอบหลายทศวรรษ ประธานาธิบดียุน ประกาศกฎอัยการศึกในช่วงค่ำวันอังคาร (3 ธ.ค.) ระหว่างแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ อ้างว่าเพื่อทลาย "กองกำลังต่อต้านรัฐ" ในหมู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เหล่าสมาชิกรัฐสภาผู้เดือดดาล ได้ปฏิเสธประกาศดังกล่าวอย่างเป็นเอกฉันท์ และสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่าคณะรัฐมนตรีเห็นพ้องกันในตอนเช้าวันพุธ (4 ธ.ค.) ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
บริเวณด้านนอกของอาคารรัฐสภาสมัชชาแห่งชาติ เหล่าผู้ประท้วงที่ออกมารวมตัวกันเพื่อคัดค้านกฎอัยการศึก พากันร้องตะโกนและปรบมือ หลังได้ทราบข่าวการยกเลิก "เราชนะแล้ว!" พวกเขาตะโกนและผู้ชุมนุมรายหนึ่งตีกลองด้วยความยินดี
โช คุก หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านขนาดเล็กพรรคหนึ่ง ออกมาพบปะกับพวกผู้ประท้วงนอกอาคารรัฐสภา และเตือนว่า "มันยังไม่จบ เขาทำให้ทุกคนตกอยู่ในความช็อก" เขากล่าว พร้อมประกาศจะร่วมมือกับพรรคอื่นๆถอดถอนประธานาธิบดียุน
การประกาศกฎอัยการศึกอย่างน่าประหลาดใจของยุน ซึ่งเล็งเป้าหมายเล่นงานศัตรูทางการเมือง ถูกลงมติตีตกด้วย ส.ส.190 คนในรัฐสภา โดยแม้แต่พรรคการเมืองของเขาเองก็เรียกร้องให้เขายกเลิกประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีต้องยกเลิกกฎอัยการศึกในทันที ถ้าหากเป็นความประสงค์ของรัฐสภาด้วยเสียงส่วนใหญ่
วิกฤตในประเทศแห่งนี้ ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 รวมถึงเป็นพันธมิตรสำคัญของอเมริกาและเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่ของเอเชีย ได้ก่อความกังวลแก่นานาชาติ
ก่อนหน้านี้ เคิร์ท แคมเบลล์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่ากำลังจับตาสถานการณ์ต่างๆ ในเกาหลีใต้ "ด้วยความกังวลใหญ่หลวง และหวังว่าข้อพิพาททางการเมืองใดๆ จะคลี่คลายด้วยสันติวิธี และสอดคล้องกับหลักนิติธรรม" ทั้งนี้มีทหารอเมริการาว 28,500 นาย ประจำการในเกาหลีใต้เพื่อปกป้องโซลจากเกาหลีเหนือ ชาติติดอาวุธนิวเคลียร์
หลัง ยุน ประกาศกฎอัยการศึก กองทัพเกาหลีใต้ระบุว่ากิจกรรมต่างๆ ของรัฐสภาและพรรคการเมืองจะถูกห้าม และสื่อมวลชนจะอยู่ภายใต้การควบคุมของคำสั่งกฎอัยการศึก
ทหารพยายามเข้าไปยังอาคารรัฐสภาสั้นๆ ในขณะที่พบเห็นบรรดาผู้ช่วยของสมาชิกรัฐสภาพยายามผลักดันให้ทหารล่าถอยไป โดยใช้ถังดับเพลิงฉีดใส่
ยุน ไม่ได้พาดพิงอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ และเขามุ่งเน้นไปที่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในประเทศ ในขณะที่มันถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1980 ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้
ประธานาธิบดียุน ซึ่งมีเส้นทางอาชีพมาจากอัยการ คว้าชัยชนะในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ เมื่อปี 2022 เขาพยายามฟันฝ่าคลื่นแห่งความไม่พอใจเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ เรื่องอื้อฉาวต่างๆ และความเหลื่อมล้ำทางเพศ โดยมีเป้าหมายคือเปลี่ยนโฉมอนาคตทางการเมืองของชาติเศรษฐกิจหมายเลข 4 ของเอเชียแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม เขากลับไม่เป็นที่นิยม โดยคะแนนสนับสนุนของเขาแกว่งตัวอยู่ที่แค่ระดับราว 20% เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชาชนของเขาก็ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในศึกเลือกตั้งรัฐสภาในเดือนเมษายนปีนี้ สูญเสียการควบคุมรัฐสภาเดียวให้แก่พรรคฝ่ายค้าน ที่กวาดเก้าอี้มาได้เกือบ 2 ใน 3
(ที่มา : รอยเตอร์)