xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายเล่นงานจีนของ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จะทำให้ยุโรปเจอลูกหลงที่หนักหน่วงกว่าแดนมังกรด้วยซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อลิเซีย การ์เซีย เอร์เรโร



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Trump’s China policies will take collateral toll on Europe
by Alicia Garcia Herrero
27/11/2024

ไม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเข้าบริหารปกครองสหรัฐฯในเดือนมกราคม 2025 จะกระทำตามคำขู่ของเขาในเรื่องการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรแบบหฤโหด หรือว่าพลิกผันไปในทางตรงกันข้าม ด้วยการทำดีลใหญ่ฉบับใหม่กับจีน ไม่ว่าทางไหนยุโรปก็น่าที่จะเป็นผู้พ่ายแพ้และประสบกับความสูญเสียแพ้พ่ายอยู่ดี

ชัยชนะในการเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการต้อนรับด้วยท่าทีเฉยเมยในประเทศจีน อย่างน้อยที่สุดก็จากฝ่ายทางการ

อันที่จริง คณะบริหารทรัมป์ชุด 2.0 ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเลวร้ายลงไปอีกสำหรับจีนเมื่อเปรียบเทียบกับคณะบริหารโจ ไบเดน จุดใหญ่ใจความสำคัญเลยจะขึ้นอยู่กับว่าลงท้ายแล้ว ทรัมป์ เลือกที่จะใช้ท่าทีปรองดองรอมชอม หรือยังคงเดินหน้าให้สองประเทศแยกขาดจากกัน

เมื่อตอนที่ ไบเดน ขึ้นครองอำนาจ พวกผู้นำจีนวาดหวังกันว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯจะปรับปรุงกระเตื้องดีขึ้น และหันเหออกจากการทำสงครามการค้า [2] และการมุ่งปิดล้อมจีนของทรัมป์ แต่แล้ว ไบเดน กลับขึ้นภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้านำเข้าของจีนสูงขึ้นอีกเสียด้วยซ้ำ และเรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ได้ประกาศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นมาก

สิ่งนี้ทำให้จีนตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า การแข่งขันทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน เป็นเรื่องที่จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน โดยไม่คำนึงว่าชาวพรรคเดโมแครตหรือชาวพรรครีพับลิกันเป็นผู้ที่ครองอำนาจอยู่ในทำเนียบขาว

กระนั้นก็ตาม คณะบริหารชุดใหม่ของทรัมป์ ยังคงอาจจะเป็นผู้เสนอสิ่งที่ให้ผลดีมากกว่าบางอย่างบางประการแก่จีน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลหลักๆ 4 ประการด้วยกัน ประการแรกเลย คณะผู้นำจีนทราบดีว่าจุดยืนของทรัมป์สามารถที่จะโอนเอนคลอนแคลน รวมทั้งทราบดีว่าเขาชื่นชอบที่จะบรรลุดีลใหญ่ๆ และได้เป็นผู้ประกาศความสำเร็จในการทำข้อตกลงเช่นว่านี้

อันที่จริงแล้ว นี่แหละคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในเดือนธันวาคม 2019 ตอนที่ หลิว เหอ (Liu He) ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีจีนในเวลานั้น บรรลุดีลการทางค้าที่เรียกขานกันว่า “เฟสวัน” (Phase One) กับ ทรัมป์

การตกลงกันคราวนั้นมีการเห็นชอบให้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯจากสินค้าจีนอย่างน้อยที่สุดก็บางอย่างบางประเภท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ฝ่ายจีนจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเป็นมูลค่า 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการที่พวกบริษัทสหรัฐฯจะได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจการภาคการเงิน

ประการที่สอง วาระแบบพวกนิยมอยู่อย่างโดดเดี่ยวที่คำนึงถึงแต่ผลประโยชน์ของสหรัฐฯ (isolationist) เช่นนี้ของ ทรัมป์ สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่จีนในแง่มุมที่ว่า พวกพันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐฯ ซึ่งก็รวมถึงสหภาพยุโรปด้วย น่าจะจำเป็นต้องมองหาที่อื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ สำหรับให้เข้ามาช่วยหนุนหลังเศรษฐกิจของพวกเขา [3]

นี่อาจจะหมายความว่าพวกเขาจะต้องเข้าใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า การเจรจาระหว่างจีนกับอียูในเรื่องการทำ ความตกลงครอบคลุมรอบด้านว่าด้วยการลงทุน (Comprehensive Agreement on Investment หรือ CAI) มีการเร่งตัวรวดเร็วขึ้นมาอย่างชัดเจน ภายหลังการลงนามระหว่างจีนกับสหรัฐฯในดีล เฟส วัน ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการบ่อนทำลายผลประโยชน์ของยุโรปในประเทศจีน

ประการที่สาม ทรัมป์มีความชัดเจนเกี่ยวกับความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาที่จะยุติสงครามในยูเครนให้ได้เร็วที่สุดเมื่อเขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว การแก้ปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็วย่อมหมายถึงการยินยอมผ่อนปรนกระทำตามข้อเรียกร้องของรัสเซียเป็นบางส่วน—โดยเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการยินยอมกันเป็นจำนวนมากด้วยซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้ย่อมจะกลับมาเอื้ออำนวยผลบวกสุทธิแก่ประเทศจีน

คณะบริหารสหรัฐฯชุดไหนก็ตามที่ทอดทิ้งยูเครน ย่อมจะบ่อนทำลายความเชื่อของรัฐบาลไต้หวันที่ว่าสหรัฐฯจะสนับสนุนพวกเขาในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่จีนเข้ารุกรานหรือดำเนินการปิดล้อม

ประการที่สี่ และเป็นข้อที่มีผลในวงกว้างมากกว่า นั่นคือ ชัยชนะของทรัมป์จะทำให้เป็นการง่ายกว่าสำหรับทางพวกผู้นำจีนในการแพร่กระจายเรื่องเล่าที่ว่าอเมริกากำลังเสื่อมโทรมแล้ว และประชาธิปไตยของอเมริกาก็อยู่ในความเสื่อมโทรมเช่นกัน

อำนาจอิทธิพลของจีนที่มีต่อกลุ่มซีกโลกใต้ (Global South หมายถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย) [4] กำลังเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาลนับตั้งแต่ที่อิสราเอลดำเนินการโจมตีทางทหารใส่ดินแดนฉนวนกาซา รวมทั้งเลบานอน ในระยะหลังๆ มานี้ อำนาจอิทธิพลดังกล่าวนี้ถูกสร้างขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งสืบเนื่องจากความนิยมยกย่องซึ่งเกิดขึ้นจากพวกแผนการริเริ่มที่ดำเนินการต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้วของจีน เป็นต้นว่า แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) และกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS)

เป็นที่คาดหมายกันว่า ทรัมป์จะเสนอแรงจูงใจสำหรับการเข้าร่วมมือประสานงานกับอเมริกาให้แก่พวกหุ้นส่วนระหว่างประเทศ ได้น้อยกว่าคณะบริหารไบเดนเสียอีก โดยที่เขาจะใช้วิธีการซึ่งมุ่งต่อรองแลกเปลี่ยนเพื่อทำข้อตกลงกันมากกว่าไบเดน สภาพเช่นนี้อาจส่งผลกลายเป็นผลักใสให้ซีกโลกใต้ขยับเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การกลับมาอีกครั้งของทรัมป์ อาจจะเป็นการสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจอย่างสูงลิ่ว [5]ให้แก่จีน ทั้งนี้ทรัมป์ได้ให้คำมั่นแล้วที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าจีนซึ่งส่งออกไปยังสหรัฐฯ [6] ในอัตราสูงขึ้น 60% รวด และโดยองค์รวมแล้ว มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลักไสให้สหรัฐฯแยกขาดจากจีนมากขึ้นไปอีก

ในช่วงสมัยแรกของทรัมป์นั้น การลงทุนของจีนในสหรัฐฯได้ตกลงฮวบฮวบ เนื่องจากมีการกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดอย่างเข้มงวดรัดกุมมากขึ้นโดยผ่านการปฏิรูปต่างๆ ที่กระทำกับคณะกรรมการว่าด้วยการลงทุนต่างประเทศในสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States หรือ CFIUS) ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมของหน่วยราชการต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาทบทวนผลกระทบที่จะมีต่อความมั่นคงแห่งชาติ [7] จากการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐฯ

เวลาเดียวกัน พวกกิจการของจีนก็ถูกกีดกั้นขัดขวางไม่ให้เข้าไประดมเงินทุนในสหรัฐฯ โดยที่ ทรัมป์ ยังได้ข่มขู่คุกคามที่จะถอดกิจการจีนจำนวนมากออกจากการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ การติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างประชาชนกับประชาชนก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกนักศึกษาในแวดวงวิชาการวิทยาศาสตร์หนักแน่นจริงจังทั้งหลาย

สำหรับวาระที่สองของเขา ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณทุกๆ อย่างออกมาแล้วว่า เรื่องการแยกขาดออกจากกันในเรื่องเทค, การเงิน, และประชาชนกับประชาชน เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายได้เลยว่าจะมีการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก

จากสภาพฉากหลังที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวางทั่วทั้งหมดเช่นนี้ คณะผู้นำจีนจะมีช่องทางน้อยเหลือเกินในการตอบโต้เอาคืน [8] อัตราภาษีศุลกากรของทรัมป์ และบางทีจะเลือกเจรจาเพื่อทำข้อตกลงกันให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การที่จะทำให้ ทรัมป์ ตกลงเห็นชอบกับดีล “เฟสทู” (Phase Two) [9] ได้นั้น จีนจะต้องยื่นเสนออะไรออกมาให้มากกว่าที่ได้เคยกระทำใน “เฟสวัน” เมื่อปี 2019 ทั้งในแง่ของปริมาณสินค้าจากสหรัฐฯที่แดนมังกรยินยอมจะนำเข้า และในแง่ของการให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทสหรัฐฯในการเข้าถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆ ของจีนเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ในฉากทัศน์เช่นนี้ ผู้ที่จะต้องประสบความสูญเสียรายใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นยุโรป [10] เนื่องจากสัดส่วนจำนวนมหึมาทีเดียวของการส่งออกของยุโรปไปยังจีนนั้น เป็นสินค้าที่มีการแข่งขันกับพวกซึ่งส่งมาจากสหรัฐฯอยู่แล้ว ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดก็คือภาคการบินและอวกาศ แต่นอกจากนี้แล้ว มันยังมีภาคอื่นๆ อีกมากมายด้วย

แน่นอนทีเดียว นโยบายต่างๆ ของทรัมป์จะมีผลกระทบโดยตรงต่ออียู ซึ่งอาจจะใหญ่โตยิ่งกว่าที่มันจะมีผลกระทบต่อจีนเสียด้วยซ้ำ แล้วดีลการค้าและการลงทุนฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐฯ-จีนยังอาจจะกระหน่ำสมทบทำให้สิ่งต่างๆ ยากลำบากยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับยุโรป

ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดสำหรับอียูจะเกิดขึ้นมา ถ้าหากทรัมป์ยังคงผลักดันเพื่อให้มีการแยกห่างจากจีนต่อไป แทนที่จะสามารถตกลงทำดีลใหญ่ทางการค้าฉบับที่สองระหว่างกันได้สำเร็จ

ขณะที่ผลพ่วงของการแยกห่างจากกันเป็นเรื่องลบอย่างชัดเจนเมื่อพิจารณาในแง่ของการทำให้การค้าโลกแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่มันก็จะทำให้การค้าจีนหันเหออกจากอียูไปทางสหรัฐฯ น้อยกว่าในฉากทัศน์ที่สหรัฐฯกับจีนปรองดองรอมชอมกัน

อลิเซีย การ์เซีย-เอร์เรโร เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดูแลด้านเอเชียแปซิฟิก อยู่ที่ นาติซิส (Natixis) ธนาคารเพื่อการลงทุนสัญชาติฝรั่งเศส และเป็นนักวิจัยอาวุโสที่บลูเกิล (Bruegel) สถาบันคลังสมองซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บรัสเซลส์

เชิงอรรถ
[1] https://www.politico.com/news/2024/11/12/lighthizer-trump-new-tariff-plan-00189114
[2] https://apnews.com/article/trump-treasury-tariffs-cabinet-bessent-lutnick-99db930ea0516673c96f8b524af975f2
[3] https://asiatimes.com/2024/11/the-nations-likely-to-win-not-lose-from-trumps-tariffs/
[4] https://asiatimes.com/2024/11/chancay-megaport-magnifies-chinas-presence-in-south-america/
[5] https://asiatimes.com/2024/11/chinas-thinking-class-weighs-trump-2-0-pain-to-come/
[6] https://asiatimes.com/2024/11/china-calculates-impact-of-losing-most-favored-nation-status/
[7] https://asiatimes.com/2024/11/texas-takes-the-lead-in-deeper-decoupling-from-china/
[8] https://asiatimes.com/2024/11/how-china-could-strike-back-at-trumps-tariffs/
[9] https://asiatimes.com/2024/11/trump-tariffs-as-ploy-for-making-a-big-deal-with-china/
[10] https://asiatimes.com/2024/10/ev-tariffs-end-an-era-of-eu-china-engagement/
กำลังโหลดความคิดเห็น