xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามเทค’ ยกระดับความดุ! ‘ไบเดน’ ทิ้งทวนออกมาตรการสกัด ‘ชิป’ ปักกิ่งรอบสาม ‘จีน’ โต้กลับอย่างไวห้ามขาย ‘แร่สำคัญ’ ทั้งแกลเลียม-เจอร์มาเนียม-พลวงให้อเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปักกิ่งสวนกลับทันควัน ประกาศวันอังคาร (3 ธ.ค.) จำกัดการส่งออกแร่ธาตุที่มีความสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์บางรายการให้อเมริกา หลังจากเมื่อวันจันทร์ (2) วอชิงตันออกมาตรการสกัดอุตสาหกรรมชิปจีนรอบสาม ซึ่งจะมีการควบคุมการส่งออกไปยังบริษัทแดนมังกร 140 แห่ง

คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินหมากใหญ่กระดานสุดท้ายในวันจันทร์ เพื่อปิดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงและผลิตชิปที่จะช่วยส่งเสริมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) โดยอ้างว่าอาจถูกนำไปใช้งานทางทหารหรือคุกคามความมั่นคงของอเมริกา

คำสั่งใหม่คราวนี้ยังเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ก็เป็นที่คาดหมายกันว่า เขาจะยังคงสานต่อมาตรการแข็งกร้าวกับปักกิ่ง

สำหรับมาตรการรอบล่าสุดของสหรัฐฯ มุ่งครอบคลุมทั้งการจำกัดการจัดส่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปยังจีน ได้แก่ ชิปหน่วยความจำแบนด์วิดธ์สูงที่จำเป็นสำหรับการใช้งานระดับไฮเอนด์อย่างเช่นการฝึกเครื่องจักรเอไอ เครื่องจักรเครื่องมือผลิตชิปอีก 24 รายการ และเครื่องมือด้านซอฟต์แวร์ 3 รายการ และการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์ผลิตชิปที่ผลิตในประเทศ เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย

จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์จีน แถลงว่า มาตรการนี้มีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้จีนสามารถส่งเสริมระบบการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในแดนมังกร ซึ่งจะนำไปใช้สนับสนุนการปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย

สำหรับบริษัทจีนที่จะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดรอบใหม่คราวนี้ ประกอบด้วยบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์เกือบ 24 แห่ง บริษัทด้านการลงทุน 2 แห่ง และพวกผู้ผลิตเครื่องจักรเครื่องมือผลิตชิปกว่า 100 แห่ง เช่น สเวย์ชัวร์ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำงานร่วมกับหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ที่ถูกอเมริกาแซงก์ชันและขณะนี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนาชิปขั้นสูงของจีน

บริษัทเหล่านี้จะถูกขึ้นบัญชีดำใน entity list หรือรายชื่อบริษัทที่รัฐบาลอเมริกามองว่า มีอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ซึ่งซัปพลายเออร์อเมริกันจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งผลิตภัณฑ์ให้โดยไม่ได้รับใบอนุญาตพิเศษ

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการล่าสุดคราวนี้ยังมีการขยายอำนาจของอเมริกาในการควบคุมการส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปของพวกผู้ผลิตอเมริกัน ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ ที่ทำการผลิตในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกและจัดส่งไปห้โรงงานชิปบางแห่งในจีน โดยการควบคุมเช่นนี้จะส่งผลต่อเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ผลิตในอิสราเอล มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะที่อุปกรณ์ที่ผลิตในญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้รับการยกเว้น

มาตรการชุดใหม่นี้มีระเบียบจำกัดชิปความจำที่ใช้ในชิปเอไอซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี HBM 2 หรือสูงกว่า อันเป็นเทคโนโลยีที่ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ของเกาหลีใต้ และไมครอนของอเมริกาใช้อยู่

สำหรับปฏิกิริยาตอบโต้จากฝ่ายจีน หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า พฤติกรรมของอเมริกาบ่อนทำลายระเบียบการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และขัดขวางห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ก่อนสำทับว่า จีนจะดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของบริษัทท้องถิ่น

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์จีนโจมตีว่า มาตรการจำกัดของอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ “การข่มขู่ทางเศรษฐกิจ” และ “แนวทางปฏิบัติที่ไม่อิงกับตลาด”

จีนประกาศห้ามส่งออกแร่ใช้ทำเซมิคอนดักเตอร์ไปยังสหรัฐฯ

ต่อมาในวันอังคาร (3) กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศใช้มาตรการห้ามการส่งออกพวกสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับแร่ แกลเลียม เจอร์มาเนียม และพลวง (แอนติโมนี) ซึ่งมีศักยภาพที่อาจนำไปใช้ทางทหารได้ ไปยังสหรัฐฯ นอกจากนั้น ยังให้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดในเรื่องการส่งออกกราไฟต์ไปยังสหรัฐฯ อีกด้วย โดยต้องตรวจสอบผู้ใช้และการนำไปใช้อย่างถี่ถ้วน

คำชี้แนะว่าด้วยสิ่งของที่อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งทหารและพลเรือนของกระทรวงพาณิชย์จีนฉบับนี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในทันที ได้ให้เหตุผลของการออกระเบียบเช่นนี้ว่า เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติ

“โดยหลักการแล้ว การส่งออกแกลเลียม เจอร์มาเนียม พลวง และพวกวัสดุที่มีความแข็งเป็นพิเศษ (superhard materials) ไปยังสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับอนุมัติ” กระทรวงพาณิชย์จีนบอก

มาตรการใหม่เช่นนี้ เป็นการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การบังคับใช้ระเบียบจำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญยิ่งยวดเหล่านี้ซึ่งปักกิ่งทยอยประกาศออกมาในปีที่แล้ว เพียงแต่มาตรการใหม่นี้ยังมีการระบุเจาะจงว่าใช้กับการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้นอีกด้วย

ข้อมูลของศุลกากรจีนแสดงให้เห็นว่า ไม่มีการขนส่งเจอร์มาเนียม หรือแกลเลียม ทั้งแบบที่ขึ้นรูปแล้ว (wrought) และแบบที่ไม่ได้ขึ้นรูป (unwrought) ไปยังสหรัฐฯ เลยในปีนี้นับจนถึงเดือนตุลาคม ถึงแม้ในปีก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ คือตลาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 และอันดับ 5 ตามลำดับของแร่เหล่านี้ของจีน

แกลเลียม และเจอร์มาเนียม ใช้อยู่ในเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนั้นแล้ว เจอร์มาเนียม ยังใช้ในพวกเทคโนโลยีอินฟราเรด สายเคเบิลใยแก้วนำแสง และแผงโซลาร์เซลล์

ทำนองเดียวกัน การส่งออกพวกผลิตภัณฑ์พลวงของจีนโดยรวมในเดือนตุลาคม ได้หล่นฮวบลงมาถึง 97% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน หลังจากมาตรการจำกัดการส่งออกของปักกิ่งเริ่มมีผลบังคับใช้

ในปีที่แล้ว จีนเป็นผู้ผลิตพลวงที่ได้มาจากการทำเหมืองถึงประมาณ 48% ของที่ผลิตได้ทั่วโลก โดยที่พลวงถูกนำไปใช้ทั้งในพวกเครื่องกระสุน ขีปนาวุธอินฟราเรด อาวุธนิวเคลียร์ และกล้องสองตาให้มองกลางคืน ตลอดจนในแบตเตอรี่ และอุปกรณ์โฟโตโวลตาอิก

“ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถือว่าเป็นการทำให้ความตึงเครียดในห่วงโซ่อุปทานยิ่งยกระดับบานปลายออกไปอย่างมากมาย ขณะที่การเข้าถึงพวกวัตถุนี้ก็อยู่ในสภาพตึงตัวอยู่แล้วในโลกตะวันตก” เป็นคำกล่าวของ แจ๊ก เบดเดอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โปรเจ็คต์ บลู

ราคาของพลวงไตรออกไซด์ (antimony trioxide) ที่ตลาดรอตเตอร์ดัม อยู่ที่ 39,000 ดอลลาร์ต่อเมตริกตัน ณ วันที่ 28 พ.ย. เมื่อเปรียบเทียบกับตอนเริ่มต้นปีนี้ หมายความว่าราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 228% ทั้งนี้ตามตัวเลขของ อาร์กุส กิจการด้านข้อมูลข่าวสาร

“ทุกๆ คนจะต้องพยายามลองขุดหาแถวๆ สนามหญ้าหลังบ้านของตัวเอง เพื่อค้นดูว่ามีพลวงหรือไม่ ประเทศจำนวนมากจะต้องพยายามค้นหาสินแร่พลวงให้เจอ” เป็นคำพูดของเทรดเดอร์ด้านโลหะรายหนึ่ง ซึ่งขอให้สงวนนาม

(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น