xs
xsm
sm
md
lg

ขนาดศาลยังไม่รอด! ประธาน ICC โอดศาล ‘ถูกคุกคาม’ ทั้งโดนสหรัฐฯ คว่ำบาตร-รัสเซียออกหมายจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) ระบุเมื่อวันจันทร์ (2 ธ.ค.) ว่าสถาบันศาลแห่งนี้กำลังเผชิญ “ภัยคุกคาม” หลายด้านที่อาจกระทบต่อความอยู่รอด ทั้งมีแนวโน้มจะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร และเจ้าหน้าที่ศาลก็ยังถูกรัสเซียออกหมายจับด้วย

ระหว่างการประชุมประจำปีของรัฐภาคี 124 ประเทศ โทโมโกะ อากาเนะ ประธานคณะผู้พิพากษาไอซีซี ไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงรัสเซียและสหรัฐฯ โดยตรง แต่พูดถึงทั้งสองชาติในฐานะที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

“ไม่ว่าจะด้วยตัวชี้วัดใดๆ การประชุมใหญ่ครั้งใหญ่นับว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ล่อแหลม” การิม ข่าน หัวหน้าอัยการไอซีซี ระบุในสุนทรพจน์เปิดการประชุม

ทางการรัสเซียได้ประกาศออกหมายจับ ข่าน เพียง 2 เดือนหลังจากที่ศาลไอซีซีซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮกได้ออกหมายจับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ฐานมีส่วนรับผิดชอบต่อการก่ออาชญากรรมสงครามและบังคับเคลื่อนย้ายเด็กๆ ชาวยูเครน

ด้านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็ได้ผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือน มิ.ย. เพื่อคว่ำบาตรศาลแห่งนี้ โดยเป็นการตอบโต้ที่ ข่าน เรียกร้องขอหมายจับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โยอัฟ กัลลันต์ ของอิสราเอล

“ศาลแห่งนี้ตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีหลากหลายรูปแบบ เช่น มาตรการข่มขู่ การคุกคาม กดดัน และการบ่อนทำลาย เพื่อบั่นทอนความชอบธรรมและศักยภาพของศาลในการที่จะดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม หลักกฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิขั้นพื้นฐาน” ผู้พิพากษาอากาเนะ กล่าว พร้อมเผยว่ายังมีพนักงานของศาลอีกหลายคนที่ถูกออกหมายจับ

เธอยังบอกด้วยว่า ไอซีซี “กำลังถูกขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสถาบันต่างๆ ของประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของ UNSC ราวกับว่าเราเป็นองค์กรก่อการร้าย มาตรการเหล่านี้จะบั่นทอนการดำเนินงานของศาลในทุกๆ สถานการณ์ และกรณี และเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของเรา”

แม้สหรัฐฯ จะไม่ได้ร่วมเป็นภาคีศาลไอซีซี แต่อำนาจอิทธิพลทางทหารและการเงินของอเมริกาสามารถบ่อนทำลายศาลแห่งนี้ได้ทั้งในทางการทูตและการเมือง และอาจใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการเงินกับเจ้าหน้าที่ไอซีซีได้ด้วย

ผู้พิพากษาอากาเนะย้ำว่า ศาลไอซีซีขอต่อต้าน “ทุกความพยายามที่จะเข้าครอบงำความเป็นอิสระและความเป็นกลางของศาล เราขอปฏิเสธความพยายามนำการเมืองเข้ามาโยงกับการปฏิบัติงานของเรา และจะขอยืนหยัดทำตามกฎหมายในทุกๆ สถานการณ์”

ศาลอาญาระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นในปี 2002 เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐาน ได้แก่ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันพันธุ์ และอาชญากรรมการรุกราน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนเสริมของของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ และมีเขตอำนาจตามเงื่อนไข เช่น เมื่อรัฐสมาชิกไม่สามารถหรือไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีด้วยตนเอง

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น