วังเครมลินระบุในวันจันทร์ (2 ธ.ค.) ความพยายามใดๆ ของสหรัฐฯ ในการบีบบังคับประเทศอื่นให้ใช้สกุลเงินดอลาร์จะเจอกับไฟย้อนศร หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกา ขู่รีดภาษีบรรดาสมาชิกกลุ่ม BRICS หากว่าพวกเขาจัดตั้งสกุลเงินของตนเองขึ้นมา
เมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) ทรัมป์ เรียกร้องให้บรรดาประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS รับปากว่าจะไม่จัดตั้งสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นๆ ที่จะมาทดแทนดอลลาร์สหรัฐ โดยขู่ว่ามิเช่นนั้นแล้วจะต้องเจอการขึ้นภาษี 100%
กลุ่ม BRICS ในเบื้องต้น มีสมาชิกประกอบไปด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ทว่านับตั้งแต่นั้นก็ขยายวงอ้าแขนรับประเทศอื่นๆ ด้วย ปัจจุบันทางกลุ่มยังไม่มีสกุลเงินร่วม แต่ได้มีการพูดคุยกันมานานในประเด็นนี้ และการหารือในหัวข้อดังกล่าวทวีความเข้มข้นขึ้น หลังจากตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเล่นงานรัสเซีย ลงโทษต่อกรณีทำสงครามในยูเครน
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับคำขู่ของทรัมป์ ทาง ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลินบอกว่า ดอลลาร์กำลังสูญเสียความเย้ายวนในฐานะเงินตราที่ใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศสำหรับหลายชาติ แนวโน้มที่เขาบอกว่ากำลังทวีความรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ
"มีประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายและในกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ" เปสคอฟบอกกับผู้สื่อข่าว พร้อมคาดการณ์ว่า ถ้าสหรัฐฯ เลือกใช้หนทาง "บีบบังคับทางเศรษฐกิจ" เพื่อกดดันให้ประเทศต่างๆ ใช้ดอลลาร์ เมื่อนั้นพวกเขาจะต้องเจอกับไฟย้อนศร
"ถ้าสหรัฐฯ ใช้กำลังแบบที่พวกเขาเรียกว่าการใช้กำลังทางเศรษฐกิจ บีบบังคับประเทศต่างๆ ให้ใช้ดอลลาร์ พวกเขาจะเจอกับแนวโน้มของการเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น" เปสคอฟกล่าว "ดอลลาร์กำลังสูญเสียความน่าดึงดูดใจในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ สำหรับประเทศต่างๆ มากมายหลายชาติ"
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในข้อเท็จจริงคือ การครองโลกของดอลลาร์ หรือบทบาทสำคัญยิ่งของดอลลาร์สหรัฐในเศรษฐกิจโลก ดูเหมือนจะแข็งแกร่งขึ้นในช่วงหลัง สืบเนื่องจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอเมริกา นโยบายกระชับทางการเงินและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่พุ่งสูง แม้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจได้ผลักให้บรรดาประเทศในกลุ่ม BRICS ตีตัวออกห่างจากดอลลาร์ หันหน้าเข้าสู่สกุลเงินอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นก็ตาม
รอยเตอร์รายงานอ้างผลการศึกษาหนึ่งของศูนย์ภูมิเศรษฐศาสตร์ของสภาแอตแลนติก ในปีนี้ ที่พบว่าดอลลาร์สหรัฐยังคงเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก โดยที่ทั้งยูโรและบรรดาประเทศต่างๆ ในกลุ่ม BRICS ไม่อาจลดพึ่งพิงดอลลาร์ได้
(ที่มา : รอยเตอร์)