xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันทรงตัว-ทองคำขยับลง หุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสานจับตาข้อมูล ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาน้ำมันทรงตัวในวันจันทร์ (2 ธ.ค.) ความหวังอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในจีน ถูกกัดเซาะจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะไม่ปรับลดดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ปัจจัยหลังนี้ประกอบกับการแข็งค่าของดอลลาร์ ฉุดทองคำขยับลง ขณะที่วอลล์สตรีทปิดผสมผสาน ได้แรงหนุนกลุ่มเทคโนโลยี

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมกราคม เพิ่มขึ้น 10 เซนต์ ปิดที่ 68.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนท์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 1 เซนต์ ปิดที่ 71.83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ผลสำรวจภาคเอกชนพบว่ากิจกรรมภาคโรงงานของจีนขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน ในอัตราร้อนแรงที่สุดในรอบ 5 เดือน ก่อมุมมองในแง่บวกต่อภาคธุรกิจ แม้อีกด้านหนึ่งต้องเผชิญกับคำขู่รีดภาษีจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันถูกกดดันจากความเห็นของ ราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ที่กล่าวว่าเขาเปิดกว้างต่อกรณีจะปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ ณ ที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เดือนธันวาคม โดยที่ข้อมูลการจ้างงานอันสำคัญที่จะมีการเผยแพร่ออกมาเร็วๆ นี้ จะเป็นตัวตัดสิน

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งอาจชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกัดเซาะอุปสงค์ทางพลังงาน

ด้านราคาทองคำขยับลงในวันจันทร์ (2 ธ.ค.) จากการแข็งค่าของดอลลาร์ และนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญๆ รวมถึงแนวโน้มของเฟดเกี่ยวกับเส้นทางอัตราดอกเบี้ย โดยราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 20.00 ดอลลาร์ ปิดที่ 2661.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดผสมผสานในวันจันทร์ (2 ธ.ค.) โดยแนสแดคและเอสแอนด์พี 500 ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนเฝ้ารอข้อมูลเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้

ดาวโจนส์ ลดลง 128.65 จุด (0.29 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 44,782.00 เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 14.77 จุด (0.24 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 6,047.15 จุด แนสแดค เพิ่มขึ้น 185.78 จุด (0.97 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 19,403.95 จุด

ดัชนีเทคโนโลยีสารสนเทศ (SPLRCT) ซึ่งเป็นกลุ่มหลักใน S&P 500 และภาคสินค้าฟุ่มเฟือย (SPLRCD) ต่างดีดตัวขึ้นราว 1% ในวันจันทร์ (2 ธ.ค.) แต่ภาคอื่นๆ ปรับตัวลง

วอลล์สตรีทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ  เนื่องจากนักลงทุนกำลังเฝ้ารอข้อมูลเศรษฐกิจต่างๆ ในสัปดาห์นี้ ในนั้นรวมถึงรายงานการจ้างงานรายเดือนอันสำคัญ ที่มีกำหนดเผยแพร่ออกมาในวันศุกร์ (6 ธ.ค.)

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น