เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - อังกฤษเพิ่งตื่นพบ “รัสเซีย” มาเหนือเมฆใช้แผนกล่อมนักการเมืองมอร์ริเชียนหมู่เกาะชาร์โกส (Chagos Islands) กดดัน “ลอนดอน” เรียกคืนดินแดนหมู่เกาะชาร์โกสที่ตั้งฐานทัพอังกฤษ-อเมริกากลางมหาสมุทรอินเดีย นายกฯ แดนผู้ดีพรรคเลเบอร์รีบผลักดันดีลให้เสร็จก่อนว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นมาและขวางส่งมอบ
เดลีเทเลกราฟของอังกฤษรายงานวันเสาร์ (30 พ.ย.) ว่า รัฐบาลลอนดอนเพิ่งรู้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน อยู่เบื้องหลังความพยายามเพื่อกล่อมนักการเมืองมอร์ริเชียนให้อังกฤษต้องส่งมอบหมู่เกาะชาโกส (Chagos Islands)
เจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษที่รู้จักในนามไวท์ ฮอลล์ (White hall) และรัฐมนตรีอังกฤษของนายกรัฐมนตรี เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ ได้ข่าวกรองว่า รัสเซียยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องกับดีลข้อตกลงฐานที่มั่นอังกฤษ-สหรัฐฯ บนหมู่เกาะดิเอโก การ์เซีย (Diego Garcia Islands) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะชาโกส
“รัสเซียกำลังมีความพยายามมากขึ้นที่จะสนับสนุนมอริเชียส พวกเขากำลังสนับสนุนอย่างแข็งขันในอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะชาโกส” แหล่งข่าวอดีตเจ้าหน้าที่ไวท์ฮอลล์เปิดเผย
“พวกเขาไม่สนใจเกี่ยวกับมอร์ริเชียส นั่นไม่ใช่สิ่งเป้าหมายสำหรับพวกเขา แต่ทว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวกับหนทางที่พวกเขาจะสามารถบ่อนทำลายพวกเรา และทำให้พวกเราดูอ่อนแอ” แหล่งข่าวกล่าว
และเสริมว่า “ทุกคนที่จำเป็นต้องรู้ถูกทำให้ตระหนักในสิ่งนี้ พวกเขาได้คำเตือนซึ่งนั่นไม่ใช่เป็นคำถามอย่างแน่นอน และคนเหล่านั้นเลือกที่จะไม่ใส่ใจอย่างจริงจัง”
เสริมต่อว่า “มันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากที่รัฐบาลไม่ทำให้ 2 บวก 2 มีผลลัพธ์เป็น 4 อย่างชัดเจน”
เดลีเทเลกราฟรายงานว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ กำลังเร่งรีบหาทางเพื่อลงนามข้อตกลงการส่งมอบดินแดนอาณานิคมอังกฤษสุดท้ายกลางมหาสมุทรอินเดียให้มอร์ริเชียสก่อนที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า
ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์จะเห็นอังกฤษยินยอมยกหมู่เกาะร่วม 60 แห่ง รวมเกาะดิเอโก การ์เซีย ที่เป็นฐานทัพสำคัญของอังกฤษและสหรัฐฯ กลางมหาสมุทรอินเดียในการต่อต้านการก่อการร้ายและกบฏเยเมน
เดลีเทเลกราฟชี้ว่า รัฐบาลสตาร์เมอร์ปกป้องข้อตกลงนี้โดยอ้างว่า ดีลนี้จะปกป้องฐานที่มั่นทางการทหารเพราะส่วนหนึ่งของข้อตกลงกำหนดว่าอังกฤษ-สหรัฐฯ จะสามารถเช่านาน 99 ปี แต่เป็นคำอ้างที่บรรดานักวิจารณ์ตั้งข้อสงสัยรวม นักการเมืองอังกฤษชื่อดัง ไนเจล ฟาราจ (Nigel Farage) ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงทีมรัฐบาลใหม่ทรัมป์รู้สึก “สยดสยอง” ต่อดีลหมู่เกาะชาโกสของรัฐบาลแรงงานอังกฤษ
ทั้งนี้ สตาร์เมอร์อ้างว่า อังกฤษไม่มีทางเลือกต้องยอมส่งคืนโดยเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ICJ
ฟาราจซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของทรัมป์ และล่าสุด อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอเมริกันเจ้าของเทสลาและบริษัทสเปซเอ็กซ์ และเมื่อไม่นานมานี้โดยสื่อเดอะสแตนดาร์ดของอังกฤษเปิดเผยว่า กำลังพิจารณาจะบริจาค 100 ล้านดอลลาร์ให้พรรคปฏิรูป (Reform Party) ของฟาราจเพื่อทำให้การเมืองอังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลง
รอยเตอร์รายงานวันที่ 28 พ.ย. ก่อนหน้าว่า ฟาราจในเดือนพฤศจิกายนได้เปิดเผยว่า ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่และรัฐบาลพรรครีพับลิกันไม่เห็นด้วยต่อข้อตกลงหมู่เกาะชาโกส
ทั้งนี้ ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาร์โก รูบิโอ (Margo Rubio) แสดงความเห็นว่า ข้อตกลงหมู่เกาะชาโกสนั้นเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ จากการต้องยกเลิกการครอบครองหมู่เกาะที่ซึ่งถือเป็นฐานการทหารทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาที่มีทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล และเรือรบ เป็นเสมือนการยอมสยบต่อประเทศที่เป็นพันธมิตรกับจีน
ขณะที่สกายนิวส์ของอังกฤษรายงานวันที่ 29 พ.ย.ว่า นายกรัฐมนตรีมอร์ริเชียสคนใหม่ เนวิน รัมกูลัม (Navin Ramgoolam) เพิ่งรับการแต่งตั้ง มีคำสั่งคณะรัฐมนตรีมอร์ริเชียสให้สั่งทบทวนด่วนต่อดีลข้อตกลงหมู่เกาะชาโกสร่วมกับอังกฤษ
บีบีซีของอังกฤษรายงานว่า อาร์วิน บูเลล (Arvin Boolell) รัฐมนตรีอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงมอร์ริเชียสใหม่ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน โดยชี้ไปว่าอดีตผู้นำมอร์ริเชียสยอมอ่อนข้อให้อังกฤษสามารถเช่าหมู่เกาะดิเอโก การ์เซียเป็นเวลานาน โดยอ้างว่าเป็นระยะเวลาถึง 200 ปี ถึงแม้ในตัวแถลงจะระบุว่าระยะเวลาเริ่มต้นที่ 99 ปีก็ตาม
เดลีเมลของอังกฤษรายงานวันอาทิตย์ (1) ว่า เอ็ด อาร์โนลด์ (Ed Arnold) นักวิจัยอาวุโสประจำธิงแทงก์ความมั่นคงยุโรป RUSI เปิดเผยแก่เดลีเทเลกราฟว่า
“ความวิตกต่อข้อตกลงนี้จะเป็นประโยชน์ต่อจีน ดังนั้นในกรณีนี้อาจเป็นว่า เครมลินทำไปเพื่อประโยชน์ของปักกิ่งด้วยการเป็นตัวแทนให้แก่คนเหล่านั้น”
ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน สัปดาห์นี้ออกมาชี้ว่า การยกอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะชาโกสนั้นเป็นเสมือนการยิงไปเท้าตัวเองที่เป็นการกระทำทำให้ตัวเองต้องได้รับผลร้าย