xs
xsm
sm
md
lg

ล่มไม่เป็นท่า! ที่ประชุม 'สนธิสัญญาพลาสติกโลก' ปิดฉากโดยไร้ข้อตกลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสหประชาชาติฉบับแรกว่าด้วยการลดใช้พลาสติกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในวันจันทร์ (2 ธ.ค.) โดยมีกว่า 100 ประเทศที่เห็นด้วยกับแผนจำกัดการผลิตพลาสติก ขณะที่กลุ่มชาติผู้ผลิตน้ำมันยังคงสนับสนุนเพียงมาตรการจัดการขยะพลาสติกเท่านั้น

การประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองปูซานของเกาหลีใต้ มีเป้าหมายเพื่อผลักดันสนธิสัญญาระดับโลกที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และถูกคาดหวังว่าจะเป็นการเจรจานัดสุดท้าย แต่ปรากฏว่าชาติผู้เจรจายังคงมีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับขอบเขตพื้นฐานของสนธิสัญญา และการตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆ ต้องถูกเลื่อนออกไปก่อนจนกว่าจะมีการหารือครั้งใหม่

ประเด็นที่นานาชาติขัดแย้งกันมากที่สุดก็คือการจำกัดปริมาณการผลิตพลาสติก การจัดการผลิตภัณฑ์พลาสติกและสารเคมีที่เกี่ยวข้อง และการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามสนธิสัญญา

ข้อเสนอจากรัฐบาลปานามาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกมีการกำหนดแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายลดการผลิตพลาสติก ในขณะที่อีกข้อเสนอหนึ่งไม่ได้ตั้งข้อจำกัดการผลิตเอาไว้

กลุ่มชาติผู้ผลิตปิโตรเคมีไม่กี่ประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย แสดงท่าทีต่อต้านอย่างแข็งขันต่อความพยายามลดการผลิตพลาสติก และพยายามใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อที่จะชะลอการเจรจาออกไป

"การเจรจายังไม่มีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์" อับดุลเราะห์มาน อัลเกวซ ผู้แทนของซาอุดีอาระเบียกล่าว

"มีข้อกำหนด 2-3 ประการที่ถูกบรรจุเข้าไป (ในเอกสาร) ทั้งที่เรายืนกรานมาโดยตลอดว่ามันไม่อยู่ในขอบเขต"

จีน สหรัฐฯ อืนเดีย เกาหลีใต้ และซาอุดีอาระเบีย เป็น 5 ชาติผู้ผลิตพอลิเมอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2023 ตามข้อมูลจาก Eunomia

ทั้งนี้ หากที่ประชุมสามารถก้าวข้ามความเห็นต่างๆ ได้สำเร็จ สนธิสัญญาฉบับนี้อาจจะเป็นหนึ่งในข้อตกลงว่าด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีความหมายมากที่สุดถัดจากความตกลงปารีสปี 2015

การเลื่อนเจรจานี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ตามหลังการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP29 ที่กรุงบากูของอาเซอร์ไบจานที่ปิดฉากลงแบบน่าผิดหวังเช่นกัน

ในการประชุม COP29 ประเทศต่างๆ ได้กำหนดเป้าหมายระดมเงินทุน 300,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อช่วยเหลือประเทศหมู่เกาะและชาติกำลังพัฒนาในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นวงเงินที่ถูกมองว่ายังไม่เพียงพอ

ปริมาณการผลิตพลาสติกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวภายในปี 2050 และเวลานี้ไมโครพลาสติกเริ่มถูกพบกระจัดกระจายไปทั่วทั้งในอากาศ ของสด หรือแม้กระทั่งในน้ำนมของมนุษย์
 
ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น