ทรัมป์ยังคงสูตรเดิมในการแต่งตั้งสมาชิกคณะบริหารแห่งสมัยดำรงประธานาธิบดี 2.0 ของเขา นั่นคือ เป็นคนมีเงินที่ใกล้ชิดกับครอบครัวของเขาเอง หรือพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าจงรักภักดีกับตัวเขา โดยล่าสุดเขาประกาศเสนอชื่อ ชาร์ลส์ คุชเนอร์ พ่อของจาเร็ด ลูกเขยคนโปรด เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำฝรั่งเศส ทั้งที่เคยมีวีรเวรวีรกรรมโจ๋งครึ่มถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปีมาแล้ว
โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์บนเว็บไซต์ “ทรูธ โซเชียล” ของตัวเองเมื่อวันเสาร์ (30 พ.ย.) ยกย่อง คุชเนอร์ผู้พ่อ เป็นนักธุรกิจและนักเจรจาที่ดีเยี่ยม อีกทั้งยังใจบุญสุนทาน และจะเป็นตัวแทนของอเมริกาและผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเข้มแข็ง
การเสนอชื่อคุชเนอร์เป็นไปตามสูตรคณะบริหารชุดนี้ของทรัมป์ ซึ่งจะเลือกคนที่ส่วนใหญ่รวย ใกล้ชิดกับครอบครัวของเขา หรือพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจงรักภักดีกับตัวเขา สำหรับคุชเนอร์นั้นเป็นผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ระดับมหาเศรษฐีและอดีตทนายความ ขณะที่จาเร็ด ซึ่งเป็นสามีของ อีวองกา ทรัมป์ บุตรสาวคนโตของเขานั้น เคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโสระหว่างที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทรัมป์ไม่ได้กล่าวถึงคือ ผู้ที่เขาเสนอชื่อให้เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำฝรั่งเศสผู้นี้ เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี
คุชเนอร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 70 ปี ยอมรับสารภาพผิดในข้อหาเลี่ยงภาษี ข่มขู่โน้มน้าวพยาน และบริจาคเงินในการหาเสียงอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งสิ้น 18 กระทงเมื่อปี 2004
ในคดีดังกล่าวที่ผู้ฟ้องร้องคือ คริส คริสตี้ ส.ว.คนดังคนหนึ่งของพรรครีพับลิกัน ขณะดำรงตำแหน่งเป็นอัยการสหรัฐฯ ยังครอบคลุมถึงพฤติกรรมโสมมของชาร์ลส์ คุชเนอร์ โดยคุชเนอร์รับสารภาพด้วยว่า เคยว่าจ้างโสเภณีไปยั่วยวนน้องเขยตัวเอง ซึ่งตอนนั้นให้ความร่วมมือกับฝ่ายอัยการในการสอบสวนคดีเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินในการหาเสียง จากนั้นจึงแอบถ่ายวิดีโอและส่งให้น้องสาวเพื่อโน้มน้าวไม่ให้สามีไปให้การเอาผิดตนเอง
คริสตี้ ที่เคยทำงานอยู่ในทีมรับโอนอำนาจตอนที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ก่อนที่จะหันกลับมาคัดค้านทรัมป์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งปีนี้ตั้งแต่การหยั่งเสียงรอบไพรมารีพรรครีพับลิกัน ได้กล่าวในเวลาต่อมาว่า คุชเนอร์ก่อคดีที่ “น่าขยะแขยง” และ “อาชญากรรมที่น่ารังเกียจ”
อย่างไรก็ดี ปี 2020 ทรัมป์ใช้อำนาจประธานาธิบดีอภัยโทษให้คุชเนอร์ จากคดีดังกล่าว ถึงแม้การที่เขาถูกศาลตัดสินว่าผิดจริง ได้ส่งผลให้เขาถูกเพิกถอนสิทธิในการเป็นทนายความใน 3 รัฐ
ทั้งนี้ ตำแหน่งเอกอัครราชทูตของสหรัฐฯประจำต่างประเทศ ถือเป็นตำแหน่งที่ผู้ได้รับเสนอชื่อต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบของวุฒิสภาสหรัฐฯ ก่อน
สหรัฐฯ นั้นมีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อผู้ที่เคยร่วมทำธุรกิจ หรือเป็นผู้บริจาคทางการเมืองรายใหญ่เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศสำคัญๆ แต่น้อยมากที่ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นผู้เคยถูกตัดสินว่ากระทำผิดคดีอาญาอุกฉกรรจ์
ในวันเสาร์ (30 พ.ย.) เช่นกัน ทรัมป์ยังโพสต์บนทรูธ โซเชียลว่า จะแต่งตั้ง แคช พาเทล อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติและหัวหน้าคณะทำงานของรักษาการรัฐมนตรีกลาโหมยุคทรัมป์ 1.0 เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ)
พาเทล ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ที่แสดงความจงรักภักดีต่อทรัมป์ ในการต่อต้านอิทธิพลฝังลึกของพวกข้าราชการในระบบการเมืองสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันว่า “รัฐพันลึก” เป็นนักการเมืองที่มีแนวคิดสายแข็งในรีพับลิกัน ซึ่งเชื่อว่า หน่วยงานรัฐบาลบางแห่ง รวมทั้งเอฟบีไอ มีความอคติเอนเอียงไม่พอใจทรัมป์ อีกทั้งพยายามอยู่หลังฉากในการกำจัดทรัมป์
การเสนอชื่อ พาเทล จะเท่ากับว่า คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอคนปัจจุบันที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปีจนถึงปี 2027 หากไม่ลาออกหรือก็จะถูกปลดออก
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาเอฟบีไอภายใต้การควบคุมของเรย์ ซึ่งอันที่จริงเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งโดยทรัมป์ ได้เปิดการสอบสวนว่าที่ประธานาธิบดีผู้นี้หลายคดี รวมถึงการบุกค้นรีสอร์ตส่วนตัวที่มาร์-อา-ลาโก ของทรัมป์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในคดีนำเอาเอกสารลับด้านความมั่นคงไปเก็บไว้ที่บ้านภายหลังพ้นตำแหน่ง
(ที่มา : เอเอฟพี)