อีลอน มัสก์ ขานรับรายงานข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กำลังกดดันให้ยูเครนปรับลดอายุเกณฑ์ทหารเหลือ 18 ปี ตั้งคำถามกลับไปว่าอยากเห็นชายฉกรรจ์ต้องมาตายอีกมากแค่ไหน ถึงจะยอมให้ความขัดแย้งจบลง
สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ว่า ทำเนียบขาวเร่งเร้าให้ เคียฟ ปรับลดอายุการเกณฑ์ทหารสู่อายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อชดเชยปัญหาขานแคลนกำลังพลในการทำศึกสงครามกับรัสเซีย
มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์มเอ็กซ์ และพันธมิตรของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อรายงานข่าวดังกล่าวที่เผยแพร่ออกมาในวันพุธ (27 พ.ย.) ด้วยการตั้งคำถามว่า "จะต้องมีคนตายอีกมากแค่ไหน?"
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี ยูเครนได้ปรับลดอายุเกณฑ์ทหารมาแล้วหนหนึ่งจาก 27 ปี เหลือ 25 ปี เพื่อชดเชยความสูญเสียที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม พวกเจ้าหน้าที่บางส่วนของเคียฟ แย้มในช่วงเวลาดังกล่าวว่าอาจมีการปรับลดอายุเกณฑ์ลงกว่านั้นอีก
ในวันพฤหัสบดี (28 พ.ย.) ดมิทรี ลิตวิน ผู้ช่วยของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน บอกว่าเสียงเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ขอให้เติมเต็มกำลังพลสู้รบของประเทศด้วยคนหนุ่ม "ไม่สมเหตุสมผล" และแนะนำว่าวอชิงตันควรหันไปโฟกัสเกี่ยวกับการป้อนอาวุธแก่ยูเครน ตามที่เคยสัญญาเอาไว้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แทน "ยูเครนขาดแคลนอาวุธสำหรับติดตัวกำลังพลที่ระดมมาก่อนหน้านี้" เขาเขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์
มัสก์ กลายเป็นพันธมิตรใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานธิบดีสหรัฐฯ ผู้ซึ่งให้คำสัญญาว่าจะยุติความขัดแย้งยูเครนอย่างรวดเร็ว ครั้งที่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้ ถึงขั้นมีข่าวว่าซีอีโอของเทสลา เข้าร่วมในการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกากับเซเลนสกี เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา
มหาเศรษฐีรายนี้ไม่ได้ยืนยันว่าเขาเข้าร่วมในการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์กับเซเลนสกี แต่เขาเขียนบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ไม่นานหลังจากนั้น ว่า "หมดเวลาแล้วสำหรับพวกกระหายและแสวงหาประโยชน์จากสงคราม การเข่นฆ่าแบบไร้เหตุผลจะจบลงเร็วๆ นี้"
นอกเหนือจากภาวะขาดแคลนกำลังพล กองทัพยูเครนยังเผชิญกับปัญหาขวัญกำลังใจลดต่ำ ท่ามกลางความสูญเสียที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่บรรดาทหารที่อยู่ตามแนวหน้าเริ่มอ่อนแรงลง
หนังสือพิมพ์อีโคโนมิกส์ รายงานในสัปดาห์นี้ว่า ชาวยูเครนไม่อยากเข้ารับการเกณฑ์ทหารอีกแล้ว และแม้กระทั่งตัวทหารเองก็เริ่มเปิดกว้างสำหรับการยอมเสียดินแดนแลกกับการยุติสงคราม ผู้บัญชาการในแนวหน้ารายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อแห่งนี้ว่า ปัจจุบันเหลือกำลังพลเพียง 30% ที่ตั้งใจสู้ต่อไปจนถึงจุดจบ
วอชิงตันโพสต์ กล่าวอ้างเช่นกันว่า พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปหลายรายเริ่มยอมรับว่า เคียฟ อาจถูกบีบให้เข้าสู่การเจรจากับรัสเซีย ครั้งที่ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคม และท้ายที่สุดแล้วอาจต้องยอมสละดินแดนเพื่อยุติความขัดแย้ง
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)