เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - ธนาคารกลางรัสเซียวันพุธ (27 พ.ย.) เข้าแทรกแซงเพื่อหนุนค่าเงินรูเบิลรัสเซีย หลังร่วงหนักเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้ ทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่มีนาคม 2022 ไม่นานหลังเครมลินเปิดฉากการรุกรานยูเครนในปีนั้น ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ออกมายอมรับว่า เกิดขึ้นจริงแต่ไม่ต้องตกใจสถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม โฆษกย้ำคนรัสเซียไม่กระทบเพราะได้เงินเดือนเป็นรูเบิลอยู่แล้ว เกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ งัดมาตรการแข็งกร้าวคว่ำบาตรธนาคารก๊าซปรอมตัดช่องทางรัสเซียได้เงินค่าพลังงานจากลูกค้ายุโรป
CNBC News ของสหรัฐฯ รายงานวานนี้ (28 พ.ย.) ว่า ค่าสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนตัวลงที่ 114 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ในวันพุธ (27) กลายเป็นการตกต่ำสุดนับตั้งแต่มีนาคมปี 2022 หรือไม่นานหลังวันที่ 24 ก.พ. ก่อนหน้าในปีเดียวกัน
และส่งผลทำให้ธนาคารกลางรัสเซีย CBR ในวันพุธ (27) รีบเข้ามาแทรกแซงแตะเบรกสั่งแขวนค่าเงินรัสเซียเพื่อพยุงไว้ โดยประกาศจะยุติการซื้อขายสกุลเงินตราต่างประเทศในตลาดภายในชั่วคราว เพื่อลดความไม่เสถียรของตลาดการเงินไว้ชั่วคราว
และผลจากการเข้าแทรกแซง ทำให้เงินรูเบิลรัสเซียสามารถดีดกลับขึ้นมาได้ในการซื้อขายเช้าวันพฤหัสบดี (28) อยู่ที่ 110 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ออกมายอมรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ไม่ต้องตื่นตกใจต่อการลดลงของค่าสกุลเงินรูเบิลไปและเป็นความผันผวนของค่าเงินที่มาจากการจ่ายงบประมาณและการผันเปลี่ยนทางฤดูกาล
“ในความเห็นของผม สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมและไม่มีเหตุผลต้องตื่นตระหนก” สำนักข่าวรัสเซีย RIA กล่าวรายงาน
ผู้นำรัสเซียเสริมว่า “จากการผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิล มันไม่ใช่แค่การเกี่ยวข้องเฉพาะกับกระบวนการสภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินตามงบประมาณ มันเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน มีปัจจัยมากมายของตามธรรมชาติฤดูกาล”
ด้านโฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิตรี เพสคอฟ ออกมาแสดงความเห็นถึงค่าเงินรัสเซียที่ดิ่งเหวอย่างฉับพลันว่า สิ่งนี้ไม่ได้กระทบประชาชนรัสเซียโดยทั่วไปเพราะคนเหล่านั้นได้รับเงินเดือนเป็นเงินรูเบิล
ทั้งนี้ CNBC รายงานการคำให้สัมภาษณ์ของผู้นำรัสเซียและโฆษกโดยแปลภาษารัสเซียจากบริการแปลภาษาด้วย AI ของกูเกิล ซึ่งข่าวการแถลงของประธานาธิบดีปูตินนี้รายงานตรงกันกับของสถานีโทรทัศน์ฟรานซ์ 24 สื่อฝรั่งเศสทางยูทูปในวันศุกร์ (29)
สื่อธุรกิจชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานว่า ผลจากค่าเงินรูเบิลร่วงดิ่งเหวส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์มาตรการล่าสุดจากการคว่ำบาตรธนาคารก๊าซปรอมธนาคารเส้นเลือดทางการพลังงานโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ที่เซ็นทิ้งทวนช่วงสุดท้ายของการอยู่ในอำนาจก่อนส่งไม้ต่อให้ว่าที่ผู้นำคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์
รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ก่อนหน้าว่า การสั่งคว่ำบาตรธนาคารก๊าซปรอม (Gazprombank) จากทำเนียบขาวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทำให้ตัดช่องทางเครมลินได้เงินค่าพลังงานจากลูกค้ายุโรป
ทั้งนี้ ธนาคารก๊าซปรอมซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับบริษัทพลังงานก๊าซปรอมที่เป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย และธนาคารก๊าซปรอมยังทำหน้าที่เป็นช่องทางการชำระเงินค่าพลังงานจากยุโรป
นักวิเคราะห์ชี้ว่า การคว่ำบาตรธนาคารก๊าซปรอมถือเป็นการปิดช่องทางการจ่ายเงินสินค้าพลังงานที่รัสเซียขายไป อย่างไรก็ตามมีเสียงเตือนว่า มาตรการนี้จะช่วยผลักดันให้รัสเซียต้องหันหน้าใกล้ชิดจีนเพิ่มมากขึ้น
นักวิเคราะห์ประจำธนาคารการลงทุน ซินารา (Sinara Investment Bank) เปิดเผยว่า “การชำระค่าสินค้าพลังงานของ EU ผ่านธนาคารก๊าซปรอมน่าจะไม่สามารถกระทำได้ภายในสิ้นปี 2024
CNBC รายงานว่า รัฐบาลเครมลินได้ออกมาอ้างถึงปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่สูงเนื่องมาจากรัสเซียโดนคว่ำบาตรจาก “กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นมิตร” จากความพยายามเพื่อหันเหความสนใจจากสงครามยูเครน ที่ส่งผลทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนด้านแรงงานและสินค้าและการเพิ่มของค่าแรงและต้นทุนการผลิต