xs
xsm
sm
md
lg

ลองของ! สหรัฐฯ เชื่อมอสโกไม่กล้าใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้ หลัง US ไฟเขียวเคียฟโจมตีดินแดนลึกรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธของอเมริกาโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย จะไม่เพิ่มความเสี่ยงของการโจมตีทางนิวเคลียร์ และไม่น่ามีความเป็นไปได้ แม้ทางประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ใช้วาทกรรมพร้อมทะเลาะวิวาทหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ตามรายงานของรอยเตอร์อ้างอิงแหล่งข่าว 5 คนที่ใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คนและผู้ช่วยสมาชิกสภาคองเกรส 2 ราย ให้ข้อมูลโดยสรุปในประเด็นนี้ว่า รัสเซียมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะยกระดับยุทธการลอบก่อวินาศกรรมเป้าหมายต่างๆ ในยุโรป เพื่อถาโถมแรงกดดันใส่ตะวันตกต่อกรณีสนับสนุนเคียฟ

การประเมินด้านข่าวกรองต่างๆ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่า "ไม่น่าจะเป็นไปได้" ที่จะเกิดสถานการณ์ลุกลามบานปลายทางนิวเคลียร์ หากสหรัฐฯ ผ่อนปรนข้อจำกัดแก่ยูเครนในการใช้อาวุธของอเมริกา และมุมมองดังกล่าวยังคงเดิม หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปลี่ยนจุดยืนของสหรัฐฯ ที่มีต่อข้อจำกัดด้านการใช้อาวุธเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

แหล่งข่าวที่เป็นผู้ช่วยสมาชิกสภาครองเกรส ระบุว่า "คำประเมินต่างๆ มีความสอดคล้องกัน ระบบขีปนาวุธ ATACM จะไม่เปลี่ยนแปลงการคำนวณเกี่ยวกับการใช้นิวเคลียร์ของรัสเซีย" อ้างถึงขีปนาวุธพิสัยทำการสูงสุด 306 กิโลเมตร ที่สหรัฐฯ อนุมัติให้ยูเครนใช้โจมตีรัสเซีย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียยิงขีปนาวุธแบบทิ้งตัวรุ่นใหม่ ซึ่งพวกนักวิเคราะห์เชื่อว่ามันมีเจตนาส่งสัญญาณเตือนไปยังวอชิงตันและพันธมิตรยุโรปของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระบุว่ามันไม่ได้เปลี่ยนแปลงข้อสรุปของหน่วยข่าวกรองอเมริกา

แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งบอกว่า ในขณะวอชิงตันประเมินว่ามอสโกจะไม่หาทางโหมกระพือสถานการณ์ลุกลามลานปลายด้วยกองกำลังนิวเคลียร์ แต่รัสเซียจะพยายามสร้างความทัดเทียมในสิ่งที่มองว่าเป็นการโหมกระพือสถานการณ์ให้ลุกลามบานปลายโดยสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่รายนี้บอกว่าการประจำการขีปนาวุธใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าว

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่าข่าวกรองดังกล่าวช่วยเป็นเครื่องชี้ทางการถกเถียงที่บ่อยครั้งเต็มไปด้วยความเห็นต่างภายในรัฐบาลของไบเดน ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ว่าวอชิงตันควรผ่อนปรนข้อจำกัดแก่ยูเครนในการใช้อาวุธของอเมริกาหรือไม่ ซึ่งเสี่ยงก่อความเดือดดาลแก่ปูติน

เบื้องต้น มีเสียงต้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว อ้างถึงความกังวลสถานการณ์ลุกลามบานปลายและความไม่แน่นอนว่า ปูติน จะตอบโต้อย่างไร บางส่วนในเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ในนั้นรวมถึงในทำเนียบขาว เพนตากอนและกระทรวงการต่างประเทศ เกรงว่ามอสโกจะแก้แค้นหนักหน่วงรุนแรง เล่นงานทหารและบุคลากรทางการทูตของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับโจมตีพันธมิตรนาโต

อย่างไรก็ตาม แม้มีความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ลุกลามบานปลายทางนิวเคลียร์ แต่ ไบเดน เกิดเปลี่ยนใจ สืบเนื่องจากการเข้าร่วมวงสงครรามของเกาหลีเหนือ ก่อนศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่อเมริกา

เวลานี้เจ้าหน้าที่บางส่วนเชื่อว่าความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ลุกลามบานปลาย ในนั้นรวมถึงข้อวิตกเกี่ยวกับนิวเคลียร์นั้นเลยเถิดเกินไป แต่เน้นย้ำว่าสถานการณ์ในภาพรวมในยูเครนยังคงอันตราย และสถานการณ์ลุกลามบานปลายทางนิวเคลียร์ยังมีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน ความสามารถของรัสเซียในการหาหนทางอำพรางแนวทางแก้แค้นตะวันตกก็เป็นสิ่งที่น่าวิตกเช่นกัน

"การตอบโต้แบบลูกผสมของรัสเซียเป็นสิ่งที่น่ากังวล" แองเจลา สเตนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซียน รัสเซียและยุโรปตะวันออก ณ มหาวิทยาลัยจอร์เจียทาวน์ ให้ความเห็น อ้างถึงปฏิบัติการลอบก่อวินาศกรรมของรัสเซียในยุโรป "โอกาสแห่งสถานการณ์ลุกลาม ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เวลานี้มีความกังวลใหญ่หลวงกว่าเดิม"

เมื่อเดือนเมษายน ทำเนียบขาวอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของอเมริกาโจมตีข้ามชายแดนในกรณีแวดล้อมต่างๆ แบบจำกัด แต่ไม่ให้ใช้โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย อ้างถึงความเสี่ยงสถานการณ์ลุกลามบานปลายกับมอสโก ประโยชน์ทางเทคนิคและเสบียงขีปนาวุธ ATACM ที่มีอย่างจำกัด

หนึ่งในคำประเมินด้านข่าวกรองในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำขึ้นตามคำขอของทำเนียบขาว อธิบายว่าการโจมตีข้ามชายแดนจากเมืองคาร์คิฟของยูเครน จะส่งผลอย่างจำกัด เพราะว่า 90% ของอากาศยานรัสเซียได้ถูกเคลื่อนย้ายออกจากห่างชายแดนแล้ว พ้นจากระยะทำการของขีปนาวุธพิสัยใกล้

อย่างไรก็ตาม คำประเมินเน้นย้ำด้วยว่า แม้ ปูติน ขู่ใช้อาวุธนิวเคลียร์บ่อยครั้ง แต่ไม่มีความเป็นไปได้ที่ มอสโก จะใช้มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโต้ เพราะว่าพวกเขาเองก็ไม่ได้รับประโยชน์ทางทหารอย่างชัดเจน ทั้งนี้พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองให้คำจำกัดความทางเลือกด้านนิวเคลียร์ ว่าเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับรัสเซีย และ ปูติน น่าจะเลือกหนทางอื่นในการแก้แค้นเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอบก่อวินาศกรรมและการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งที่ผ่านมา รัสเซีย ได้ลงมือไปก่อนหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเจ้าหน้าที่บางส่วนภายในทำเนียบขาวและเพนตากอน โต้แย้งว่าการไฟเขียวให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธของสหรัฐฯ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย จะทำให้เคียฟ สหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหลายของอเมริกาตกอยู่ในอันตรายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และกระตุ้นให้ ปูติน ลงมือแก้แค้น ทั้งผ่านกองกำลังนิวเคลียร์หรือยุทธวิธีนองเลือดอื่นๆ นอกเขตสงคราม

ทั้งนี้ พวกเจ้าหน้าเพนตากอนมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการโจมตีฐานทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น