ไมค์ วอลซ์ บุคคลซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เลือกให้เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของเขา เผยยุทธศาสตร์ของคณะบริหารชุดที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง ในการจัดการกับการสู้รบขัดแย้งยูเครน ระบุทีมทรัมป์จะเริ่มต้นดำเนินการเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากัน ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับมอบงานในวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า
วอลซ์ ซึ่งปัจจุบันยังมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากรัฐฟลอริดา ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ ฟ็อกซ์ นิวส์ เมื่อวันอาทิตย์ (24 พ.ย.) ว่า เรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูงเรื่องหนึ่งคือการจัดให้มีการพูดจากันระหว่างรัสเซียกับยูเครน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะนำทั้งสองฝ่ายเข้ามาร่วมกันเจรจาเพื่อทำข้อตกลงหยุดยิง หรือข้อตกลงสันติภาพ
“เราจำเป็นต้องหารือกันในเรื่องว่าใครจะเข้ามานั่งในโต๊ะเจรจานี้บ้าง มันจะเป็นการทำข้อตกลง (สันติภาพ) กัน หรือเป็นการตกลงหยุดยิงกัน จะใช้วิธีการยังไงในการทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้าสู่โต๊ะเจรจา และจากนั้นก็คือขอบเขตของการทำความตกลงกันครั้งนี้” เขากล่าว
วอลซ์ยังย้ำถึงความสำคัญของการให้พวกพันธมิตรของอเมริกาในยุโรปเข้ามีส่วนในกระบวนการนี้ “พันธมิตรและหุ้นส่วนของเราทั้งหมดจำเป็นต้องมาแบกรับภารกิจนี้” เขาย้ำ และสำทับว่า การแก้ไขการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ย้ำให้สัญญาว่า จะทำให้การสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยุติลงโดยรวดเร็ว และแสดงความกังวลที่สถานการณ์ลุกลาม ทว่าไม่ได้ให้รายละเอียดแผนการที่เขาจะดำเนินการ
การแสดงความคิดเห็นของ วอลซ์ ครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดที่กำลังพุ่งสูงขึ้น หลังจากสหรัฐฯ อนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธยุทธวิธีพิสัยไกล อย่างระบบอะแทคซิมส์ (ATACMS) โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนหมีขาว และมอสโกตอบโต้ด้วยการยิงระบบขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลางระบบใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “โอเรซนิก” โจมตีใส่ยูเครนในสัปดาห์ที่แล้ว
วอลซ์ตั้งข้อสังเกตว่า การตัดสินใจเมื่อเร็วๆ นี้ของสหรัฐฯ ซึ่งกระทำโดยคณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน นำไปสู่การสู้รบอย่างดุเดือดรุนแรงขึ้น พร้อมกับพูดถึง สถานการณ์แนวหน้ายูเครนเวลานี้ว่า พวกที่อยู่ที่นั่นเหมือนตกอยู่ใน “เครื่องบดเนื้ออย่างแท้จริง”
วอลซ์ เป็นนายทหารปฏิบัติการพิเศษหน่วย “กรีน แบเรต์” ของสหรัฐฯ ที่เกษียณจากกองทัพขณะมียศพันเอก ก่อนหันมาเล่นการเมือง และได้ชื่อว่ามีแนวทางต่างประเทศสายเหยี่ยว เขาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัสเซียมาโดยตลอด ทว่าขณะเดียวกันก็คัดค้านการเพิ่มความช่วยเหลือให้ยูเครนเช่นเดียวกับทรัมป์
ว่าที่ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ผู้นี้ แสดงความมั่นใจว่า คณะบริหารของทรัมป์จะทำให้การสู้รบขัดแย้งในยูเครนยุติลงอย่างรวดเร็วและอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมกันนั้น ก็สำทับว่า อเมริกาต้องฟื้นฟูยกระดับการป้องปรามและสันติภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้บานปลายขยายตัวในภายหลัง แทนที่จะเพียงแค่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ทรัมป์แสดงความมุ่งมั่นที่จะยุติการสู้รบในยูเครน แต่ยังมีความเคลือบแคลงทั้งในอเมริกาและรัสเซีย ตัวอย่างเช่น วุฒิสมาชิกไมค์ ราวส์ สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐเซาท์ดาโคตา ซึ่งออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการเจรจาโดยตรงระหว่างมอสโกกับเคียฟ
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ก็คัดค้านตลอดมาต่อข้อเสนอให้ยูเครนยอมยกดินแดนให้รัสเซีย ถึงแม้เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้ยอมรับกับฟ็อกซ์ นิวส์ว่า ยูเครนคงแพ้สงคราม ถ้าวอชิงตันยุติการสนับสนุน
นอกจากเรื่องยูเครนแล้ว วอลซ์ยังเปิดเผยในการพูดกับฟ็อกซ์ นิวส์คราวนี้ว่า เขาได้มีการหารือกับ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน และเตือนอริต่างชาติว่า อย่าคิดฉวยโอกาสระหว่างการถ่ายโอนอำนาจในสหรัฐฯ พร้อมย้ำว่า ทีมถ่ายโอนอำนาจของทรัมป์และของไบเดนขณะนี้มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
วอลซ์ยังยกย่องความเข้มแข็งและความพยายามของอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในกาซาไปอย่างน้อยเกือบๆ 45,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่จะร่างแผนการซึ่งไม่เพียงป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยวันที่ 7 ต.ค.ปีที่แล้วที่ฮามาสบุกเข้าไปโจมตีอิสราเอลและจุดชนวนสงครามในกาซา แต่ต้องนำเสถียรภาพมาสู่ตะวันออกกลางอย่างแท้จริง
(ที่มา : เอเอฟพี/อาร์ที)