xs
xsm
sm
md
lg

อยู่เฉยไม่ไหว! สหรัฐฯ เอาบ้างเล็งปรับยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ รับมือภัยคุกคามจากรัสเซียและจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ จะปรับยุทธศาสตร์ป้องปรามทางนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ของภัยคุกคามต่างๆ จากรัสเซียและจีน อ้างอิงรายงานฉบับหนึ่งของเพนตากอน

ในถ้อยแถลงที่เผยแพร่ในวันพฤหัสบดีที่แล้ว (21 พ.ย.) กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า "พวกศัตรูที่ทัดเทียมทางนิวเคลียร์หลายชาติ ท้าทายความมั่นคงของสหรัฐฯ พันธมิตรและคู่หู" พร้อมระบุประเทศเหล่านี้กำลังยกระดับคลังแสงให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และกำลังปรับปรุงให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น

ริชาร์ด จอห์นสัน รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหม ชี้เป้าที่ไปรัสเซียและจีน พร้อมเน้นว่าบางทีสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องปรับแก้ Nuclear Posture Review ปี 2022 เพื่อธำรงไว้ซึ่งการป้องปรามทางนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เขาเน้นว่าความพยายามปรับปรุงทางนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัยมากขึ้นอาจจะไม่เพียงพอ

จอห์นสัน กล่าวถึงความกังวลเหล่านี้ โดยชี้ว่า "เพนตากอนได้ใช้ก้าวย่างต่างๆ ในการยกระดับความสามารถในภาคสนามในการเสริมการป้องปรามและความยืดหยุ่นทางนิวเคลียร์" ซึ่งองค์ประกอบหลักของมาตรการนี้คือ การประจำการระเบิดแรงโน้มถ่วง B61-13 เพิ่มความพร้อมของอาวุธนิวเคลียร์และยกระดับแสนยานุภาพของกองเรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ

ก่อนหน้านี้ เพนตากอนแถลงประจำการระเบิด B61 รุ่นใหม่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และบอกว่ามันจะเข้ามาแทนที่เวอร์ชันเก่าบางรุ่น และมอบทางเลือกต่างๆ เพิ่มเติมแก่สหรัฐฯ ในการจัดการกับเป้าหมายทางทหารในพื้นที่ขนาดใหญ่และยากลำบากกว่าเดิม อย่างไรก็ตามวอชิงตันเน้นย้ำว่าการประจำการ B61-13 ไม่ใช่การตอบสนองต่อสถานการณ์ใดๆ ในปัจจุบัน และจะไม่เป็นการเพิ่มสต๊อกนิวเคลียร์ในภาพรวม

เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ คือองค์ประกอบหลักของ "สามเหล่านิวเคลียร์ (nuclear triad)" ของสหรัฐฯ และออกแบบมาเฉพาะเจาะจงสำหรับป้องปรามทางนิวเคลียร์ ทั้งนี้เรือดำน้ำชั้นโอไฮโอ สามารถติดขีปนาวุธไทรแดนท์ ที่มีพิสัยทำการสูงสุด 12,000 กิโลเมตร

ความเห็นของ จอห์นสัน มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งให้ปรับแก้หลักการนิวเคลียร์ของประเทศเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน เอกสารที่มีการปรับแก้นั้นกำหนดให้ "การรุกรานเล่นงานสหพันธรัฐรัสเซียและ/หรือชาติพันธมิตร โดยรัฐหนึ่งที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง แต่ดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนจากประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ จะถูกมองในฐานะเป็นการโจมตีร่วม"

ปูติน อนุมัติการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในวันที่ 19 พฤศจิกายน หลังจากสหรัฐฯ และบรรดาพันธมิตรตะวันตกหลายชาติของอเมริกา ไฟเขียวให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่จัดหาให้ โจมตีลึกเข้ามาในดินแดนรัสเซีย แม้มอสโกเคยเตือนว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย และผลก็คือเป็นการลากนาโตเข้าร่วมความขัดแย้งโดยตรง

ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ที่แล้วเช่นกัน รัสเซียปฏิบัติการโจมตียูเครน ด้วยการใช้ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกพิสัยปานกลางล่าสุด Oreshnik พร้อมระบุมันเป็นการตอบโต้การโจมตีข้ามชายแดนของเคียฟ ที่ใช้ระบบ ATACMS และ HIMARS ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ เช่นเดียวกับขีปนาวุธสตอร์ม ชาโดว์ ที่ผลิตโดยสหราชอาณาจักร

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น