ขีปนาวุธพิสัยปานกลางของรัสเซียที่พุ่งเข้าโจมตีเมืองดนีโปร (Dnipro) ของยูเครนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 พ.ย.) ทำความเร็วสูงสุดมากกว่า 13,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 15 นาทีจากจุดปล่อยจนกระทั่งไปถึงเป้าหมาย ตามข้อมูลจากทางการยูเครนซึ่งออกมาประเมินศักยภาพของขีปนาวุธรัสเซียรุ่นใหม่เป็นครั้งแรก
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ประกาศว่ามอสโกได้ใช้ขีปนาวุธทิ้งตัวไฮเปอร์โซนิกพิสัยปานกลางรุ่นใหม่ที่ชื่อว่า “โอเรชนิก” (Oreshnik) ยิงถล่มฐานที่มั่นทางทหารของยูเครน เพื่อเป็นคำเตือนถึงชาติตะวันตกว่าอย่าได้หนุนหลังเคียฟในการทำสงครามต่อไปอีก
ปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนใกล้บรรจบครบปีที่ 3 และสหรัฐฯ รวมถึงพันธมิตรตะวันตกบางประเทศได้เริ่มอนุมัติให้ยูเครนนำอาวุธพิสัยไกลไปใช้ยิงโจมตีเป้าหมายภายในดินแดนรัสเซีย
“ขีปนาวุธรัสเซียใช้เวลาเดินทางจากจุดปล่อยในภูมิภาคอัสตราคาน (Astrakhan) มาจนถึงเป้าหมายที่ดนีโปรเพียง 15 นาที” กองบัญชาการข่าวกรองหลัก (HUR) ของกองทัพยูเครนระบุในถ้อยแถลง
“ขีปนาวุธลูกนี้ถูกติดตั้งหัวรบทั้งหมด 6 หัว แต่ละหัวมีกระสุนย่อยอีก 6 ลูก และความเร็วในช่วงสุดท้ายของมันสูงกว่า Mach 11”
คำว่า Mach นั้นเป็นหน่วยวัดความเร็วเสียง โดย Mach 11 นั้นเทียบเท่าความเร็วประมาณ 13,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
HUR ระบุด้วยว่า ขีปนาวุธพิสัยปานกลางรุ่นนี้น่าจะถูกพัฒนาขึ้นที่ศูนย์ผลิตขีปนาวุธ Kedr ซึ่ง วาดิม สกีบิตสกี รองผู้บัญชาการ HUR เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อยูเครนว่าเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบโอเรชนิก และมันได้ถูกนำมายิงทดสอบครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2021
สกีบิตสกี คาดการณ์ว่ารัสเซียอาจจะมีการทดสอบขีปนาวุธรุ่นนี้อีกอย่างน้อย 10 ครั้ง ก่อนที่จะเริ่มผลิตในปริมาณมาก ตามรายงานของสำนักข่าว Ukrinform
ก่อนหน้านี้ เคียฟได้สันนิษฐานว่าขีปนาวุธดังกล่าวน่าจะเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ทว่าเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้ออกมาชี้แจงคุณสมบัติของมันว่าเข้าข่ายเป็นขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยปานกลาง (intermediate-range ballistic missile)
ด้านกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเรียกร้องเมื่อวันพฤหัสบดี (21) ให้ประชาคมโลกเร่งตอบโต้ปฏิบัติการโจมตีของมอสโกในครั้งนี้ ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่านาโตเตรียมเรียกประชุมฉุกเฉินกับฝ่ายยูเครนที่สำนักงานใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์วันอังคารหน้า (26) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ที่มา : รอยเตอร์