ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนออกมายอมรับผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า การทวงคืนคาบสมุทรไครเมียซึ่งถูกรัสเซียยึดไปตั้งแต่ปี 2014 คงจะต้องใช้ “แนวทางการทูต” เท่านั้น
ในบทสัมภาษณ์กับ Fox News บนรถไฟในยูเครนซึ่งถูกนำมาออกอากาศเมื่อวันพุธ (20 พ.ย.) เซเลนสกี ระบุว่า ประเทศคงรับไม่ไหวหากต้องสละชีวิตผู้คนจำนวนมากไปกับปฏิบัติการทางทหารเพื่อทวงแหลมไครเมียกลับคืนมา
อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี ยังคงปฏิเสธเสียงแข็งกับการยอมเสียดินแดน และย้ำว่ายูเครน “ไม่สามารถยอมรับได้ในทางกฎหมายว่าดินแดนของเราที่ถูกยึดอยู่นั้นได้กลายเป็นของรัสเซียแล้ว”
“ผมเคยพูดไปแล้วว่า เราพร้อมที่จะนำไครเมียกลับมาผ่านกระบวนการเจรจาทางการทูต” ผู้นำยูเครนให้สัมภาษณ์ผ่านล่าม
“เราไม่สามารถสูญเสียชีวิตคนเป็นพันเป็นหมื่นเพื่อทวงไครเมียกลับมา... และในความเป็นจริงเราก็ไม่สามารถนำมันกลับมาได้ด้วยอาวุธเท่าที่มีอยู่ในมือ เราเข้าใจดีว่าไครเมียจะต้องถูกนำกลับมาด้วยวิธีทางการทูต”
รัสเซียใช้กำลังเข้ายึดครองและประกาศผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในปี 2014 ตามหลังเหตุการณ์ปฏิวัติลุกฮือซึ่งทำให้ประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้นำยูเครนในขณะนั้นต้องพ้นตำแหน่งและหนีไปอยู่ต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในยูเครนตะวันออกที่มีมอสโกหนุนหลังก็เริ่มทำสงครามต่อสู้กับกองทัพเคียฟตั้งแต่นั้นมา
หลังเปิดปฏิบัติการสงครามเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 รัสเซียสามารถยึดดินแดนยูเครนเอาไว้ได้ประมาณ 1 ใน 5 และประกาศผนวก 4 แคว้นยูเครนเป็นของตนเอง แม้จะยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์เต็มร้อยก็ตาม
เซเลนสกี เคยเสนอสิ่งที่เรียกว่า “แผนแห่งชัยชนะ” (victory plan) ซึ่งกำหนดให้ต้องขับไล่ทหารรัสเซียออกไปจากดินแดนยูเครนทั้งหมด ทว่าในช่วงหลังๆ ท่าทีของเขาเริ่มเปลี่ยนไปสู่การเรียกร้องขอให้ชาติตะวันตกค้ำประกันความมั่นคงให้ยูเครน รวมถึงเชิญยูเครนเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียย้ำมาโดยตลอดว่ายอมไม่ได้
ที่มา : รอยเตอร์