xs
xsm
sm
md
lg

‘ไบเดน’อนุญาตให้ยิงขีปนาวุธอะแทคซิมส์เข้าดินแดนรัสเซีย คือการเร่งรัดให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน


การทดสอบยิงขีปนาวุธทางยุทธวิธี อะแทคซิมส์ (ATACMS)  ที่สนามทดสอบ ไวต์ แซนด์ส พร็อบวิ่ง กราวด์ (White Sands Proving Ground) รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐฯ เมื่อปี 2021 (ภาพจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Biden permission to fire ATACMS at Russian territory hastens WWIII
by Stephen Bryen
19/11/2024

รัสเซียระบุว่า การที่ยูเครนต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การถ่ายโอนอาวุธที่พวกชาตินาโต้กำหนดเอาไว้ หมายความว่าบุคลากรของนาโต้ต่างหาก ไม่ใช่ทหารยูเครนหรอก ซึ่งเป็นผู้ยิงขีปนาวุธพิสัยทำการไกลๆ อย่างขีปนาวุธอะแทกซิมส์ (ATACMS) ติดตั้งบนฐานยิงระบบไฮมาร์ส (HIMARS)

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้เฒ่าชรา ตกเป็นข่าวว่าเพิ่งอนุมัติให้นำเอาขีปนาวุธพิสัยทำการไกลๆ ที่อเมริกามอบให้แก่ยูเครน ยิงโจมตีเข้าไปลึกๆ ในดินแดนรัสเซีย การตัดสินใจของเขาคือการตัดความสนับสนุนอย่างฉับพลันที่ได้ให้แก่นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ซึ่งยังคงปฏิเสธไม่ยอมส่งขีปนาวุธพิสัยทำการไกลแบบ “ทอรัส” (Taurus) ไปให้ยูเครน ก่อนหน้านี้รัฐบาลผสมของเยอรมนีก็อยู่ในสภาพพังทลายอยู่แล้ว ต้องขอขอบคุณไบเดนเป็นอันมากทีเดียว มาถึงตอนนี้ เครดิตความน่าเชื่อของ ชอลซ์ ในบ้านเกิดตัวเองก็ได้รับความเสียหายหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

(แต่เรื่องของเรื่องยังอาจจะมีอยู่ว่า ชอลซ์ทราบดีเรื่องที่ไบเดนกำลังจะอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธอะแทคซิมส์ (ATACMS) ซึ่งได้จากสหรัฐฯ ยิงลึกเข้าไปในรัสเซีย นี่เองคือเหตุผลที่ทำไมนายกรัฐมนตรีเยอรมนีผู้นี้ จึงโทรศัพท์พูดคุยกับปูติน ตั้งแต่ก่อนหน้าความเคลื่อนไหวของไบเดนในเรื่องอะแทคซิมส์เสียอีก พวกเราไม่มีทางทราบจริงๆ ว่า ชอลซ์ กับ ปูติน พูดจาอะไรกันบ้างในการสนทนาทางโทรศัพท์เป็นเวลานาน 1 ชั่วโมงคราวนี้ ซึ่งเป็นการพูดคุยชนิดที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยล่ามแปลด้วยซ้ำ เนื่องจากปูตินพูดภาษาเยอรมันได้ กระนั้น เราย่อมสามารถที่จะตั้งข้อสันนิษฐานขึ้นมาได้ทีเดียวว่า ชอลซ์ต้องการที่จะให้บรรดาเป้าหมายทั้งหลายในเยอรมนี ถูกถอนออกจากบัญชีเป้าหมายที่รัสเซียอาจจะเข้าโจมตี หลังจากที่ไบเดนประกาศเรื่องอะแทคซิมส์)

รัสเซียพูดเอาไว้ชัดว่าพวกเขาถือเรื่องนี้เป็นเส้นสีแดงที่จะไม่ยอมให้ล่วงละเมิด ถ้าไม่ฟังกันก็จะถือว่าองค์การนาโต้เข้าทำสงครามโดยตรงกับรัสเซีย ทั้งนี้ ฝ่ายรัสเซียบอกว่าขีปนาวุธอะแทคซิมส์ ซึ่งยิงออกมาจากฐานยิงระบบไฮมาร์ส (HIMARS) นั้น ผู้ที่ใช้งานอาวุธเหล่านี้คือพวกช่างเทคนิคของนาโต้ ไม่ใช่ชาวยูเครน

ข้อโต้แย้งเช่นนี้ของฝ่ายรัสเซียก็มีเหตุผลที่ฟังขึ้น ความเป็นจริงมีอยู่ว่าถ้ายูเครนเป็นผู้ควบคุมเครื่องยิงระบบไฮมาร์ส ที่ติดตั้งขีปนาวุธอะแทคซิมส์ พวกเขาก็จะต้องใช้ยิงเล่นงานเป้าหมายต่างๆ ของรัสเซียซึ่งพวกเขาจ้องอยู่ ไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว เป็นต้นว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คูร์สก์ (Kursk nuclear plant) ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาได้เคยพยายามเข้าโจมตีโดยใช้โดรน แต่ไม่ได้ผลเป็นชิ้นเป็นอันอะไร ดังนั้น จึงต้องถือเป็นข่าวดีที่ทางยูเครนยังไม่ได้เป็นผู้ควบคุมอาวุธชนิดนี้

การใช้ขีปนาวุธอะแทคซิมส์ จะไม่เปลี่ยนแปลงเส้นทางของสงครามคราวนี้หรอก อย่าว่าแต่ผลลัพธ์ของสงครามเลย อย่างไรก็ดี มันจะยังคงนำไปสู่ความเซอร์ไพรซ์อันน่าวิตกบางประการขึ้นมาได้ เนื่องจากการตัดสินใจเรื่องดังกล่าวย่อมมีผลพ่วงต่อเนื่องขนาดใหญ่โตยิ่งกว่าแค่เฉพาะต่อยูเครนเท่านั้น

ตลอดสงครามคราวนี้ ฝ่ายรัสเซียยังไม่เคยเข้าโจมตีฐานซัปพลายของนาโต้แห่งใดเลย ส่วนสหรัฐฯและพวกชาติพันธมิตรนาโต้ก็ไม่เคยโจมตีใส่ดินแดนรัสเซียเหมือนกัน ถึงแม้มีการใช้พวกโดรนพิสัยทำการได้ไกลๆ อย่างพิเศษเฉพาะ ตลอดจนการโจมตีเล่นงานพวกเรือรัสเซียในทะเลดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือที่กำลังปฏิบัติการใกล้ๆ กับดินแดนรัสเซีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวข้ามเส้นที่กล่าวมานี้

มาถึงตอนนี้รัสเซียมีทางเลือกอยู่มากมายทีเดียว เนื่องจากผลของการตัดสินใจอย่างผิดๆ ของไบเดน พวกเขาสามารถโจมตีฐานที่ตั้งต่างๆ ของสหรัฐฯและนาโต้ซึ่งอยู่นอกยูเครน ตัวอย่างเช่นในโปแลนด์ นี่จะจุดชนวนให้เกิดการสู้รบขัดแย้งในขอบเขตกว้างขวางระดับทั่วยุโรปขึ้นมา ทว่าฝ่ายรัสเซียน่าที่จะครองความเหนือกว่าเอาไว้ได้ และสามารถทำลายล้างผลาญยุโรป ซึ่งมีสิ่งที่ต้องสูญเสียยิ่งกว่าฝ่ายรัสเซียมากมายนัก

รัสเซียยังสามารถที่จะโฟกัสการโจมตีของพวกเขาเฉพาะที่ยูเครน ตัวอย่างเช่นด้วยการเข้าทำลายกรุงเคียฟ การถล่มอย่างเต็มที่ด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทิ้งระเบิดอย่างเต็มพิกัดใส่เมืองหลวงยูเครนแห่งนี้ จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมากและทำลายตึกรามอาคารให้แหลกลาญเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ๆ การตัดสินใจของไบเดน และการให้ความสนับสนุนเรื่องนี้ด้วยความกระตือรือร้นอย่างโง่เขลาของเซเลนสกี คือสิ่งที่เชื้อเชิญให้เกิดการตอบโต้แก้เผ็ดชนิดนี้ขึ้นมา

ในอีกด้านหนึ่ง ขีปนาวุธอะแทคซิมส์คืออาวุธที่อยู่ในภาวะขาดแคลนไม่พอใช้สอย อาวุธชนิดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของแนวป้องกันของสหรัฐฯในทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เวลานี้ไต้หวันกำลังได้รับอะแทคซิมส์ที่สหรัฐฯจัดส่งไปให้แล้ว ทว่าเป็นไปอย่างล่าช้าอย่างยิ่ง ขณะที่กองทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯซึ่งประจำการอยู่บนเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นก็ต้องการใช้อาวุธชนิดนี้เหมือนกันในการสกัดกั้นการรุกรานไต้หวันของจีน ปัจจุบันนาวิกโยธินอเมริกันได้จัดตั้งสถานีเรดาร์แห่งหนึ่งขึ้นมาแล้วบนเกาะเล็กๆ ที่มีชื่อว่าโยนากุนิ (Yonaguni) และหากเกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นซึ่งบ่งชี้ถึงการที่จีนจะเข้ารุกรานไต้หวัน นาวิกโยธินก็จะโยกย้ายพวกเครื่องยิงระบบไฮมาร์สไปที่เกาะโยนากุนิ ซึ่งอยู่ห่างจากไต้หวันเพียงแค่ราวๆ 111 กิโลเมตร

สหรัฐฯเริ่มต้นจัดส่งขีปนาวุธอะแทคซิมส์ไปยังยูเครนตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว อาวุธเหล่านี้ถูกลำเลียงไปในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแบบจนตรอกที่จะทดลองหาทางเพื่อรักษายูเครนเอาไว้ไม่ให้ประสบความปราชัย ด้วยพิสัยการยิงได้ไกลถึงราว 300 กิโลเมตร ขีปนาวุธชนิดนี้จึงสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างสำคัญ หากไม่ถูกสกัดกั้นโดยอาวุธป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียเสียก่อน

รายงานหลายกระแสบอกว่า อะแทคซิมส์จะถูกนำไปใช้เพื่อพยายามหาทางธำรงรักษาการรุกรานของยูเครนเข้าสู่แคว้นคูร์สก์ซึ่งเป็นดินแดนรัสเซียเอาไว้ ยูเครนนั้นได้ส่งพวกกองพลน้อยที่เป็นหน่วยสู้รบชั้นเยี่ยมของพวกเขาจำนวนมากพอดูทีเดียวเข้าไปในคูร์สก์ และเวลานี้ยังกำลังพยายามครองดินแดนตรงนั้นเอาไว้ให้ได้ มันถูกมองว่าเป็น “แต้มสำหรับต่อรอง” อย่างหนึ่งในการเจรจากับรัสเซีย ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

ทว่าระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายรัสเซียกำลังผลักดันกองทหารยูเครนในคูร์สก์ให้ต้องถอยร่นกลับไปเรื่อยๆ รวมทั้งกำลังโจมตีทิ้งระเบิดพวกพื้นที่ชุมพลในแนวหลังของพวกเขา ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายในจำนวนสูงจนชวนให้เจ็บปวด รัสเซียเวลานี้บอกว่ายูเครนได้สูญเสียทหารไปแล้ว 32,000 คน (ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บ) ในการรุกรานแคว้นคูร์สก์ครั้งนี้ และตัวเลขดังกล่าวกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

รัสเซียก็สูญเสียกำลังทหารไปจำนวนมากเช่นกัน แต่เราไม่ทราบจำนวนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม การสู้รบอยู่ในลักษณะอสมมาตร เนื่องจากยูเครนไม่ได้มีกำลังพลเหลือเพียงพอทั้งสำหรับประคับประคองการปฏิบัติการที่คูร์สก์ แล้วยังคงต้องทำการสู้รบในที่อื่นๆ ตามเส้นแนวปะทะอันยาวเหยียดกับกองทัพรัสเซียอีกด้วย

พวกอาวุธพิสัยยิงไกลๆ อย่างอื่นๆ ที่ถูกใช้ในสงครามครั้งนี้โดยฝ่ายยูเครนและนาโต้ ยังมีขีปนาวุธร่อน (cruise missile) ซึ่งจัดส่งให้โดยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส เวอร์ชั่นอาวุธชนิดนี้ของสหราชอาณาจักรและของฝรั่งเศสค่อนข้างคล้ายกันมาก โดยขีปนาวุธของสหราชอาณาจักรใช้ชื่อว่า สตอร์ม แชโดว์ (Storm Shadow) ส่วนเวอร์ชั่นของฝรั่งเศสเรียกว่า สคัลป์ (Scalp)

เลอ ฟิกาโร (Le Figaro) หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงรายงานว่า ทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่างได้อนุมัติให้ใช้ขีปนาวุธเหล่านี้โจมตีลึกเข้าไปในรัสเซียตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ทว่าในรายงานข่าวเดียวกันนี้แต่เป็นเวอร์ชั่นตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งต่อมา กลับลบทิ้งประโยคที่ระบุว่า ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรได้อนุญาตดังกล่าวออกไป

ทั้ง สตอร์ม แชโดว์ และ สคัลป์ ต่างถูกจัดส่งมาอยู่ในยูเครนเรียบร้อยแล้ว ทว่าอาวุธเหล่านี้ต้องให้บุคลากรของนาโต้เป็นผู้ตั้งเป้าหมายล่วงหน้าและเป็นผู้ดำเนินการยิง ดูเหมือนว่าทั้งฝ่ายฝรั่งเศสและฝ่ายสหราชอาณาจักรต่างไม่มีใครกระตือรือร้นที่จะขยายความขัดแย้งที่พวกเขามีอยู่กับรัสเซียให้บานปลายออกไปอีก (ถึงแม้การพูดจาของพวกเขายังมีลักษณะท้าทาย) อย่างไรก็ตาม สื่อ สแตนดาร์ด ของสหราชอาณาจักร (UK Standard) รายงานข่าวโดยอ้างอิงว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหราชอาณาจักร ได้ให้คำรับรองที่มีลักษณะแน่นอนชัดเจนมากในเรื่องการใช้ สตอร์ม แชโดว์ ซึ่งดูเหมือนเป็นการเสนอแนะว่า เป็นเรื่องยอมรับกันได้ที่จะใช้อาวุธเหล่านี้โจมตีเข้าไปในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซีย

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการบันทึกเอาไว้ให้สมบูรณ์ ต้องระบุเอาไว้ด้วยว่า สหราชอาณาจักรอยู่ในฐานะที่ไม่มีขีปนาวุธสตอร์ม แชโดว์ เหลือสำหรับให้พวกเขาสามารถจัดส่งเพิ่มเติมไปยังยูเครน โดยเป็นไปได้สูงที่ว่าสต็อกของฝรั่งเศสก็อยู่ในสภาพเหือดแห้งเช่นเดียวกัน เวลาเดียวกันนี้ ฝ่ายเยอรมันยังคงกล่าวย้ำคำเดิมอีกคำรบหนึ่งว่า พวกเขาไม่มีขีปนาวุธทอรัส ใดๆ สำหรับการจัดส่งไปให้ยูเครน

สถานการณ์เช่นนี้จะพัฒนาคลี่คลายต่อไปอย่างไร เวลานี้ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่รัสเซียตัดสินใจกระทำต่อไป

สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ สำหรับข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น