xs
xsm
sm
md
lg

จัดหนักแล้ว! ยูเครนใช้ขีปนาวุธ ATACMS ของสหรัฐฯ ยิงถล่มรัสเซียครั้งแรก หลังสงครามทะลุ 1,000 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองทัพยูเครนนำระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (ATACMS) ที่ได้จากสหรัฐฯ มาใช้ยิงถล่มดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (19 พ.ย.) โดยถือโอกาสที่ได้ไฟเขียวพิเศษจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ท่ามกลางไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทะลุ 1,000 วัน

รัสเซียระบุว่า กองทัพสามารถยิงสกัดขีปนาวุธ 5-6 ลูกซึ่งพุ่งเข้ามายังฐานที่มั่นทางทหารแห่งหนึ่งในภูมิภาคบรียันสค์ โดยเศษซากจรวดลูกหนึ่งตกลงใส่อาคารจนเกิดเพลิงไหม้ ทว่าถูกดับได้อย่างรวดเร็ว และไม่มีผู้บาดเจ็บหรือความเสียหายร้ายแรงใดๆ

ด้านยูเครนประกาศว่าได้ยิงโจมตีคลังแสงของรัสเซียซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนประมาณ 110 กิโลเมตร ซึ่งนำไปสู่การระเบิดขั้นทุติยภูมิ และแม้กองทัพยูเครนจะไม่ระบุว่าใช้อาวุธชนิดใด แต่แหล่งข่าวในรัฐบาลเคียฟและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งยืนยันว่าเป็นขีปนาวุธ ATACMS


เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยด้วยว่า รัสเซียสามารถสกัดขีปนาวุธเอาไว้ได้ 2 จากทั้งหมด 8 ลูก และเป้าหมายที่ยูเครนยิงถล่มคือจุดกระจายเครื่องกระสุน (ammunition supply point)

ไบเดน ไฟเขียวเปิดทางในสัปดาห์นี้ให้ยูเครนโจมตีดินแดนภายในรัสเซียด้วย ATACMS ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลที่สุดเท่าที่วอชิงตันเคยส่งให้เคียฟ ขณะที่ เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เตือนว่าการอนุญาตใช้ ATACMS ถือเป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่าอเมริกาต้องการยกระดับความขัดแย้ง

รัสเซียเคยระบุก่อนหน้านี้ว่า ระบบอาวุธชนิดนี้ไม่สามารถยิงโดยปราศจากการสนับสนุนเชิงปฏิบัติการโดยตรงจากสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นการใช้งานจึงทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงกับสงคราม และจะกระตุ้นให้รัสเซียจำเป็นต้องตอบโต้

ปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนดำเนินมาถึงวันที่ 1,000 โดยที่ดินแดนยูเครนราว 1 ใน 5 ยังคงถูกยึดครอง และยังเกิดคำถามเกี่ยวกับแรงสนับสนุนจากพันธมิตรตะวันตกว่าจะยังเข้มแข็งอยู่หรือไม่ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้ามาครองทำเนียบขาวในปีหน้า

ด้านกระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่า หน่วยป้องกันภัยทางอากาศได้ยิงทำลายโดรนยูเครนจำนวน 42 ลำซึ่งถูกส่งเข้าไปยัง 8 ภูมิภาคทางตอนใต้และตอนกลางของรัสเซีย ระหว่างเวลา 21.00-23.55 น. ของวันอังคาร (19) โดยในจำนวนนี้เป็นโดรนที่ถูกส่งเข้าสู่ภูมิภาคบรียันสค์ 32 ลำ

กองทัพยูเครนมีการส่งโดรนเข้าไปโจมตีเป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพอากาศหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทว่าการส่งเข้าไปทีเดียวครั้งละหลายสิบตัวเช่นนี้ถือว่าไม่ใช่สถานการณ์ปกติ


ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารชี้ว่า การใช้ขีปนาวุธของสหรัฐฯ อาจจะช่วยให้ยูเครนสามารถยึดพื้นที่แคว้นคูสก์ (Kursk) เอาไว้เป็นหมากต่อรองได้ ทว่าคงไม่ถึงขั้นพลิกสถานการณ์ในสงครามที่ยืดเยื้อมานานถึง 33 เดือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสหรัฐฯ ตัดสินใจช้าเกินไป

ATACMS มีพิสัยทำการสูงสุดเพียง 300 กิโลเมตร ซึ่งยังต่ำกว่าระบบอาวุธบางชนิดที่รัสเซียใช้ยิงโจมตียูเครน รวมถึงขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกคินซาล (Kinzhal) ซึ่งตามรายงานระบุว่ามีพิสัยทำการไกลถึง 2,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว

เมื่อวานนี้ (19) ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้ลงนามประกาศใช้หลักการนิวเคลียร์ฉบับใหม่ ซึ่งลดเพดานขั้นต่ำที่จะเป็นเงื่อนไขให้รัสเซียงัดอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ และดูเหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงสหรัฐฯ โดยตรง

ด้านสหรัฐฯ ออกมาแถลงโต้ว่า การอัปเดตหลักการนิวเคลียร์ของรัสเซียไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ พร้อมทั้งปฏิเสธ “การใช้ถ้อยคำข่มขู่ไร้ความรับผิดชอบแบบเดิมๆ” ของรัสเซีย

เซเลนสกี เองก็ฉวยโอกาสนี้ออกมาชี้หน้า ปูติน ว่าไม่ต้องการสันติภาพ

“โดยเฉพาะในวันนี้ พวกเขายังเสนอยุทธศาสตร์ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ออกมา ทำไมเล่า? ทำไมไม่เสนอยุทธศาสตร์สร้างสันติภาพ? คุณได้ยินไหม? ปูติน ต้องการสงคราม” เขากล่าว

ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้อนุมัติจำหน่ายเครื่องไม้เครื่องมือทางทหารและบริการรวมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์แก่ยูเครน ส่วนเดนมาร์กก็เตรียมบริจาคเพิ่มให้อีก 138 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอาวุธของเคียฟ

ที่มา : รอยเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น