xs
xsm
sm
md
lg

โลกระอุ!! ปูตินลงนามแก้ไขหลักการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ตอบโต้ไบเดนอนุญาตเคียฟโจมตีลึกดินแดนรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้าหน้าที่หน่วยงานเหตุฉุกเฉินของยูเครน กำลังดับไฟที่เกิดขึ้นภายหลังรัสเซียยิงจรวดโจมตีใส่เมืองโอเดสซา เมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของยูเครน เมื่อวันจันทร์ (18 พ.ย.) (ภาพจากสำนักงานรับมือเหตุฉุกเฉินของยูเครน)
ปูตินลงนามในวันอังคาร (19 พ.ย.) ประกาศหลักการใช้อาวุธนิวเคลียร์ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ ซึ่งขยายเงื่อนไขที่รัสเซียจะพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ให้กว้างขวางกว่าเดิม โดยครอบคลุมกรณีแดนหมีขาวถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธซึ่งมีมหาอำนาจนิวเคลียร์ให้การสนับสนุนด้วย ถือว่าเป็นการตอบโต้โดยตรงต่อการที่อเมริกาอนุญาตเคียฟใช้ขีปนาวุธพิสัยทำการไกลๆ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ขณะเดียวกัน เซเลนสกีประกาศในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันครบรอบมอสโกเปิดฉากรุกรานครบ 1,000 วัน โวลั่นยูเครนจะไม่ยอมจำนน

ยูเครนเริ่มต้นวันอังคาร (19 ) วันครบรอบ 1,000 วันที่ถูกรัสเซียรุกรานด้วยข่าวการโจมตีของมอสโกในเมืองซูมี ทางตะวันออกของประเทศ เมื่อคืนวันจันทร์ (18 พ.ย.) ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 คน รวมถึงเด็ก

เคียฟระบุว่า ตลอดคืนวันจันทร์ รัสเซียได้ส่งโดรน 87 ลำโจมตีทั่วยูเครน แต่ถูกยิงตก 51 ลำ นอกจากนั้น ในวันจันทร์รัสเซียยังยิงขีปนาวุธโจมตีโอเดสซา เมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ของประเทศ ซึ่งได้รับการประกาศรับรองจากยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และบาดเจ็บ 55 คน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากซากอาคารที่พักอาศัยในเมืองซูมี ที่ถูกโจมตี และเรียกร้องพันธมิตรบีบให้เครมลินทำข้อตกลงสันติภาพ

กระทรวงการต่างประเทศยูเครนแถลงในทิศทางเดียวกันด้วยการเรียกร้องบรรดาพันธมิตรเร่งให้การสนับสนุนทางทหารเพื่อยุติสงครามนี้ลงไปอย่าง “ยั่งยืน” และย้ำว่า เคียฟจะไม่ยอมจำนนต่อผู้รุกราน แต่กองทัพรัสเซียต้องถูกลงโทษที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทว่า ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียงเครมลิน ประกาศกร้าวเหมือนกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียต่อเคียฟจะต้องดำเนินต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์

ถ้อยแถลงนี้มีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ลงนามประกาศใช้กฤษฎีกาซึ่งเป็นการขยายขอบเขตเงื่อนไขที่มอสโกจะพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยนอกจากในกรณีถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ตามที่กล่าวไว้ในหลักนิยมนิวเคลียร์ฉบับเดิมแล้ว ต่อจากนี้ไปรัสเซียจะสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย ในกรณีถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธตามแบบแผน โดรน หรือเครื่องบินอื่นๆ ของประเทศที่ไม่ได้ครอบครองนิวเคลียร์แต่ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจนิวเคลียร์

นอกจากนั้น การรุกรานรัสเซียโดยประเทศที่เป็นสมาชิกแนวร่วมหรือกลุ่มพันธมิตรแห่งใดแห่งหนึ่ง จะถือว่าแนวร่วมหรือกลุ่มพันธมิตรแห่งนั้นมีส่วนร่วมในการรุกรานด้วย

เครมลินระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีความจำเป็นเพื่อทำให้หลักนิยมนิวเคลียร์ของรัสเซียสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ความเคลื่อนไหวนี้ มอสโกมุ่งที่จะเตือนตะวันตกและยูเครนอย่างชัดเจน หลังจากมีรายงานว่าคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุญาตให้เคียฟใช้ขีปนาวุธพิสัยทำการไกลๆ ที่อเมริกาจัดหาให้เข้าโจมตีเป้าหมายทางทหารภายในรัสเซีย

ขณะเดียวกัน เมื่อวันอังคาร โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ที่กำลังจะหมดวาระดำรงตำแหน่ง ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอียูปรับแนวทางให้สอดคล้องกับวอชิงตันในการอนุญาตให้เคียฟใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลๆ ที่ยุโรปจัดส่งให้ในการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย

เปสคอฟวิจารณ์ว่า คณะบริหารของไบเดนที่กำลังจะหมดวาระต้องการยั่วยุให้ความขัดแย้งในยูเครนบานปลายขยายตัวออกไป และกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียยังออกแถลงการณ์ย้ำว่า การที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยทำการไกลๆ โจมตีดินแดนรัสเซีย จะถือว่าอเมริกาและรัฐบริวารเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสเซีย

เกี่ยวกับสถานการณ์การสู้รบ มีรายงานว่ากองทหารยูเครนในทุกแนวรบขณะนี้อยู่ในสภาพที่ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองที่ถูกโจมตีอย่างหนักอย่าง คูเปียนสก์ และโปครอฟสก์ ซึ่งต่างอยู่ในแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครนทั้งคู่ นอกจากนั้น กองกำลังยูเครนยังประสบความเพลี่ยงพล้ำในแคว้นคูร์สก์ของรัสเซีย ที่พวกเขายกกำลังบุกเข้าไปเมื่อหลายเดือนก่อน โดยที่มีรายงานระบุด้วยว่า มอสโกกำลังระดมทหารราว 50,000 นายเพื่อขับไล่ทหารยูเครนออกจากแคว้นดังกล่าว

ในวันอังคาร ยูเครนกล่าวหากองกำลังรัสเซียใช้สารเคมีต้องห้าม และเรียกร้องพันธมิตรตอบสนองต่อรายงานขององค์การห้ามอาวุธเคมี (โอพีซีดับเบิลยู) ที่ระบุว่า พบแก๊สควบคุมจลาจลที่ถูกแบนในตัวอย่างดินบริเวณแนวรบในยูเครน

กระทรวงการต่างประเทศยูเครนแถลงว่า การที่รัสเซียใช้สารเคมีต้องห้ามในสนามรบตอกย้ำว่า รัสเซียเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น