บังกลาเทศกำลังเผชิญการระบาดของโรคไข้เลือดออก (dengue) รุนแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยมีผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วมากกว่า 400 ราย ท่ามกลางปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของโรค เช่น อุณหภูมิที่อุ่นขึ้น และฤดูมรสุมซึ่งกินเวลายาวนานกว่าปกติ
จากสถิติของรัฐบาลพบว่า มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนอย่างน้อย 407 คนในปีนี้ และมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 78,595 ราย
ในช่วงกลางเดือน พ.ย. ยังมีผู้ป่วยที่รับการรักษาอยู่ 4,173 ราย แบ่งออกเป็นผู้ป่วยในกรุงธากา 1,835 ราย และเมืองอื่นๆ อีก 2,338 ราย
"เรายังคงเห็นฝนตกเหมือนในช่วงฤดูมรสุมทั้งที่เข้าเดือน ต.ค.แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ" คาบิรุล บาชาร์ อาจารย์ด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัย Jahangirnagar University กล่าว
บาชาร์ ยังอธิบายด้วยว่า ลมฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไปกำลังสร้างบริบทที่ยอดเยี่ยมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรคเบอร์ 1 ของไข้เลือดออก
ชีวิตความเป็นอยู่ตามเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นก็มีส่วนทำให้โรคแพร่กระจายเร็วและรุนแรงขึ้น จากเดิมที่เคยระบาดแค่ในช่วงฤดูมรสุมจากเดือน มิ.ย.-ก.ย. ทว่าปีนี้ระบาดนานกว่าเดิม
บาชาร์ เรียกร้องให้ภาครัฐใช้มาตรการเฝ้าระวังไข้เลือดออกตลอดทั้งปีเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค ขณะที่ ดร.เอเบีเอ็ม อับดุลเลาะห์ แพทย์ที่มีชื่อเสียงของบังกลาเทศชี้ว่า หากมีการตรวจพบแต่เนิ่นๆ ก็จะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้เหลือแค่ไม่ถึง 1% ได้
ปีที่แล้วบังกลาเทศมีผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกรวม 1,705 คน แะมียอดผู้ติดเชื้อที่รายงานสูงถึง 321,000 คน
ที่มา : รอยเตอร์