เอเอฟพี - ซูเปอร์ไต้ฝุ่นหม่านหยี่พัดถล่มฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ต้นไม้หักโค่น เสาไฟฟ้าล้ม อาคารบ้านเรือนมากมายได้รับความเสียหาย ถือเป็นพายุลูกที่ 6 ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์นับจากเดือนที่แล้ว
หม่านหยี่ยังคงมีความเร็วลมสูงสุดคงที่ 185 กม.ต่อ ชม. และลมกระโชก 230 กม.ต่อ ชม. หลังขึ้นฝั่งที่เกาะคาตันดัวเนสเมื่อคืนวันเสาร์ (16 พ.ย.)
ประชาชนกว่า 1.2 ล้านคนอพยพออกจากบ้านเรือนก่อนที่ไต้ฝุ่นลูกนี้จะมาถึง เนื่องจากสำนักงานพยากรณ์อากาศแห่งชาติของฟิลิปปินส์เตือนว่า หม่านหยี่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงระดับที่เป็นอันตรายต่อชีวิต
แอเรียล เนโปมูเซโน ผู้อำนวยการหน่วยป้องกันภัยพลเรือนคาตันดัวเนส เผยว่า แม้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่โครงสร้างในคาตันดัวเนสเสียหายเป็นวงกว้าง
นักพยากรณ์อากาศคาดว่า หม่านหยี่จะยังคงเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ลูซอนซึ่งเป็นเกาะที่มีประชาชนอาศัยอยู่มากที่สุดและเป็นฮับเศรษฐกิจสำคัญ อีกทั้งเตือนว่า จังหวัดออโรราอาจเผชิญสถานการณ์อันตราย
สำนักงานพยากรณ์อากาศคาดว่า จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงและดินถล่มจากการที่หม่านหยี่ทำให้เกิดฝนตกหนักตลอดเส้นทางที่เคลื่อนผ่าน โดยคาดว่า จะมีฝนตกวัดปริมาณได้กว่า 200 มม. ในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า
เทศบาลปานกานิบานทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาตันดัวเนสได้รับผลกระทบโดยตรงจากหม่านหยี่ โดยภาพที่นายกเทศมนตรีซีซาร์ โรเบิลส์โพสต์บนเฟซบุ๊กเผยให้เห็นเสาไฟฟ้าล้ม อาคารบ้านเรือนมากมายเสียหายหรือถูกทำลาย ต้นไม้และแผ่นเหล็กที่ใช้ทำหลังคากระจัดกระจายบนถนน
มาริสสา คูเอวา อเลจานโดร แม่ลูก 3 วัย 36 ปี ที่เติบโตในคาตันดัวเนส บอกว่า เคยเจอแต่ไต้ฝุ่นระดับ 3-4 แต่ตอนนี้ไต้ฝุ่นแรงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับ 5 แล้ว
หม่านหยี่เป็นพายุลูกที่ 6 ที่พัดถล่มฟิลิปปินส์นับจากเดือนที่แล้ว และทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 163 คน และประชาชนนับพันไม่มีที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังทำลายพืชพันธุ์และปศุสัตว์
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้พายุมีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนักขึ้น น้ำท่วมฉับพลัน และลมกระโชกแรง
แต่ละปีฟิลิปปินส์หรือบริเวณน่านน้ำโดยรอบต้องเผชิญพายุและไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ราว 20 ลูก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่น้อยครั้งที่จะเกิดพายุติดๆ กันในช่วงเวลาสั้นๆ
สำนักงานพยากรณ์อากาศปรับการเตือนภัยไต้ฝุ่นสู่ระดับสูงสุดอันดับ 2 ในหลายจังหวัดจากชายฝั่งด้านตะวันออกของลูซอนที่คาดว่า จะเป็นจุดที่หม่านหยี่ขึ้นฝั่งครั้งที่ 2 จนถึงชายฝั่งด้านตะวันตกก่อนเคลื่อนตัวออกจากเกาะ
เจฟรีย์ ปาร์โรชา เจ้าหน้าที่สื่อสารของสำนักงานภัยพิบัติดิปาคูเลา จังหวัดออโรรา เผยว่า ประชาชนราว 2,000 คนอพยพฉุกเฉินไปยังที่หลบภัยในเทศบาลดิปาคูเลา แต่บางส่วนไม่ยอมอพยพเนื่องจากเป็นห่วงทรัพย์สินและปศุสัตว์ หรือไม่แน่ใจในคำเตือน ขณะที่นักท่องเที่ยวพากันอพยพจากรีสอร์ตริมหาดก่อนที่ไต้ฝุ่นจะมาถึง
ทั้งนี้ คาดว่า หม่านหยี่จะเคลื่อนผ่านมะนิลาและออกสู่ทะเลจีนใต้ในวันจันทร์ (18 พ.ย.) โดยมีรายงานระบุว่า หม่านหยี่ถล่มฟิลิปปินส์ในช่วงปลายฤดูไต้ฝุ่น ซึ่งพายุไซโคลนส่วนใหญ่จะก่อตัวระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
ช่วงต้นเดือนนี้ พายุ 4 ลูกก่อตัวขึ้นพร้อมกันบริเวณแอ่งแปซิฟิก ซึ่งสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นระบุว่า เป็นครั้งแรกที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนับจากที่มีการบันทึกข้อมูลนี้เมื่อปี 1951