xs
xsm
sm
md
lg

ส่อโดนเท! เซเลนสกีเดือดโวยนายกฯ เยอรมนี หลังผู้นำเบอร์ลินต่อสายคุยปูตินครั้งแรกรอบ 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ในวันศุกร์ (15 พ.ย.) กล่าวหา โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกำลังเล่นเข้าทางประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หลังจากผู้นำเบอร์ลิน ต่อสายพูดคุยทางโทรศัพท์กับประมุขแห่งวังเครมลินเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี

โฆษกทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่าระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์ "โชลซ์ประณามการทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีปูตินยุติสงคราม ถอนทหารออกไป" ถ้อยแถลงบอกต่อว่า "นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกร้องให้รัสเซียแสดงถึงความตั้งใจเจรจากับยูเครน ด้วยเป้าหมายไม่ใช่แค่บรรลุสันติภาพ แต่เป็นสันติภาพที่ยั่งยืน"

วังเครมลินยืนยันเกี่ยวกับการพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่าง โชลซ์ และ ปูติน โดยบอกว่าการหารือกันครั้งนี้ริเริ่มโดยฝ่ายเยอรมนี "ปูตินให้รายละเอียดและแลกเปลี่ยนมุมมองอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนกับโชลซ์"

"ท่านปูตินบอกกับผู้นำเยอรมนีว่า ข้อตกลงใดๆ ในการยุติสงครามในยูเครน ควรนับรวมผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหพันธรัฐรัสเซีย" วังเครมลินระบุ "ข้อตกลงหนึ่งใดๆ นั้น ควรเดินหน้าจากความเป็นจริงทางดินแดน และสิ่งสำคัญที่สุด ต้องจัดการกับต้นตอที่เป็นรากเหง้าของความขัดแย้ง"

รัสเซีย เรียกร้องให้ยูเครนยอมสละ 4 แคว้นที่อยู่ภายใต้การยึดครองของมอสโก ในฐานะเงื่อนไขล่วงหน้าของการเจรจา ข้อเสนอที่ทางเคียฟปฏิเสธ

ขณะเดียวกัน ยูเครน ตอบโต้ด้วยความเดือดดาลใส่เบอร์ลิน ต่อกรณีที่รื้อฟื้นสายการติดต่อสื่อสารกับมอสโก เรียกมันว่าเป็นการเปิดกล่องแพนโดรา (การทำบางอย่างที่จะก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างไม่คาดคิด) "ชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งที่รัสเซียเฝ้ารอมาช้านาน มันสำคัญอย่างยิ่งกับเขา เพราะเขาอ่อนแอลงจากการถูกโดดเดี่ยว" เซเลนสกีระบุ

โฆษกทำเนียบนายกรัฐมนตรีเยอรมนีชี้แจงว่า โชลซ์ พูดคุยกับ เซเลนสกี ทั้งก่อนและหลังการต่อสายหารือกับ ปูติน แต่การแจ้งล่วงหน้าดังกล่าวไม่อาจปัดเป่าความกังวลของเคียฟ

"สิ่งที่จำเป็นคือการลงมือทำอย่างเป็นรูปเป็นร่างและหนักแน่น ในการบีบปูตินเข้าสู่สันติภาพ ไม่ถูกชักจูงหรือโดนพะเน้าพะนอ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เขามองเห็นสัญญาณแห่งความอ่อนแอ เขาจะใช้โอกาสนี้ฉวยความได้เปรียบในทันที" กระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุ

เช่นเดียวกับยูเครนแล้ว โชลซ์ ยังได้แจ้งเรื่องนี้กับประเทศต่างๆ ในกลุ่มที่เรียกว่า Quad ที่รวมถึงฝรั่งเศส สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวใกล้ชิดประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส พร้อมระบุว่า "สารของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ส่งถึงปูติน ไม่ใช่สารร่วมระหว่างพันธมิตร แต่ฝรั่งเศสคาดหมายว่าจะได้รับแจ้งเกี่ยวกับบริบทของการพูดคุย"

แหล่งข่าวรัฐบาลเยอรมนี เปิดเผยว่าระหว่างการพูดคุยนานกว่า 1 ชั่วโมง โชลซ์ได้ประณามโดยเฉพาะกับปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ที่เล็งเป้าเล่นงานโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนในยูเครน

นอกจากนี้แล้ว โชลซ์ ยังแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการส่งทหารเกาหลีเหนือเข้าไปยังรัสเซีย สำหรับภารกิจสู้รบกับกองกำลังยูเครน จะนำมาซึ่งการทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลามบานปลายอย่างร้ายแรง แหล่งข่าวระบุ "ผู้นำทั้ง 2 เห็นพ้องคงการติดต่อสื่อสารต่อไป และเบอร์ลินจะคอยอัปเดตให้พันธมิตรทราบเป็นระยะๆ"

โชลซ์ จะมีโอกาสหารือกับที่ประชุมพวกผู้นำจี20 ในบราซิลในสัปดาห์หน้า การประชุมที่ ปูติน จะไม่เข้าร่วม

ปูติน แทบไม่ได้พุดคุยกับบรรดาผู้นำนาโตและตะวันตกเลยนับตั้งแต่ปี 2022 ครั้งที่อียูและสหรัฐฯ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างกว้างขวางเล่นงานรัสเซีย ลงโทษต่อกรณีเปิดฉากรุกรานยูเครน ที่สร้างความตกตะลึงในวงกว้าง

ผู้นำรัสเซียต่อสายพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้นำชาติตะวันตกหลักๆ หนสุดท้ายต้องย้อนกับไปในเดือนธันวาคม 2022 ซึ่งก็คือ โชลซ์ นั่นเอง

เยอรมนี คือหนึ่งในผู้สนับสนุนทางทหารรายใหญ่ของยูเครน เป็นรองเพียงสหรัฐฯ ในการมอบความช่วยเหลือแก่เคียฟ อย่างไรก็ตามการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความช่วยเหลือยูเครน จะก้าวมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนถัดไป มันจึงกือคำถามตัวโตว่าวอชิงตันจะเดินหน้ามอบการสนับสนุนต่อไปหรือไม่

ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ ประกาศกร้าวว่าเขาจะหยุดความขัดแย้งภายในไม่กี่ชั่วโมง และบ่งชี้ว่าเขาจะพูดคุยโดยตรงกับปูติน

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัสเซียปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า ปูติน และว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กันแล้ว และมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นความขัดแย้งในยูเครน

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น