ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นชื่อลือชาเรื่องการไม่ค่อยเดินตามแบบแผนปกติ แต่ในการคัดสรรผู้มานั่ง 2 ตำแหน่งสำคัญด้านนโยบายการต่างประเทศของเขาคราวนี้ ทรัมป์ยังคงเลือกคนที่ยังดูจะดำเนินการไปตามแบบแผน ซึ่งน่าจะทำให้พวกชาติพันธมิตรอเมริกันรู้สึกใจชื้นขึ้นบ้าง ขณะที่จีน กับอิหร่าน ก็มีเหตุผลที่จะต้องหวั่นวิตก
ทรัมป์ ประกาศในวันพุธ (13 พ.ย.) เสนอชื่อ วุฒิสมาชิกมาร์โก รูบิโอ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของเขา โดยที่สองวันก่อนหน้านั้น เขาก็เลือก ส.ส.ไมค์ วอลซ์ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ
ทั้งรูบิโอ และวอลซ์ ต่างมีจุดยืนแข็งกร้าวต่อจีนและอิหร่านเช่นเดียวกับทรัมป์ พวกเขายังแสดงตัวพร้อมปรับจุดยืนด้านนโยบายการต่างประเทศของตนเองให้สอดคล้องกับแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ ซึ่งมีลักษณะเป็นนโยบายแบบคำนึงถึงอเมริกาเป็นสำคัญและถูกมองว่าเป็นแนวทางมุ่งให้สหรัฐฯ “แยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว” มากขึ้น โดยที่เรื่องนี้ถือเป็นข้อกำหนดสำหรับทุกคนที่จะทำงานให้ประธานาธิบดีผู้เรียกร้องความจงรักภักดีระดับสูงสุดผู้นี้
แต่ทั้งคู่เป็นนักการเมืองอนุรักษนิยมสายกระแสหลักอย่างชัดเจน โดยต่างมีประสบการณ์ด้านนโยบายการต่างประเทศ และต่างเคยเห็นต่างกับทรัมป์ทั้งในเรื่องรัสเซีย นาโต และอีกหลายประเด็น รวมทั้งยังมีการเปิดกว้างในการทำงานร่วมกับพวกพรรคเดโมแครต
ทรัมป์นั้นส่งสัญญาณเตือนพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรป ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์องค์การนาโตและยกย่องประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียที่ทำสงครามในยูเครน ซึ่งทำให้ชาติยุโรปตื่นตระหนกมองว่าเป็นการแผ่ขยายอำนาจของมอสโก ขณะที่ในอดีตรูบิโอเคยสนับสนุนให้อเมริการักษาฐานะในนาโตเอาไว้ ถึงขั้นร่วมกับ ทิม เคน วุฒิสมาชิกเดโมแครต ผลักดันร่างกฎหมายขัดขวางประธานาธิบดีถอนตัวจากนาโตโดยไม่ได้รับอนุมัติจากวุฒิสภาหรือการดำเนินการใดๆ จากรัฐสภา
อย่างไรก็ดี รูบิโอ ก็เหมือนกับ วอลซ์ ในสภาล่าง ได้มีการปรับเปลี่ยนการแถลงแสดงจุดยืนและการโหวตในสภาให้สอดคล้องใกล้ชิดมากขึ้นกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทรัมป์ที่ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนยูเครนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ทั้งนี้ หลังจากพวกเขาเคยออกเสียงและแถลงแสดงความสนับสนุนยูเครนในช่วงแรกๆ ที่ถูกรัสเซียรุกรานเมื่อต้นปี 2022 แต่ระยะหลังๆ มานี้ ทั้งคู่กลับโหวตคัดค้านการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่เคียฟเพิ่มเติม โดยที่ รูบิโอ ยังทำเหมือนกับทรัมป์ ในการเน้นย้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงความจำเป็นที่จะต้องยุติสงครามนี้
กระนั้นก็ตาม สำหรับจีนและอิหร่านแล้ว เคลลี่ กริเอโค นักวิชาการอาวุโสของสติมสันเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นองค์การคลังสมองซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า ทรัมป์จะไม่เลือกสมาชิกคณะบริหารของตนซึ่งเป็นผู้ไม่เห็นด้วยหรือท้าทายความเชื่อของตนเอง โดยต้องการคนที่จงรักภักดี ดังนั้น เขาจึงคิดว่า การเลือกรูบิโอและวอลซ์ ก็คือการสะท้อนทิศทางนโยบายการต่างประเทศของอเมริกา ที่จะดำเนินการแข็งกร้าวอย่างยิ่งกับจีนและอิหร่าน
ในจีนนั้น พวกนักวิเคราะห์ต่างมองว่า รูบิโอและวอลซ์มีแนวทาง “สายเหยี่ยวสุดขีด” กับปักกิ่ง และกำลังเรียกพวกเขาว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “ฝ่ายฟลอริดา” ในด้านนโยบายการต่างประเทศ เนื่องจากทั้งสองคนต่างมาจากรัฐดังกล่าว
ทรัมป์นั้นขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าจีนอย่างแรงๆ ในสมัยแรกของเขา และสัญญาที่จะเก็บเพิ่มขึ้นอีกในสมัยที่สองของเขา ขณะที่รูบิโอก็เรียกร้องให้ใช้แนวทางการเผชิญหน้ากับจีนมากขึ้น รวมทั้งเขายังเป็นป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของไต้หวัน ที่จีนยืนยันว่าเป็นมณฑลหนึ่งของตน
ในจีน รูบิโอถูกเรียกขานว่าเป็น “กองหน้าของพวกต่อต้านจีน” สืบเนื่องจากจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของเขา กระทั่งใน ปี 2020 เขาถูกปักกิ่งขึ้นบัญชีดำจากการสนับสนุนชนกลุ่มน้อยชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงและพวกนักเคลื่อนไหวในฮ่องกง ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเป็นประธานร่วมของคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา-ฝ่ายบริหารรัฐสภาว่าด้วยจีน ซึ่งโฟกัสประเด็นสิทธิมนุษยชน และได้เสนอตลอดจนสนับสนุนร่างกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในจีน
การแซงก์ชันของปักกิ่งทำให้รูบิโอไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปจีน ทำให้เกิดคำถามว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาต้องประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีน หรือการถูกแบนนี้จะส่งผลอย่างไรต่อการติดต่อระหว่างรูบิโอกับพวกเจ้าหน้าที่จีน
ในส่วนของ วอลซ์ เขาเคยเป็นทหารหน่วยรบพิเศษ “กรีน เบเรต์” ของกองทัพบกสหรัฐฯ และเคยไปสู้รบในอัฟกานิสถานและตะวันออกกลาง รวมทั้งเป็นอดีตผู้อำนวยการนโยบายด้านกลาโหมในเพนตากอน ตลอดจนเป็นสมาชิกอาวุโสในคณะกรรมาธิการกลาโหม ข่าวกรอง และการกำกับดูแลของสภาผู้แทนราษฎร
วอลซ์เคยเห็นด้วยที่ตะวันตกให้การสนับสนุนยูเครน โดยบอกว่าหากไม่ทำอะไรเลยจะกลายเป็นการเชิญชวนให้รัสเซียรุกรานประเทศอื่นๆ ในยุโรปและดึงให้อเมริกาต้องเข้าไปมีส่วนร่วม กระนั้น เขาก็ให้น้ำหนักกับการเรียกร้องพวกประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนต้องให้ความช่วยเหลือมากขึ้น โดยระบุว่า ยุโรปควรรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปกป้องยูเครนเท่ากับที่อเมริกาต้องจ่าย
ในบทความของดิ อิโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 2 พ.ย. ที่เขาเป็นผู้เขียนร่วม วอลซ์ระบุว่า จีนได้ประโยชน์จากความล้มเหลวของคณะบริหารของไบเดนในการยับยั้งความขัดแย้งในยุโรปและตะวันออกกลาง
เมื่อปี 2021 วอลซ์เสนอญัตติเรียกร้องคณะกรรมการโอลิมปิกอเมริกาถอนตัวจากโอลิมปิกเกมฤดูหนาวในปักกิ่งปี 2022 โดยระบุว่า โลกไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในซินเจียง การทำลายสิทธิตามรัฐธรรมนูญของฮ่องกง และมาตรการอันตรายในการสกัดการระบาดของไวรัสโคโรนาในอู่ฮั่นที่ทำให้มีคนตายจำนวนมาก ด้วยการส่งคณะผู้แทนและนักกีฬาไปปักกิ่ง
เสิ่น ติงลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเซี่ยงไฮ้ ตั้งข้อสังเกตความแตกต่างระหว่างทรัมป์กับผู้ที่เขาเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกคณะบริหารซึ่งมีบทบาทหน้าที่ต้องเกี่ยวกับกับจีนของเขา ก็คือว่า ตั้งแต่สมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดี ทรัมป์ไม่เคยออกปากว่าจีนเป็นศัตรู ทว่าพวกเจ้าหน้าที่สายเหยี่ยวที่เขาแต่งตั้งอาจเชื่อว่า จีนเป็นศัตรูในบางระดับ
ขณะที่ โรเบิร์ต แมนนิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของสติมสันเซ็นเตอร์ มองว่า ทรัมป์นั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกับรูบิโอ แต่เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดความกังวลว่า นโยบายการต่างประเทศของทรัมป์อาจจะอยู่ในลักษณะสะดุดติดขัดมากกว่านโยบายของไบเดน
“ผมคิดว่าบางคนในค่ายทรัมป์ ต้องการที่จะกำจัดพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งผมคิดว่านั่นเป็นกิจธุระของคนโง่เขลาเท่านั้น กระนั้นผมก็ยังคงคิดว่าพวกเขาจะมุ่งโฟกัสที่การหาวิธีซึ่งแตกต่างกันเพื่อจะปิดเกม (จีน) มากกว่าที่จะหาทางบรรลุการสร้างดุลอำนาจแบบมีเสถียรภาพขึ้นมา”
(ที่มา : เอพี)