xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีข่าว "อิ๊ง" ถึง “เปรู” เตรียมประชุม APEC คลังสมองออสซี่หยัน "ซอฟต์เพาเวอร์" แค่สร้างแบรนด์ดันท่องเที่ยว ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศที่แท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/รอยเตอร์/MGRออนไลน์ - นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เดินทางถึงกรุงลิมา เปรู วันพุธ (13 พ.ย.) เพื่อร่วมการประชุม APEC  ระหว่างปัญหาเกาะกูดรายงานไปทั่วกัมพูชา การเจรจาพื้นที่พิพาทกำลังจะเริ่มขึ้นหลัง JTC ตั้งสำเร็จภายในวันที่ 18 พ.ย.  ด้านธิงแทงก์ชื่อดังออสเตรเลีย สถาบันโลวี (Lowy Institute) ชี้นโยบายต่างประเทศของไทยอยู่ในแดนสนธยาที่ทั้งสับสนและไร้หลักการ ขณะนายกฯ มือใหม่ไร้ประสบการณ์ ชูซอฟต์เพาเวอร์ แค่สร้างแบรนด์เพื่อการท่องเที่ยว ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศที่แท้จริง

บารอนส์ของสหรัฐฯ รายงานเมื่อ 13 พ.ย.ว่า นายกรัฐมนตรีไทย แพทองธาร ชินวัตร เดินทางมาถึงกรุงลิมา เปรูแล้ว เพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปกที่เปรูเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการประชุมเอเปกรอบนี้รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มีกำหนดพบกันในการหารือนอกรอบวันเสาร์ (16)

ขณะที่ผู้นำไทยอยู่นอกประเทศ แต่ทว่าในไทยกลับร้อนแรงประเด็นเขตแดนทางทะเลกับกัมพูชาที่มีรายงานวันจันทร์ (11) โดยสื่อไทยภาคภาษาอังกฤษว่า รัฐบาลไทยออกมาอ้างวันอาทิตย์ (10) ว่า การเผชิญหน้าระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาที่เกาะกูดนั้นเป็น “เฟกนิวส์” และการท่องเที่ยวบนเกาะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ทว่ากระแส MoU44 ที่เจ้าหน้าที่ไทยอ้างว่ายกเลิกเองไม่ได้แต่ฝ่ายเดียวนั้นกำลังเป็นกระแสร้อนในประเทศ

MGR ออนไลน์ พบว่า ประเด็นการยกเลิก MoU นี้ ไทม์สออฟอินเดียเคยรายงานเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ก่อนหน้าว่า นายกรัฐมนตรีรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ ดร.โมฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2006 ประกาศว่า บังกลาเทศจะเดินหน้าตรวจสอบบันทึกความเข้าใจ MoU และโปรเจกต์ที่ได้ทำไว้กับ “อินเดีย”

และชี้ต่อว่าหากธากาพบว่ามี MoU ใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อบังกาลาเทศ ทางรัฐบาลมีสิทธิอาจยกเลิกได้

ซึ่งตามรายงานรัฐมนตรีต่างประเทศบังกลาเทศ เตาฮิด ฮอสเซน (Touhid Hossain) ได้แสดงจุดยืนของรัฐบาลธากาของยูนุสในเวลานั้นว่า “MoU นั้นไม่ใช่ข้อตกลงมีผลผูกพัน และสามารถแก้ไขหรือยกเลิกได้หากจำเป็น”

ขณะที่สื่อในไทยรายงานว่า มีผู้เชี่ยวชาญและนักเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากที่คัดค้านการเดินหน้าเจรจาประเด็นการอ้างสิทธิทับซ้อนกับกัมพูชาด้วยเกรงว่าจะซ้ำรอยเหมือนการที่ไทยต้องเสียเขาพระวิหารไปให้กัมพูชาหลังยอมขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ในปี 2502

อ้างอิงจากวิกิพีเดียพบว่า การขึ้นศาลได้เกิดจากการที่ทั้งไทยและกัมพูชาภาคีทั้งสอง ‘ต่างยินยอม’ ให้มีการพิจารณาปัญหาดังกล่าวขึ้นที่ศาลโลก จากปัญหาที่ว่าทั้งสองฝ่ายถือแผนที่คนละฉบับ

ขณะที่ในกัมพูชาประเด็นการอ้างสิทธิทับซ้อนเป็นที่สนใจโดยสื่อขแมร์ไทม์ส (Khmer Times) ที่ได้รายงานวันจันทร์ (11) ว่า การเจรจากำลังจะเริ่มในไม่ช้า

กัมพูชาได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะมีการเริ่มต้นการเจรจาพื้นที่พิพาททางทะเลภายใต้ MoU ปี 2001 หลังคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิก (JTC) จะจัดตั้งให้เสร็จภายในกลางเดือนนี้

สื่อกัมพูชารายงานว่า เป็นการแถลงจาก นายกรัฐมนตรีไทย แพทองธาร ชินวัตร ที่เปิดเผยในวันศุกร์ (8) ว่า เป็นคนส่งสารไปยังนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน มาเน็ต ระหว่างทั้งสองเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง (the 8th Greater Mekong Subregion Economic Cooperation Program Summit) ที่คุนหมิงของจีน

และแพทองธารยืนยันว่า เชื่อว่าการตั้ง JTC จะจัดตั้งสำเร็จหลังเธอเดินทางกลับไทยในวันที่ 18 พ.ย.

“และหลังจากนั้น JTC จะเริ่มต้นเจรจา (ร่วมกับกัมพูชา)” ผู้นำไทยกล่าว

ตามการรายงานของสื่อเขมร นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันว่า MoU ไม่สามารถยกเลิกเองได้แต่ฝ่ายเดียวเพราะอาจจะนำมาสู่ “ผลลัพธ์ที่เป็นลบ”

เรดิโอฟรีเอเชียของสหรัฐฯ รายงานเมื่อต้นเดือนนี้ชี้ถึงปัญหาการอ้างสิทธิทางทะเลทับซ้อน (OAC) ว่า บริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ไทยที่ไม่เปิดเผยชื่อในรายงานปี 2023 ว่าการเจรจา OAC นั้นเป็นเหมือนผู้ไม่มีโอกาสชนะตั้งแต่เริ่มต้น เว้นแต่ฝ่ายกัมพูชาจะยอมถอนการอ้างสิทธิครอบครองบางส่วนของเกาะกูด”

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไทย พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ เห็นด้วยที่ว่า หากฝ่ายกัมพูชายอมยุติการอ้างสิทธิถือครองเกาะจะช่วยคลายความสงสัยจากฝั่งไทย

“หากว่ากัมพูชาจะเลิกอ้างครอบครองเกาะกูด การเจรจาจะง่ายขึ้น จะมีการต่อต้านน้อยลง” พล.ท.นันทเดช ให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชีย

ซึ่งปัญหาการต่างประเทศของไทยนี้ สถาบันวิจัยชื่อดังออสเตรเลียที่มีฐานอยู่ในเมืองซิดนีย์ สถาบันโลวี (Lowy Institute) ออกมาชี้ในวันพุธ (13) ว่า นโยบายต่างประเทศของไทยอยู่ในแดนสนธยาที่ทั้งสับสนและไร้หลักการ และดูได้จากปัญหาการเมืองภายในประเทศ โดยเป็นการวิเคราะห์ด้านการต่างประเทศเน้นไปที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ในรายงานกล่าวว่า ความอ่อนแอของผู้นำคนปัจจุบันนั้นคือ แพทองธาร ชินวัตร นั้นมาจากการที่เธอเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมืองไร้ประสบการณ์ และได้รับแต่งตั้งจากสาเหตุที่เป็นนอมินีของพ่ออดีตนายกรัฐมนตรีไทย ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลนี้เกิดขึ้นมาได้เป็นเพราะมาจากการจับมือกันอย่างแทบไม่น่าเชื่อระหว่างทักษิณ และอดีตศัตรูภายในกองทัพ

สถาบันโลวีย์วิเคราะห์ว่า การเคลื่อนไหวนโยบายการต่างประเทศของแพทองธารนั้นไม่ดูเหมือนมียุทธศาสตร์ พบว่าผู้นำหญิงของไทยเข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่กรุงโดฮา กาตาร์ เป็นเพียงเพราะความริเริ่มนี้เกิดมาจากพ่อของเธอเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกฯ ในปี 2002 แทนที่จะไปร่วมการประชุมใหญ่สหประชาชาติที่เมืองนิวยอร์ก ซิตี ที่มีผู้นำจากทั่วโลกเข้าร่วม

และแทนที่จะให้ความสนใจต่อปัญหานโยบายต่างประเทศในโลกความเป็นจริงที่มีความสับสนวุ่นวาย สงคราม และความขัดแย้ง พบว่าแพทองธารประกาศให้ไทยเดินหน้า “ซอฟต์ เพาเวอร์” แทนที่จะให้ความสนใจปัญหาต่างประเทศที่แท้จริง เป็นต้นว่ามีสุญญากาศทางอำนาจใกล้ไทย โดยเฉพาะที่พม่าซึ่งกำลังเกิดสงครามกลางเมือง

ธิงแทงก์ชื่อดังออสเตรเลีย ชี้ว่า “ซอฟต์ เพาเวอร์” ไม่สามารถทดแทนนโยบายการต่างประเทศที่แท้จริงได้ แต่เป็นแค่การสร้างแบรนด์ไทยแลนด์ในระดับนานาชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น

สำหรับปัญหาวิกฤตพม่านั้น พบว่าไทยยังคงเดินตามสูตรเดิมไม่เปลี่ยนมาตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คงความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลรัฐประหารพม่า ขณะที่ฝ่ายการเมืองหัวก้าวหน้าของไทยเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับความท้าทายการไหลเข้าของผู้อพยพด้วยการ ให้ยอมรับทางกฎหมายและปกป้องการหาประโยชน์จากผู้ลี้ภัยพม่าเหล่านั้น

สถาบันโลวีกล่าวว่า ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็นอดีตทูตเก่าแต่ไม่ได้ดำเนินตามเส้นทางตามธรรมเนียมกระทรวงบัวแก้วเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง แต่เป็นการที่ได้ตำแหน่งนี้มาเพราะเคยทำงานใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณมาก่อน

โดยสื่อไทยภาคภาษาอังกฤษรายงานวันที่ 26 ต.ค.ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ มาริษ เป็นตัวแทนไทยเข้าร่วมการประชุม BRICS ที่รัสเซียและได้รับการชื่นชมจากประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน และรวมถึงอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติว่า มีความพยายามที่ดีในการร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเขาเปิดเผยว่าเป็นการเดินเข้ามาทักจากทั้งปูติน และกูเตร์เรส

ตามการรายงาน รัฐมนตรีต่างประเทศไทยเปิดเผยว่า นโยบายต่างประเทศภายใต้แพทองธาร ชินวัตรนี้ ไทยจะเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์แบบครอบคลุมและสร้างความสมดุลภายในประชาคมโลก เพื่อทำให้มั่นใจว่าไทยจะเป็นเพื่อนต่อทุกประเทศโดยที่ไม่เลือกฝ่าย

ธิงแทงก์ออสเตรเลียกล่าวว่า นักการทูตไทยยังคงอยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถมากที่สุดในระดับภูมิภาคและอีกทั้งไทยจำเป็นต้องใช้อิทธิพลอย่างเด็ดขาดต่อประเด็นที่มีความวิตกภายในภูมิภาคและคงจะช่วยไม่ได้มากนักหากการเมืองไทยยังไม่นิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น