นักโทษชาวอิหร่านวัย 26 ปี รายหนึ่งถูกประหารชีวิตด้วยวิธีแขวนคอเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.) หลังจากครั้งแรกเขารอดชีวิตมาได้ เนื่องจากการประหารถูกสั่ง “ระงับ” หลังผ่านไปไม่ถึงครึ่งนาที
Iran Human Rights (IHR) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโอในนอร์เวย์ที่เฝ้าติดตามการประหารชีวิตในอิหร่าน ระบุว่า อะหมัด อาลีซาเดห์ ถูกจับเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2018 ในข้อหาฆ่าคนตาย ซึ่งตัวเขาเองปฏิเสธ แต่ยังคงถูกศาลสั่งประหารชีวิต
เขาถูกส่งตัวไปยังลานประหารครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่เรือนจำเกเซลเฮซาร์ (Ghezel Hesar) ในเมืองคาราจชานกรุงเตหะราน ทว่าหลังถูกแขวนคอไปได้เพียง 28 วินาที ครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ร้องตะโกนขึ้นว่า “อภัย” (forgiveness) ทำให้เจ้าหน้าที่เรือนจำนำร่างที่สิ้นสติของเขาออกจากบ่วงประหาร และทำการปั๊มหัวใจจนกระทั่งฟื้นกลับมาได้ จากนั้นการประหารก็ได้ถูกระงับไป
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ของอิหร่าน ครอบครัวผู้เสียชีวิตสามารถเรียกร้อง “เงินเลือด” (blood money) เพื่อแลกกับการไว้ชีวิตผู้กระทำผิด ทว่าในหลายๆ กรณี ครอบครัวผู้ก่อเหตุก็ไม่มีเงินพอที่จะจ่าย ซึ่งทำให้การประหารชีวิตต้องดำเนินต่อไป ตามข้อมูลจาก IHR
สำหรับกรณีของ อาลีซาเดห์ แม้จะรอดจากลานประหารมาได้แล้วครั้งหนึ่ง ทว่าโทษประหารยังคงติดตัวอยู่ ตราบใดที่เขายังไม่สามารถทำข้อตกลงจ่ายเงินเลือดให้กับครอบครัวผู้ตาย
IHR ระบุว่า อาลีซาเดห์ ได้ถูกประหารชีวิตเป็นครั้งที่ 2 ที่เรือนจำเกเซลเฮซาร์เมื่อวันพุธ (13) ที่ผ่านมา
“อะหมัด อาลีซาเดห์ ซึ่งเป็นนักศึกษาที่มีพรสวรรค์ ถูกแขวนคออีกเป็นครั้งที่ 2 ในข้อหาฆ่าคนตาย ซึ่งเขายืนกรานปฏิเสธมาตลอด แต่ถูกบังคับให้สารภาพด้วยการทรมาน” มะห์มูดอามิรี-โมกัดดัม ผู้อำนวยการ IHR ระบุ พร้อมทั้งประณาม “เครื่องจักรประหารของระบอบอิหร่าน”
นักเคลื่อนไหวหลายคนกล่าวหาอิหร่านว่าใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดเหตุการณ์ประท้วงรุนแรงทั่วประเทศเมื่อช่วงปี 2022-2023 ซึ่งสั่นคลอนฐานอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองทางศาสนา
ปี 2024 ถือเป็นปีที่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นในอิหร่านมากที่สุด โดยเฉพาะเดือน ต.ค. ซึ่งมีนักโทษถูกประหารอย่างน้อย 166 คน นับเป็นตัวเลขรายเดือนสูงสุดตั้งแต่ IHR เริ่มจดบันทึกสถิติในปี 2007
นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ระบุว่า อิหร่านประหารชีวิตนักโทษปีหนึ่งๆ มากกว่าทุกประเทศในโลก ยกเว้นเพียง “จีน” ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้
ที่มา : เอเอฟพี