(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Rubio brings China Realism to the State Department
by David P Goldman
12/11/2024
วุฒิสมาชิกมาร์โก รูบิโอ มีภาพของความเป็นเหยี่ยวดุดันมุ่งเล่นงานจีน แต่ความรู้อันลึกซึ้งของเขาเกี่ยวกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน ก็อาจถูกใช้สำหรับการจัดวางเวทีเพื่อการต่อรองครั้งยิ่งใหญ่ แบบที่เกิดขึ้นในสมัยนิกสันเดินทางไปเยือนปักกิ่ง
มาร์โก รูบิโอ จะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนต่อไปในคณะบริหารทรัมป์ชุดที่ 2 ตามรายงานข่าวของหลายๆ สื่อ
วุฒิสมาชิกอาวุโสจากรัฐฟลอริดาผู้นี้ ถูกแนะนำตัวในฐานะที่เป็นสายเหยี่ยวในเรื่องจีนผู้ส่งเสียงความคิดเห็นของตนอย่างเอะอะดังสนั่น ซึ่งก็ทำนองเดียวกับพรรครีพับลิกันของเขาโดยภาพรวมนั่นเอง ทว่ามีจุดที่พิเศษโดดเด่นอย่างสำคัญอยู่จุดหนึ่ง กล่าวคือ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รูบิโอได้เผยแพร่รายงานความยาว 60 หน้าฉบับหนึ่งที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “The World China Made” (โลกที่จีนสร้างขึ้นมา) โดยมีการวิเคราะห์ที่รอบด้านและผ่านการลงแรงวิจัยอย่างพากเพียร เกี่ยวกับความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน
(อ่านรายงานฉบับนี้ได้ที่ https://www.rubio.senate.gov/wp-content/uploads/2024/09/The-World-China-Made.pdf)
มีคอมเมนเตเตอร์บางรายคาดเดากันแล้วว่า การคัดเลือกเหยี่ยวด้านจีนขนานแท้แน่นอนอย่างรูบิโอ มาดำรงตำแหน่งนี้ อาจจะเป็นการตระเตรียมสำหรับการต่อรองครั้งยิ่งใหญ่กับปักกิ่ง ทำนองเดียวกับการเดินทางไปเยือนจีนในปี 1972 ของ (ประธานาธิบดีริชาร์ด) นิกสัน
นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยงชนิดเชื่อถือได้อย่าง นิกสัน นั่นแหละที่สามารถเจรจาต่อรองทำข้อตกลงกับจีนโดยไม่ถูกกล่าวหาว่ากำลังขายชาติ และ รูบิโอ เมื่อขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว ย่อมสามารถกระทำซ้ำรอยได้ในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้ตามความคิดเห็นของพวกที่มีทัศนะในแนวทางนี้ อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในรายงานชิ้นดังกล่าวของ รูบิโอ ย่อมเป็นการป่าวประกาศเนื้อหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยที่ไม่ได้เป็นการมุ่งคาดเดายุทธศาสตร์ในการเจรจากับจีนของประธานาธิบดีผู้ที่กำลังจะเข้าดำรงตำแหน่งในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด
ขอแจ้งให้ทราบกันอย่างชัดเจนเต็มที่ตรงนี้ก่อนเลย: รายงานของ รูบิโอ ชิ้นนี้มีการอ้างอิง เอเชียไทมส์ และโดยเฉพาะข้อเขียนของผู้เขียนรายนี้ (เดวิด พี โกลด์แมน) โดยรวมถึงรายงานการวิเคราะห์แบบเจาะทะลวงลึกก่อนใครของเราเกี่ยวกับเรื่องที่จีนประสบความสำเร็จในการส่งออกไปยังซีกโลกใต้ (Global South) ด้วยการเข้าไปสร้างโรงงานต่างๆ ในประเทศที่สาม จีนจึงกำลังหลบเล็ดรอดมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรทั้งของ ทรัมป์ และของ ไบเดน โดยการสร้างห่วงโซ่อุปทานสำหรับให้ เวียดนาม, เม็กซิโก, อินเดีย, และประเทศอื่นๆ ส่งออกเข้าไปในสหรัฐฯแทนที่
ในบรรดาเหยี่ยวแข็งกร้าวใส่จีนของวอชิงตันนั้น มีเส้นเด่นสว่างสดใสที่จำแนกแบ่งแยกพวกซึ่งมีแนวทางความคิดแบบสัจนิยม (realist) นั่นคือยึดมั่นกับสภาพความเป็นจริง ออกจากพวกที่มีแนวทางความคิดแบบอุดมคติเพ้อฝัน (Utopian) โดยที่พวกแนวทางอนุรักษนิยมใหม่ (Neo-conservative) อย่างเช่น แดน บลูเมนธอล (Dan Blumenthal), พวกนักประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นที่นิยมชมชื่นของผู้คนจำนวนมากอย่าง กอร์ดอน ชาง (Gordon Chang) และ ปีเตอร์ เซฮัน (Peter Zeihan), ตลอดจนพวกที่มีศรัทธาเชื่อถือจริงๆ (true believer) อย่างอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ ไมเคิล พอมเพโอ (Michael Pompeo) ต่างก็เป็นพวกซึ่งเชื่อว่าจีนกำลังใกล้ที่จะพังทลายแล้ว และสหรัฐฯควรเร่งรัดให้การล้มครืนนี้เกิดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการประจันหน้ากับจีนทั้งในทางการทหารและในทางเศรษฐกิจ
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แดน บลูเมนธอลได้ที่ https://lawliberty.org/book-review/why-china-is-anti-fragile/)
กระทั่งมีเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของคณะบริหารทรัมป์ชุดแรก เคยบอกกับผู้เขียนคนนี้เมื่อปี 2018 ว่า ทรัมป์ที่ยังคงประธานาธิบดีอยู่ในเวลานั้น กระทำผิดพลาดเสียแล้ว จากการไปทำข้อตกลงกับ แซดทีอี (ZTE) บริษัทอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมใหญ่อันดับ 2 ของจีน เขาถึงกับกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ถ้าหากสหรัฐฯปิดตายทำให้บริษัทจีนรายนี้ล้มไปเลยในตอนนั้น ฝูงม็อบของพวกวิศวกรนายช่างที่ต้องกลายเป็นผู้ว่างงาน ก็จะต้องออกมาเดินขบวนในปักกิ่งและโค่นล้ม สี จิ้นผิง ไปแล้ว
แต่สายเหยี่ยวที่อยู่อีกฟากหนึ่งคือพวกสัจนิยม ซึ่งอาจจะเกลียดชังจีน และกล่าวหาจีนว่ามีพฤติกรรมอันเลวร้าย กระนั้นพวกเขาก็ยอมรับด้วยว่า จีนประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในอุตสาหกรรมไฮเทคทั้งภายในประเทศและในการค้าระดับโลก รูบิโอ เป็นคนที่รู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ดีที่สุดในบรรดานักสัจนิยมทั้งหลาย และเขาได้กล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับวิสัยทัศน์แบบอุดมคติเพ้อฝันเอาไว้ในบทสรุปของรายงานชิ้นดังกล่าวข้างต้นของเขา ดังนี้:
การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนมีการแกว่งไกวเหวี่ยงตัวอย่างรุนแรงและแตกต่างกันมากในระหว่างพวกอยู่สุดโต่งของ 2 ข้าง ในด้านหนึ่ง เศรษฐกิจของจีนมักถูกวาดภาพให้เห็นว่ากำลังประสบความยากลำบากอย่างล้ำลึก กระทั่งบางทีกำลังอยู่บนขอบเหวของการพังทลายด้วยซ้ำไป เรื่องราวซึ่งพูดกันในเส้นทางนี้มุ่งเน้นหนักเรื่องที่จีนมีภาระหนี้สินสูงมาก, อัตราเติบโตกำลังชะลอตัว, ภาคอสังหาริมทรัพย์ประสบความลำบากเหลือเกิน, และประชากรกำลังสูงวัยขึ้นเรื่อยๆ –เหล่านี้ทั้งหมดคือปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็ได้กล่าวย้ำเวอร์ชั่นหนึ่งของข้อโต้แย้งแนวทางนี้เอาไว้ ระหว่างให้สัมภาษณ์นิตยสารไทม์ (Time magazine) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อเขาเน้นว่าเศรษฐกิจของจีนกำลัง ‘อยู่ตรงขอบเหว’ ...
มันอาจจะอยู่ในกรณีที่ว่า โมเดลการพัฒนาที่มุ่งเน้นการส่งออกและการผลิตทางอุตสาหกรรมของจีนนั้น ประสบความสำเร็จเพียงพอที่จะขับดันจีนขึ้นไปแตะพรมแดนทางเทคโนโลยีได้ภายในระยะสั้น ทว่าไม่ประสบความสำเร็จเพียงพอที่จะช่วยประเทศของพวกเขาให้สามารถวิ่งหนีจากปัญหาด้านโครงสร้างต่างๆ ของพวกเขาในระยะยาวได้ แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องเล่าในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนต่างๆ และฝ่ายต่างๆ จำนวนมากในวอชิงตันชื่นชอบปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมันทำให้เราทบทวนนึกย้อนไปถึงชัยชนะของเราในยุคสงครามเย็น
ในตอนนั้น สหรัฐฯที่มีทั้งนวัตกรรม, พลวัต, และความเป็นทุนนิยม สามารถมีชัยชนะเหนือศัตรู (หมายถึงสหภาพโซเวียต -ผู้แปล) ซึ่งมีชนชั้นทางการเมืองที่บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่และเน้นการปกครองโดยคนชรา และใช้โมเดลทางเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ซึ่งไร้ความสามารถในการบริหารจัดการกับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสารสนเทศ มันมีความโน้มเอียงสำหรับเราที่จะเชื่อว่า ชัยชนะทำนองเดียวกันก็เป็นสิ่งที่แน่นอนชัดเจนแล้วในเวลานี้เนื่องจากประเทศชาติของเราได้เคยประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างมากมายเหลือเกินในอดีต พวกเราชนะ พวกเขาพ่ายแพ้ ทว่าความเชื่อในความสำเร็จของตนเองจนถึงขนาดคิดว่าไม่มีทางที่จะพ่ายแพ้ได้ มันคือองค์ประกอบหนึ่งที่จะไปสู่ภาวะอิ่มเอมนิ่งนอนใจ อีกทั้งความเชื่อเช่นนี้ยังกำลังเข้ากันไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ กับหลักฐานที่แบอยู่ตรงข้างหน้าเรา
ถ้าหากรายงานฉบับนี้จะสามารถส่งต่อข้อความใดๆ ได้แล้ว ขอให้ข้อความดังกล่าวออกมาว่า สหรัฐฯนั้นไม่สามารถที่จะรู้สึกอิ่มเอมนิ่งนอนใจกับจีนคอมมิวนิสต์ได้เลย พวกนักวิชาการและพวกนักเศรษฐศาสตร์ของหน่วยงานคลังสมองทั้งหลายอาจจะฝากความหวังเอาไว้กับเรื่องที่ว่าจีนกำลังจะพังครืนแล้ว ทว่าปักกิ่งกำลังวางเดิมพันเอาไว้ทางอีกข้างหนึ่ง พวกเขาเชื่อว่าอุตสาหกรรมการผลิต, การส่งออก, และ “พลังการผลิตที่มีคุณภาพอย่างใหม่ๆ” คือกุญแจสำคัญสำหรับการอยู่รอดของระบอบปกครองของพวกเขา และ “การฟื้นฟูชาติจีนขึ้นมาใหม่อย่างยิ่งใหญ่” โดยแท้ พวกเขาเชื่อว่าเทคโนโลยีและการผลิตจะสามารถทำให้พวกเขาสงวนรักษาระบบคอมมิวนิสต์เอาไว้ได้ ขณะเดียวกับที่ก้าวขึ้นเป็นประเทศมั่งคั่งร่ำรวยประเทศหนึ่ง
เท่าที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการสาดส่องเส้นทางการพัฒนาทางเลือกสายนี้ให้เจิดจ้า แต่กระทั่งสมมุติว่าวันนี้คือจุดที่อำนาจของจีนขึ้นมาได้จนถึงระดับสูงสุดแล้ว แม้กระทั่งในฉากทัศน์ที่เป็นการมองโลกในแง่ดี (สำหรับสหรัฐฯ) ขนาดนี้แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะยังคงสามารถเสนอภัยคุกคามที่เป็นจริงและใหญ่โตในระดับตัดสินการดำรงคงอยู่ต่ออุตสาหกรรมอเมริกันและคนงานอเมริกันในระยะเวลาหลายๆ ปีข้างหน้านี้ และจีนคอมมิวนิสต์ก็จะยังเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามยิ่งกว่าศัตรูใดๆ ที่สหรัฐฯได้เคยเผชิญมาเท่าที่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะทรงจำเอาไว้ได้ มาถึงจุดนี้แล้ว ภาระในการพิสูจน์ก็สมควรที่จะตกอยู่กับพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งยืนกรานเรื่อยมาว่าโครงการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้น กำลังมืดมนใกล้ที่จะพังครืนแล้ว”
สำหรับจุดน่าสนใจจากรายงานฉบับนี้ของ รูบิโอ ที่สมควรหยิบยกขึ้นมาเน้นย้ำในที่นี้ มีอาทิเช่น:
*จีนนำหน้าทั่วโลกในเรื่องการติดตั้งหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม และในปี 2022 ได้ติดตั้งหุ่นยนต์ชนิดนี้เป็นจำนวนมากกว่าที่ติดตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรวมกันเสียอีก
*อัตราความหนาแน่นของการใช้หุ่นยนต์ของจีน แซงหน้าของสหรัฐฯไปแล้วในปี 2021 ถือเป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง เมื่อพิจารณาถึงขนาดของกำลังแรงงานทางอุตสาหกรรมการผลิตของจีน และระดับอัตราค่าจ้างแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับของเราเอง
*การผลิตทางอุตสาหกรรมแบบอัจฉริยะของจีน กลายเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ จากการที่จีนมีเครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคมระดับ 5จี ที่กว้างขวาง โดยประเกอบด้วยสถานีฐาน 5จี จำนวนมากกว่า 3.5 ล้านสถานี
*พวกกิจการจีนที่เติบโตขึ้นมาภายในประเทศ กำลังช่วยเหลือให้จีนลดการพึ่งพาอาศัยหุ่นยนต์นำเข้าและเครื่องจักรอุปกรณ์นำเข้า ถึงแม้การติดตั้งหุ่นยนต์อยู่ในระดับสูงลิ่วทำลายสถิติ แต่การนำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของจีนกลับลดต่ำลงในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องนี้สืบเนื่องจากพวกกิจการของจีนสามารถขยายธุรกิจด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยที่มีส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 35.5% ในปี 2022 สูงขึ้นมากจากระดับ 17.5% ของเมื่อ 1 ทศวรรษก่อน ฐานะเของจีนในตลาดเครื่องจักรอุปกรณ์ของโลกที่มีการแตกตัวแบ่งส่วนกันอย่างหนักนั้น ยิ่งเข้มแข็งกว่าภายในประเทศด้วยซ้ำไป โดยที่ในปี 2022 พวกผู้ผลิตจีนมีสัดส่วนอยู่เกือบๆ หนึ่งในสามของการผลิตทั่วโลก
*พวกบริษัทจีนกำลังจัดตั้งห่วงโซ่มูลค่าระดับทั่วโลกขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วยบรรดาโรงงานสลับซับซ้อนที่จะเปิดทางให้พวกเขาเข้าสู่ตลาดต่างประเทศทั้งหลาย และปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติทางด้านการส่งออกของพวกเขา
ข้อความที่ รูบิโอ ต้องการส่งออกมาก็คือว่า สหรัฐฯจำป็นต้องใช้ความพยายามอย่างเป็นพิเศษจึงจะยังสามารถอยู่นำหน้าจีนได้ และไม่ควรหลอกลวงตัวเองว่าเพียงแค่ด้วยการใช้ปากกาลงนามประกาศอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็จะสามารถดึงรั้งยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีรายนี้เอาไว้ได้
บทสรุปต่างๆ ทางด้านนโยบายการต่างประเทศที่จะเผยโฉมตัวเองออกมาบนความเข้มแข็งของการวิเคราะห์นี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะคาดการณ์กัน
เดวิด พี โกลด์แมน เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการของเอเชียไทมส์
หมายเหตุผู้แปล
ประวัติย่อ มาร์โก รูบิโอ
มาร์โก แอนโตนิโอ รูบิโอ (เกิดวันที่ 28 พฤษภาคม 1971) เป็นนักการเมืองและนักกฎหมายชาวอเมริกันซึ่งงดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากรัฐฟลอริดาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2011 เขาเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน และก่อนหน้าก้าวสู่เวทีการเมืองระดับชาติ เคยเป็นสมาชิกรัฐสภาท้องถิ่นรัฐฟลอริดา โดยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรรัฐฟลอริดา จากปี 2006-2008 รูบิโอเคยเสนอตัวลงแข่งขันเป็นผู้สมัครของพรรครีพับลิกันเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 โดยชนะการแข่งขันรอบไพรมารีในรัฐมินนิโซตา, เขตดิสตริกออฟโคลัมเบีย, และดินแดนเปอร์โตริโก แต่ในที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ โดยผู้ที่ชนะได้เป็นตัวแทนรีพับลิกันในครั้งนั้นคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคว้าชัยในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีด้วย
รูบิโอเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายคิวบา โดยที่บิดามารดาของเขาเป็นชาวคิวบาที่อพยพมาจากคิวบามาสหรัฐฯในปี 1956 ในช่วงระบอบปกครองของฟุลเกนซิโอ บาติสตา สองปีครึ่งก่อนหน้า ฟิเดล คาสโตร
ขึ้นสู่อำนาจภายหลังการปฏิวัติคิวบา เขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยชุมชนซานตาเฟ ในเมืองเกนสวิลล์ รัฐฟลอริดา จากนั้นจึงมาเรียนที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา จนได้ปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์ในปี 1993 และสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาทางกฎหมายJuris Doctor จากโรงเรียนกฎหมายมหวิทยาลัยไมอามีในปี 1996
ถึงแม้ระหว่างการเลือกตั้งไพรมารีเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2016 เขาเคยวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ แต่ รูบิโอ ก็ประกาศรับรองสนับสนุนทรัมป์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของปี 2016 และจากนั้นส่วนใหญ่แล้วก็ให้ความสนับสนุนการทำหน้าที่ประธานาธิบดีของเขา สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2024 รูบิโอ ประกาศรับรองสนับสนุนทรัมป์ตั้งแต่เนิ่นๆ นั่นคือตั้งแต่ไม่กี่วันก่อนหน้าการเลือกตั้งเบื้องต้นเปิดฉากขึ้น ด้วย ไอโอวา คอคัส ในวันที่ 15 มกราคม 2024
(ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Marco_Rubio)